การสื่อสารเรื่องก๊าซเรือนกระจก สำคัญต่อธุรกิจวิถียั่งยืน

การสื่อสารเรื่องก๊าซเรือนกระจก สำคัญต่อธุรกิจวิถียั่งยืน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งปรากฎการณ์โลกร้อนและโลกรวน ได้กลายเป็นประเด็นที่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียของธุรกิจให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน

ช่วงนี้ จะเป็นฤดูของการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นข้อมูลทางการเงินที่จะเผยแพร่อยู่ในรายงานประจำปี (Annual Report) เป็นหลัก และข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะเผยแพร่อยู่ในรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) เป็นหลัก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งปรากฎการณ์โลกร้อนและโลกรวน ได้กลายเป็นประเด็นที่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน ในแง่ที่ว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ลงทุน มีวิธีบริหารจัดการกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในส่วนที่องค์กรเป็นผู้ก่อผลกระทบนั้นมากน้อยเพียงใด และอย่างไร

โดยหนึ่งในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้ลงทุนมีการเรียกดูข้อมูล และเป็นเหมือนภาคบังคับที่องค์กรต้องเปิดเผย ได้แก่ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและโลกรวน

ในบทความนี้ จะมาขยายความถึงสิ่งที่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียของกิจการต้องการเพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจลงทุนหรือใช้กำหนดท่าทีต่อการร่วมงาน กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เป็นข้อมูลที่องค์กรต้องเปิดเผยในฐานะที่เป็นประเด็นสาระสำคัญ (Material Topics) ของกิจการ

กิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกขององค์กร สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ขอบเขต คือ กิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากการดำเนินงานขององค์กร (Direct Emissions) ในขอบเขตที่ 1 (Scope 1) กิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) ในขอบเขตที่ 2 (Scope 2) และกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (Other Indirect Emissions) ในขอบเขตที่ 3 (Scope 3)

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมภายในองค์กร ที่กิจการเป็นเจ้าของหรือควบคุมแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น อาทิ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้แบบอยู่กับที่ (Stationary Combustion) ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้แบบที่มีการเคลื่อนที่ (Mobile Combustion) ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการในอุตสาหกรรมจำเพาะ (เช่น ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า แอมโมเนีย) (Process Emissions) และก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการรั่วไหล (Fugitive Emissions)

การแสดงตัวเลขปริมาณก๊าซเรือนกระจกทางตรงที่กิจการปล่อย ควรจำแนกตามหน่วยธุรกิจ แหล่งดำเนินงาน ประเทศ ชนิดแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจก (แบบอยู่กับที่ แบบที่มีการเคลื่อนที่ กรณีที่เกิดจากกระบวนการผลิต กรณีที่เกิดจากการรั่วไหล) และชนิดกิจกรรม

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 2 เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้พลังงานที่มาจากแหล่งพลังงานทุติยภูมิ (Secondary Energy) ที่กิจการซื้อหรือจัดหามาจากแหล่งภายนอก การปล่อย “ทางอ้อม” ตามความหมายนี้ เป็นผลพวงมาจากความต้องการใช้พลังงานของกิจการ โดยอาศัยแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจกที่กิจการอื่นเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ควบคุม (เช่น ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า) 

กิจการหลายแห่ง มีตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 2 (ทางอ้อม) โดยการซื้อพลังงานไฟฟ้ามาใช้ ในปริมาณที่สูงกว่าตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 (ทางตรง) มาก และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลขก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้พลังงานไฟฟ้าและความร้อน สูงเป็นอันดับสามของโลก

การคำนวนตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 2 แนะนำให้ใช้เอกสารมาตรฐาน GHG Protocol Scope 2 Guidance สำหรับกิจการ โดยคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการใช้ตัวเลขข้อมูลการใช้พลังงานในกิจกรรม (Activity Data) คูณกับค่าตัวประกอบการปล่อย (Emission Factor)

ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2 ให้แสดงปริมาณเป็นค่าสัมบูรณ์ (Absolute) และรายงานในหน่วยตัน (หรือกิโลกรัม) ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่วนการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยการปรับบรรทัดฐาน (Normalize) ให้หารด้วยมูลค่าเพิ่มสุทธิ (ที่มีหน่วยเป็นบาท) ในรอบการรายงานเดียวกัน โดยมีหน่วยที่รายงานเป็น ตัน (หรือกิโลกรัม) ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อบาท

การที่ให้มีการคำนวณโดยปรับบรรทัดฐานให้มีหน่วยเป็นตัน (หรือกิโลกรัม) ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อบาท ก็เพื่อให้กิจการสามารถนำไปรายงานเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตัวชี้วัดที่ 9.4.1 ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยมูลค่าเพิ่ม ตามเป้าหมายที่ 9 (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน) ได้ด้วย

ทั้งนี้ กิจการควรแสดงความเปลี่ยนแปลงหรือความคืบหน้าในการดำเนินการตามตัวชี้วัด ด้วยการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในรอบการรายงานปัจจุบัน (t) เทียบกับผลการดำเนินงานในรอบการรายงานก่อนหน้า (t-1) เพื่อเฝ้าติดตามระดับความก้าวหน้าในการดำเนินงานของกิจการระหว่างรอบการรายงาน

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 3 เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ นอกเหนือจากที่ระบุในขอบเขตที่ 1 และ 2 ซึ่งสามารถตรวจวัดปริมาณก๊าซได้ โดยการเปิดเผยข้อมูลในขอบเขตที่ 3 ขึ้นอยู่กับองค์กร ไม่ถือเป็นข้อบังคับ ตัวอย่างของกิจกรรมในขอบเขตนี้ ได้แก่ การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากการเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัวหรือระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการทำงานของบุคลากร การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ เช่น การใช้น้ำประปา วัสดุสำนักงานภายในองค์กร การใช้พลังงานไฟฟ้าทางอ้อมของบ้านพักพนักงาน ฯลฯ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการขนส่งผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ คนงาน หรือกระบวนการจัดการกากของเสีย การบำบัดน้ำเสียโดยหน่วยงานภายนอก การเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อการหุงต้มจากกิจกรรมการประกอบอาหารภายในโรงอาหารที่เกิดจากการจ้างเหมาบริการ เป็นต้น

จากการสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ จำนวน 758 ราย ในปี 2564 โดยสถาบันไทยพัฒน์ ที่เผยแพร่ไว้ในรายงาน The State of Corporate Sustainability in 2021 พบว่า มีกิจการที่เปิดเผยข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำนวน 120 ราย คิดเป็น 15.83% หรือประมาณ 1 ใน 6 ของกิจการทั้งหมดที่ทำการสำรวจ

เป็นโอกาสที่กิจการในไทย จะยกระดับการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเป็นที่ต้องการของทั้งผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย ให้สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและใช้ดึงดูดให้เกิดการร่วมทำงานกับกิจการ เพื่อสร้างให้เกิดประโยชน์ทั้งทางธุรกิจและแก่สิ่งแวดล้อมควบคู่ไปพร้อมกัน