มองอเมริกันสไตล์ ในภาพยนตร์ ‘Forrest Gump’ ที่ผ่านมาแล้ว 30 ปี

มองอเมริกันสไตล์ ในภาพยนตร์ ‘Forrest Gump’ ที่ผ่านมาแล้ว 30 ปี

“Forrest Gump” ถือเป็นภาพยนตร์ในดวงใจใครหลายคนที่แม้จะผ่านมาถึง 30 ปีแล้ว แต่ก็ยังได้รับการพูดถึงอยู่ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และแฟชั่น แบบอเมริกันสไตล์ ที่ถูกนำเสนอผ่าน “ทอม แฮงก์” ในบทบาทชายผู้ใสซื่อและจริงใจ

KEY

POINTS

  • Forrest Gump ภาพยนตร์ชื่อดังที่ปัจจุบันมีอายุครบ 30 ปีแล้ว นับจากปีที่เข้าฉาย (1994) แต่เรื่องราวของชายผู้ใสซื่อยังคงตราตรึงใจใครหลายคนมาจนถึงวันนี้
  • ส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้โดดเด่นก็คือการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของอเมริกาล้อเลียนไปกับไทม์ไลน์ในหนัง
  • รองเท้าไนกี้คอเตซและเสื้อ Have a nice day กลายเป็นแฟชั่นที่เป็นภาพจำของภาพยนตร์จนถึงปัจจุบัน

Life is like a box of chocolates. You never know what you're gonna get.

ชีวิตก็เหมือนกับช็อกโกแลต เราไม่มีทางรู้หรอกว่าจะหยิบได้รสอะไร

ถือเป็นประโยคคลาสสิกสุดคุ้นหูจากโลกภาพยนตร์ที่เชื่อว่ายังคงเป็นที่รู้จักมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าตัวภาพยนตร์อย่าง Forrest Gump (ฟอร์เรสท์ กัมพ์) หรือชื่อภาษาไทย “อัจฉริยะปัญญานิ่ม” จะออกฉายมาแล้วถึง 30 ปี แต่ประโยค (ที่บางคนก็เรียกว่าคำคม) หลายประโยคก็ยังคงตราตรึงใจผู้ชมทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่อยู่เสมอ ไม่ใช่แค่นั้นแต่ภาพยนตร์ยังสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของตัวละครหลัก “ฟอร์เรสท์ กัมพ์” ชายผู้มีไอคิวเพียง 75 แต่ก็สามารถผ่านเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตมาได้อย่างน่าเหลือเชื่อด้วยความจริงใจตรงไปตรงมาที่เขามีต่อผู้คนรอบข้าง

มองอเมริกันสไตล์ ในภาพยนตร์ ‘Forrest Gump’ ที่ผ่านมาแล้ว 30 ปี

ใบปิดภาพยนตร์ Forrest Gump ที่เข้าฉายเมื่อ 6 ก.ค. 1994

ไม่ใช่แค่นั้นแต่ภาพยนตร์ยังฉายให้เห็นเหตุการณ์สำคัญและบุคคลในประวัติศาสตร์ของอเมริกาที่มีตัวตนอยู่จริงอีกด้วย (ผ่านการตัดต่อและเสริมเติมแต่งความเวอร์วัง) ไม่ว่าจะเป็น สงครามเวียดนาม, การอนุญาตให้คนผิวดำเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก, การทูตปิงปองช่วงหลังสงครามเย็น ไปจนถึง “คดีวอเตอร์เกต” การทุจริตครั้งยิ่งใหญ่ของอเมริกาที่ส่งผลให้ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์ของอเมริกาที่ต้องยอมลาออกจากตำแหน่ง

นอกจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของอเมริกาแล้ว “ฟอร์เรสท์ กัมพ์” ยังเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอวัฒนธรรมและ Pop Culture (วัฒนธรรมร่วมสมัย) อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล, การวิ่งมาราธอนหรือแฟชั่นของตัวฟอร์เรสท์เองที่ทำให้รองเท้าไนกี้คอเตซสีขาว Swoosh แดง (สี OG หรือสีต้นฉบับ) ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนติด 1 ใน 10 รองเท้าสนีกเกอร์สุดปังจากโลกภาพยนตร์ รวมถึงเสื้อเชิ้ตลายสก๊อตสีฟ้าขาวที่เขาใส่ตั้งแต่เด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่

