“พลังงาน-คลัง” ป่วนหาเงินอุ้มดีเซล 1 พ.ค. เลิกตรึงราคา 30 บาท
“พลังงาน” เร่งเคาะแผนตรึงดีเซลหลังหมดโปรลิตรละ 30 บาท วันที่ 30 เม.ย.นี้ “กุลิศ” เตรียมหารือ “คลัง” ต่อมาตรการลดภาษีดีเซล 3 บาท ชี้ทุกอย่างเป็นไปได้ ลุ้นต่อลดภาษีระยะสั้น 1 เดือน
การตรึงราคาดีเซลที่ลิตรละ 30 บาท จะสิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย. 2565 หลังจากที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระในการอุดหนุนราคาขายปลีกดีเซลในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้บัญชีน้ำมันของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มติดลบในต้นเดือน มี.ค.2565 และปัจจุบันบัญชีน้ำมันติดลบ 24,302 ล้านบาท ส่งผลให้สถานะรวมของกองทุน ติดลบ 56,278 ล้านบาท
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงาน โดยเฉพาะการจัดทำแผนรองรับมาตรการพยุงราคาน้ำมันดีเซลเพื่อไม่ให้กระทบประชาชนผู้ใช้น้ำมันดีเซลวันละกว่า 65 ล้านลิตร (ราว 65% ของการใช้น้ำมันทั้งหมด) เนื่องจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลส่วนใหญ่ ประกอบด้วย รถบรรทุกขนส่ง รถกระบะขนส่ง รถโดยสารสาธารณะ ถือเป็นต้นทุนหลัก
ทั้งนี้ ภายหลังวันที่ 30 เม.ย.2565 รัฐบาลจะปล่อยราคาดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร และจะพยุงราคาคนละครึ่งแทน แต่หากราคาน้ำมันดิบยังคงสูงขึ้น การช่วยเหลือคนละครึ่งอาจจะยังไม่เพียงพอ ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะต้องได้ข้อสรุป โดยทางเลือกที่ทำได้มีอยู่หลากหลายรูปแบบ ซึ่งการจะปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเกินลิตรละ 30 บาท จะเป็นรูปแบบขั้นบันไดจะเป็นอย่างไร กระทรวงพลังงานได้ทำไว้แล้ว แต่คงต้องขอหารือเพื่อความชัดเจนอีกครั้ง ยืนยันว่าตอนนี้ ยังไม่มีข้อสรุป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบแล้วกว่า 50,614 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้เงินอุดหนุนในบัญชีน้ำมันติดลบ 19,332 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 31,282 ล้านบาท แม้ว่าจะลดการอุดหนุนราคาแอลพีจีลงอยู่ที่ 333 บาท ต่อถัง 15 กก. แต่กองทุนก็ยังต้องใช้เงินอุดหนุนหนุนอยู่
กองทุนอุ้มลิตรละ11บาท
นายกุลิศ กล่าวว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบดีเซลอยู่ที่ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากคิดเป็นราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกจะอยู่ที่ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล คิดเป็นราคาน้ำมันดีเซลที่ขายหน้าสถานีบริการน้ำมันในประเทศไทยจะอยู่ที่ลิตรละ 41 บาท ในขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใช้เงินอุดหนุนวันละประมาณลิตรละ 11 บาท โดยหากกระทรวงพลังงานช่วยคนละครึ่งจะเป็นที่ประมาณลิตรละ 35 บาท จึงต้องหารืออย่างรอบคอบว่าการจะปรับขึ้นราคาขนาดนี้จะเป็นไปได้หรือไม่
“คงต้องคุยกับกระทรวงการคลังด้วยทั้งในเรื่องของเงินกู้เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน รวมถึงการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลว่าจะขยายระยะเวลาต่อจากวันที่ 20 พ.ค. 2565 หรือไม่ และถ้าไม่ขยายระยะเวลาลดภาษีต่อจะกระทบสถานะเงินกองทุนน้ำมันอย่างไร ตอนนี้ยังไม่หารือถึงเรื่องดังกล่าว แต่ก็ได้เตรียมรายละเอียดไว้แล้วว่า หากจะต่อสถานทางการเงินกองทุนน้ำมันจะเป็นไร และถ้าไม่ต่อสถานการณ์เงินกองทุนน้ำมันจะเป็นอย่างไร” นายกุลิศ กล่าว
ลดอุดหนุนดีเซล 1 พ.ค.