มองอเมริกันสไตล์ ในภาพยนตร์ ‘Forrest Gump’ ที่ผ่านมาแล้ว 30 ปี

ฟอร์เรสท์ กัมพ์ ชายผู้ใช้ชีวิตอย่างตรงไปตรงมาและมองโลกในแง่บวก

อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าฟอร์เรสท์เกิดมาพร้อมกับไอคิวที่ต่ำกว่ามาตรฐานและต้องอาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงเดี่ยวในบ้านที่แอละแบมารัฐทางตอนใต้ของอเมริกา ที่ในอดีตเป็นหนึ่งในรัฐที่เคยสนับสนุนการค้าทาส แม้สติปัญญาของเขาจะไม่ค่อยดีเท่าไรนักแต่เขาก็มีเพื่อนสนิทในละแวกบ้านคนหนึ่งที่ชื่อ “เจนนี่” ที่ต่อมาก็กลายเป็นรักแรกและรักเดียวของเขา โดยในตอนที่ยังเป็นเด็กพวกเขาก็มักจะอยู่เคียงกันคอยช่วยเหลือกันเสมอ และเป็นที่มาของประโยค “Run Forrest. Run !” ที่เจนนี่บอกให้เขาวิ่งหนีเด็กเกเรที่มากลั่นแกล้งแบบสุดชีวิต

มองอเมริกันสไตล์ ในภาพยนตร์ ‘Forrest Gump’ ที่ผ่านมาแล้ว 30 ปี

สำหรับแม่ของฟอร์เรสท์แม้ว่าจะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวแต่เธอก็ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเพื่อดูแลและให้ความรักกับเขาจนไม่ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีอะไรที่ขาดหายไป และเธอยังเปิดบ้านให้เป็นที่พักสำหรับนักเดินทางอีกด้วย ทำให้ฟอร์เรสได้เจอกับผู้คนมากหน้าหลายตาแม้แต่ เอลวิส เพรสลีย์ ราชาเพลงร็อกชาวอเมริกันที่เป็นตำนานจนถึงวันนี้

เมื่อฟอร์เรสท์เติบโตขึ้นเขาก็ใช้ชีวิตเหมือนกับคนปกติทั่วไปในยุคนั้น (ช่วงยุค 60’s) ไม่ว่าจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เกณฑ์ทหาร หรือเริ่มต้นทำงาน แม้ว่าเขาจะมีเพื่อนมีคนรู้จักมากมายและเดินทางไปหลายที่ในอเมริกาแต่เขาก็ยังคงนำคำสอนของแม่มาปรับใช้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นประโยคที่แม่ของเขาเคยพูดว่า “Don’t ever let anybody tell you they’re better than you.” ที่หมายความว่า อย่าปล่อยให้ใครเที่ยวมาบอกว่าพวกเขาดีกว่าลูกเด็ดขาด แม้ว่าจะเป็นประโยคที่บางคนมองว่าแอบใจร้ายกับคนอื่นไปสักหน่อยแต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ฟอร์เรสท์มีความมั่นใจในตัวเองและไม่นำคำพูดเชิงลบของคนอื่นมาคิดมากจนรู้สึกแย่ หรือประโยคที่ว่า “Momma always said you’ve got to put the past behind you before you can move on.” ซึ่งเขานำมาพูดซ้ำว่า แม่มักจะบอกเสมอว่าเราจำเป็นจะต้องทิ้งอดีตเอาไว้เบื้องหลังก่อนเพื่อให้เราสามารถก้าวไปข้างหน้าได้

สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ฟอร์เรสท์มองโลกไปตามความเป็นจริงและไม่ได้คิดร้ายกับใคร ที่สำคัญเขายังโลกในแง่ดี ตรงไปตรงมา และเป็นมิตรกับเพื่อนร่วมโลกเสมอ ไม่ว่าจะเป็นผู้หมวดแดนสหายร่วมรบจากสงครามเวียดนามที่ต้องสูญเสียขาไปจนหมดกำลังใจจะใช้ชีวิตต่อที่เมื่อฟอร์เรสท์กลับมาเจอเขาอีกครั้งก็สามารถพาเขากลับมาสู่โลกความเป็นจริงได้อีกครั้ง หรือเจนนี่ที่หนีออกจากบ้านไปเพราะทนถูกพ่อแท้ๆ ทำร้ายต่อไปไม่ไหว และเข้าร่วมกับกลุ่มฮิปปีที่พวกเขากลับมาเจอกันอีกครั้ง

การเล่าประวัติศาสตร์ชาติแบบล้อเลียนผ่านภาพยนตร์

แน่นอนว่าสิ่งที่เป็นภาพจำของภาพยนตร์ “ฟอร์เรสท์ กัมพ์” คือการนำภาพเหตุการณ์และบุคคลในประวัติศาสตร์ของอเมริกามาเล่าเรื่องซ้อนเข้าไปอีกที เริ่มตั้งแต่บรรพบุรุษของฟอร์เรสท์ที่มีชื่อว่า “นาธาน เบดฟอร์ด ฟอร์เรสต์” ซึ่งเป็นคนที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์แต่ก็ไม่ใช่คนดีเท่าไรนัก เพราะเคยเป็นผู้นำสังหารหมู่คนผิวดำ สนับสนุนการมีทาส และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม คู คลักซ์ แคลน (KKK) กลุ่มของเหล่าคนขาวที่ต่อต้านคนผิวดำแบบสุดโต่ง

ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าบ้านของฟอร์เรสท์อยู่ที่ “รัฐแอละแบมา” และที่นั่นมีการเหยียดผิวค่อนข้างรุนแรง แต่ในปีที่เขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็เป็นช่วงแรกที่ทางภาครัฐอนุญาตให้คนผิวดำเข้ามาเรียนรวมกับคนผิวขาวได้ ทำให้กลุ่มนักศึกษาผิวดำถูกต่อต้านและกลั่นแกล้งอย่างหนัก แต่ขณะที่ฟอร์เรสท์กำลังเดินเข้าไปเรียนเขาเจอนักศึกษาหญิงผิวดำคนหนึ่งทำหนังสือตก แต่เขาก็ก้มลงไปหยิบให้โดยไม่มีท่าทีรังเกียจ ต่อมาเมื่อเขาไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม (ซึ่งก็เป็นเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์) เขาก็มีเพื่อนทหารเป็นคนผิวดำเช่นกัน

หลังได้รับบาดเจ็บจากการรบและต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลฟอร์เรสท์ก็ค้นพบพรรสวรรค์ใหม่นั่นก็คือ “การตีปิงปอง” ซึ่งโดดเด่นจนไปเข้าตารัฐบาลและได้เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งที่ประเทศจีนในยุคของนายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล เรียกว่า “การทูตปิงปอง” ที่เป็นวิธีหนึ่งในการลดความตึงเครียดหลังสงครามเย็น

มองอเมริกันสไตล์ ในภาพยนตร์ ‘Forrest Gump’ ที่ผ่านมาแล้ว 30 ปี

และที่ขาดไปไม่ได้ก็คือ “ประธานาธิบดี” คนดังของอเมริกาทั้ง 3 คน ได้แก่ จอห์น เอฟ. เคนเนดี, ลินดอน บี. จอห์นสัน และ ริชาร์ด นิกสัน ซึ่งแน่นอนว่าทุกฉากเป็นการตัดต่อเอาหน้าเขาใส่เข้าไป

มองอเมริกันสไตล์ ในภาพยนตร์ ‘Forrest Gump’ ที่ผ่านมาแล้ว 30 ปี มองอเมริกันสไตล์ ในภาพยนตร์ ‘Forrest Gump’ ที่ผ่านมาแล้ว 30 ปี

อีกเหตุการณ์สำคัญที่เรียกได้ว่าสะเทือนไปทั้งอเมริกาก็คือ คดีวอเตอร์เกต ซึ่งเป็นการออกมาแฉ ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน และคนใกล้ตัวว่าพวกเขาทำอะไรบางอย่างที่ขัดต่อกฎหมายเพื่อให้ตัวเองชนะการเลือกตั้ง ซึ่งจุดที่ทำให้พวกเขาถูกเปิดโปงเพราะว่ามีทีมงานเข้าไปติดตั้งเครื่องดักฟังในศูนย์รณรงค์หาเสียงของพรรคเดโมแครต และถูกตำรวจจับได้ แต่ในภาพยนตร์จะเห็นว่าเป็นช่วงที่ ฟอร์เรสท์ กำลังพักผ่อนอยู่ในโรงแรมแต่นอนไม่หลับเพราะตึกฝั่งตรงข้ามฉายไฟฉายไปมาอยู่ตลอดเวลา เขาจึงแจ้งพนักงานไปและเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ริชาร์ด นิกสัน จำใจต้องก้าวลงจากตำแหน่ง

ภาพยนตร์ที่ฉายให้เห็นวัฒนธรรมแบบอเมริกันที่ซ่อนอยู่

ฉากสุดตราตรึงที่สุดฉากหนึ่งก็คือฉากวิ่งมาราธอนข้ามรัฐอันยาวนานของฟอร์เรสท์ที่มีจุดเริ่มต้นจากหน้าบ้านของเขาเองและวิ่งไปเรื่อยๆ เพียงเพราะเขาต้องการจะวิ่ง จนกลายเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศมีสื่อให้ความสนใจสัมภาษณ์ รวมถึงยังมีผู้คนอีกมากมายเข้ามาร่วมวิ่งกับเขาด้วย แต่อยู่ๆ เขาก็หยุดวิ่งเพียงเพราะว่า “พอแล้ว” แต่การวิ่งของเขาก็มีผลอย่างมากกับสังคมอเมริกันในช่วงนั้นที่ทำให้ผู้คนเริ่มหันมาออกกำลังกายนอกบ้านมากขึ้น