นายกุลิศ กล่าวว่า การอุดหนุนเงินช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซลในวันที่ 1 พ.ค. 2565 ที่จะต้องขยับเกินราคาลิตรละ 30 บาทในปัจจุบันที่ใช้เงินลิตรละ 11 บาท ต่อจากนี้จะบริหารจัดการโดยแบ่งภาระประชาชนอย่างไร เพราะนโยบายรัฐบาลเบื้องต้นคือ 50% จะช่วยได้เท่าไหร่ และกำลังพิจารณาอยู่และจะต้องขึ้นเป็นระดับ แต่ถ้าราคาน้ำมันดิบลดต่ำกว่า 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพดานการอุดหนุนก็จะลดลง แต่หวังว่าจะไม่ทะลุเกิน 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
“ตอนนี้ประชุมกองทุนน้ำมันทุกวัน ซึ่งต่อจากนี้กระทรวงพลังงานอาจอุดหนุนลิตรละ 9-11 บาท หรือราคาน้ำมันดิบลดลงอาจอุดหนุนเหลือลิตรละ 8 บาท ซึ่งถ้าหาร 2 ก็จะเป็นฝ่ายละลิตรละ 4 บาท กระทรวงพลังงานยังคงเดินหน้าเรื่องเงินกู้เพื่อให้ได้เงินเข้ามาอุดหนุน”นายกุลิศ กล่าว
ส่วนการลดภาษีน้ำมันดีเซลถ้าวันที่ 20 พ.ค.2565 หากไม่ต่อการลดภาษีจะทำให้กองทุนน้ำมันจะต้องแบกภาระเป็นลิตรละ 14 บาททันที โดยภาษีน้ำมันดีเซลจะขึ้นเป็น 6 บาทเท่าเดิม
นายกุลิศ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะการปรับสูตรราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นนั้น กระทรวงพลังงานได้หารือกับผู้เกี่ยวข้องต่อเนื่อง ซึ่งยอมรับว่าปัจจุบันจะมีสูตรโครงสร้างราคาอยู่แล้ว แต่เมื่อมีข้อเสนอแนะมาก็พร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย โดยปัจจุบันกระทรวงพลังงานจะยังใช้กลไกด้านภาษี และกลไกกองทุนเพื่อสร้างความสมดุล ส่วนการให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นลดรายได้ลงมาปรับราคาหน้าโรงกลั่นลงนั้น ได้มีการหารือเป็นระยะเพื่อเคลียร์รายละเอียดในเรื่องของต้นทุน เพื่อทำสูตรและหารือกับภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง
หารือคลังลดภาษีดีเซลต่อ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ร่วมศึกษาสถานการณ์ด้านราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลว่าควรอยู่ราคาระดับใดเพื่อความเหมาะสมที่สุด หลังจากที่รัฐบาลจะเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 ตามนโยบายจะปรับขึ้นแบบขั้นบันไดและรัฐบาลจะเข้าไปช่วยครึ่งหนึ่ง
ยกตัวอย่างหากวันที่ 1 พ.ค.2565 ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่บาร์เรลละ 105 ดอลลาร์ เมื่อคำนวณเป็นราคาขายปลีกในประเทศจะอยู่ที่ลิตรละ 40 บาท รัฐบาลจะช่วยส่วนต่างลิตรละ 5 บาท ราคาขายหน้าปั๊มจะอยู่ที่ลิตรละ 35 บาท ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นจะไม่ปรับขึ้นที่ราคาเป็นลิตรละ 35 บาทในเดียว แต่จะทยอยขึ้นเป็นขั้นบันไดที่ลิตรละ 32 บาท ไปจนถึงลิตรละ 35 บาท เป็นต้น โดยเบื้องต้นก็จะใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กระทรวงพลังงาน เป็นกลไกหลัก
ลุ้นลดภาษีดีเซลระยะสั้น
นอกจากนี้ วันที่ 20 พ.ค.2565 มาตรการลดภาษีดีเซลลิตรละ 3 บาท ระยะเวลา 3 เดือน จะครบกำหนด ซึ่งมีข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้กระทรวงการคลังขยายเวลาลดภาษีดีเซลออกไป โดยเรื่องนี้สำคัญเพราะ 3 เดือนที่ผ่านมา รัฐสูญเสียราย 17,000 ล้านบาท ดังนั้นการลดภาษีดีเซลจึงต้องคิดรอบคอบ แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ หรือหากต่ออายุอาจเป็นการต่อระยะสั้น 1 เดือน 2 เดือน หรือ 3 เดือน ก็เป็นไปได้
"ทุกแนวทางที่มีการหารือกันเป็นไปได้หมดแต่จะต้องดูองค์ประกอบโดยรวม ทั้งปัจจัยเงินเฟ้อ หากจะปรับราคาน้ำมันขึ้นในระดับแรก ต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ความเป็นไปได้ และที่ยังไม่สามารถเคาะราคาได้ตอนนี้ก็ต้องรอดูแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกร่วมด้วยว่าวันที่ 1 พ.ค. 2565 ราคาจะอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งมองแล้วในช่วงนี้น่าจะอยู่ในระดับนี้ แต่ก็หวังว่าช่วงปลายเดือนเม.ย. 2565 ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะลดลง" แหล่งข่าว กล่าว
“คลัง”รอดูผลจัดเก็บรายได้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาท จะหมดอายุวันที่ 20 พ.ค.นี้ และยังเร็วไปที่จะพูดเรื่องการขยายมาตรการการลดภาษีดังกล่าวออกไปหรือไม่ โดยการพิจารณาจะขยายหรือไม่ขยายมาตรการดังกล่าวขึ้นอยู่กับการประเมินภาวะเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการจัดเก็บรายได้