มองอเมริกันสไตล์ ในภาพยนตร์ ‘Forrest Gump’ ที่ผ่านมาแล้ว 30 ปี

นอกจากนี้การวิ่งของเขายังมีแรงบันดาลใจมานักวิ่งตัวจริงที่วิ่งจากนิวเจอร์ซีย์ ไปยังซานฟรานซิสโกเพื่อหาทุนให้สมาคมรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งชื่อของเขาก็คือ ไมเคิล ฟิเกโรรา

ไม่ใช่แค่วิ่งมาราธอนอย่างเดียวแต่ในภาพยนตร์ยังฉายให้เห็นหนึ่งในกีฬาประจำชาติของชาวอเมริกันก็คือ “อเมริกันฟุตบอล” เพราะฟอร์เรสท์เป็นคนที่วิ่งเร็วมากทำให้ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเขาได้รับเลือกให้เข้าทีมอเมริกันฟุตบอลประจำมหาวิทยาลัยและเอาชนะคู่แข่งมาได้อย่างง่ายดายไร้รอยเปื้อนบนเสื้อผ้า

มองอเมริกันสไตล์ ในภาพยนตร์ ‘Forrest Gump’ ที่ผ่านมาแล้ว 30 ปี

นอกจากกีฬาแล้วแน่นอนว่า “ศิลปินดัง” ก็ถูกนำมาใส่ไว้ในภาพยนตร์เหมือนกัน คนแรกก็คือ “เอลวิส เพรสลีย์” ที่เคยมาพักที่บ้านเขาตอนที่เขายังเด็ก ในตอนนั้นเอลวิสยังไม่ใช่คนมีชื่อเสียงเขาเข้ากับ ด.ช. ฟอร์เรสท์ ได้เป็นอย่างดี แต่ในช่วงนั้นฟอร์เรสท์ยังต้องใส่เหล็กดามขาทำให้เวลาเอลวิสเล่นกีตาร์ให้ฟังเขาจึงเต้นท่าแปลกๆ แต่หลังจากนั้นเอลวิสก็ใช้ท่าดังกล่าวมาเต้นในเพลงเดบิวต์ของเขา “That’s all right” ในปี 1954

คนต่อมาก็คือ “จอห์น เลนนอน” แห่งวงเดอะบีเทิล สี่เต่าทอง วงดนตรีที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกจนถึงปัจจุบันจากเกาะอังกฤษ โดยในภาพยนตร์เราจะเห็นฟอร์เรสท์นั่งอยู่ในรายการคู่กับจอห์นและมีพิธีกรคอยถามคำถาม และหลังจากนั้นคำตอบของฟอร์เรสท์ก็กลายส่วนหนึ่งของเพลงดังก้องโลก “Imagine”

มองอเมริกันสไตล์ ในภาพยนตร์ ‘Forrest Gump’ ที่ผ่านมาแล้ว 30 ปี

สุดท้ายนี้สิ่งที่เรียกได้ว่ากลายเป็นไอคอนของภาพยนตร์ก็คือรองเท้าที่เจนนี่ซื้อให้ฟอร์เรสท์ และหลังจากนั้นเขาก็ใส่มันตลอดในทุกช่วงชีวิตแม้ว่าสุดท้ายเจนนี่จะจากเขาไปก่อนด้วยโรคไวรัสตับอักเสบซีก็ตาม รองเท้ารุ่นดังกล่าวก็คือ “ไนกี้คอเตซ” ที่ได้รับความนิยมข้ามกาลเวลามาจนถึงปัจจุบันและเป็นรองเท้าหายากจนบางคนต้องยอมซื้อสินค้ารีเซลในราคาที่บวกเพิ่มสูงลิ่ว (ปัจจุบันรีสต๊อกแล้ว) รวมถึงเสื้อ Have a nice day ที่ขายดีเป็นเทท่าในช่วงนั้น และอีกแฟชั่นของฟอร์เรสท์จนกลายเป็นภาพจำของเขาก็คือเสื้อเชิ้ตลายสก๊อตสีฟ้าที่เขาสวมใส่ตั้งแต่เป็นเด็กจนเติบโตมาเป็นพ่อคน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่เรื่องราวเล็กๆ ในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของอเมริกาที่สะท้อนออกมาผ่านภาพยนตร์เท่านั้น และแม้ว่าเวลาจะผ่านมานานถึง 30 ปี แต่เรื่องราวและภาพจำต่างๆ รวมไปถึงแง่คิดแสนเรียบง่ายแต่มีความสำคัญที่ตัวภาพยนตร์ ผู้กำกับ และนักแสดงชื่อดังอย่าง “ทอม แฮงก์” ฝากไว้ก็ยังใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้

อ้างอิงข้อมูล : The Guardian และ Forbes

เครดิตภาพทั้งหมด : IMDb