“ซีโร โควิด”ฉุดเศรษฐกิจจีน การผลิตลดต่ำสุดรอบ 2 ปี

“ซีโร โควิด”ฉุดเศรษฐกิจจีน การผลิตลดต่ำสุดรอบ 2 ปี

มาตรการล็อกดาวน์ของจีน แม้จะเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้น แต่มีผลกระทบจากการหยุดชะงักของอุปทานในเมืองและซัพพลายเชนด้านเทคโนโลยีโลก การคุมโควิด-19 รอบนี้นอกจากนำไปสู่การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่รอบใหม่ และสร้างความท้าทายให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้ประชุมและประเมินผลกระทบของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวจาก 3 แรงกดดัน ได้แก่ 

1.ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน 2.นโยบาย Zero COVID policy ของจีน และ 3.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยการล็อกดาวน์ของประเทศจีนอาจส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อซัพพลายเชนในภูมิภาค

สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นกลางเดือน มี.ค.2565 ทำให้จีนตัดสินใจล็อกดาวน์หลายเมือง อาทิ เมืองจี๋หลิน ที่ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์บางส่วน เมืองหยานจี๋ ที่ประกาศล็อกดาวน์ทั้งเมือง รวมถึงเมืองเซินเจิ้น ที่เป็นศูนย์กลางการผลิตสำคัญของบริษัทหลายแห่ง โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีถูกล็อกดาวน์ไป 1 สัปดาห์ เมื่อวันที่ 13-20 มี.ค.2565 ส่งผลให้ประชาชน 17.5 ล้านคนได้รับคำสั่งให้ทำงานจากที่บ้าน ปิดบริการขนส่งสาธารณะและธุรกิจที่ไม่จำเป็น ซึ่งกระทบต่อการผลิตและส่งออกทั่วโลก

ทั้งนี้ จีนประกาศคลายมาตรการล็อกดาวน์เมืองเซินเจิ้น แต่ยังคงกฎระเบียบบางส่วน โดยอนุญาตให้บริษัทและรถโดยสารสาธารณะกลับมาดำเนินการตามปกติ

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาจีนประกาศล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ โดยหลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์เมืองเต็มรูปแบบ และเลือกใช้การล็อกดาวน์ทีละครึ่งเมืองเป็นเวลา 9 วัน (28 มี.ค.-5 เม.ย.2565) เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฟสแรกล็อกดาวน์พื้นที่ฝั่งตะวันออกของเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.-1 เม.ย.2565 และได้ขยายเวลาการล็อกดาวน์เพิ่ม

ส่วนเฟส 2 จะเป็นฝั่งตะวันตกในวันที่ 1 เม.ย.-5 เม.ย.2565 ส่งผลกระทบกับพลเมืองประมาณ 26 ล้านคนต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน รวมถึงปิดบริการขนส่งสาธารณะ บริษัทและโรงงาน แต่สนามบิน สถานีรถไฟ และท่าเรือขนส่งระหว่างประเทศของเมืองเปิดดำเนินการ ในขณะที่ผู้ผลิตรายสำคัญได้รับอนุญาตให้กลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง หลังจากหยุดไปช่วงสั้นๆ

สำหรับเมืองใหญ่ที่ถูกล็อกดาวน์และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ

1.เมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็น Key transportation hub และ Financial center มีอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบคือ อุตสาหกรรมรถยนต์ อาทิ โรงงาน Tesla ในเมืองเซี่ยงไฮ้ มีการระงับการผลิตบางส่วนชั่วคราวเป็นระยะเวลา 4 วันVolkswagen ประกาศลดขนาดการผลิตในเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งอุตสาหกรรมขนส่งอาจได้รับผลกระทบบ้างจากการขาดแคลนแรงงาน

2.เมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็น Tech hub มีอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โรงงานFoxconn ผู้ผลิตไอโฟนให้บริษัท Apple ต้องระงับสายการผลิตชั่วคราว

หากพิจารณาสถานการณ์การติดเชื้อใหม่และผู้เสียชีวิตโดยรวมลดลง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มสูงขึ้น โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.2565

สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ Manufacturing PMI ของจีนในเดือน มี.ค.2565 อยู่ที่ 49.5 และลดลงต่อเนื่องในเดือน เม.ย.2565 ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) ของจีนเปิดเผยว่า ดัชนี PMI ของภาคการผลิตลดลงมาอยู่ที่47.4 เป็นระดับต่ำสุดรอบ 2 ปี นับจากเดือน มี.ค.2562 ที่เริ่มแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

จ้าว ฉิงเหอ นักสถิติอาวุโสของ NBS กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้งในประเทศจีน ได้ถ่วงกิจกรรมการผลิตของโรงงานและอุปสงค์ของตลาด

ดัชนีย่อยสำหรับการผลิตอยู่ที่ 44.4 ในเดือน เม.ย. ลดลง 5.1 เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. และดัชนีย่อยสำหรับยอดสั่งซื้อใหม่อยู่ที่ 42.6 ลดลง 6.2 จุดจากเดือน มี.ค.2565

ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการของประเทศจีนอยู่ที่ระดับ 41.9 ในเดือน เม.ย. ซึ่งลดลงจาก 48.4 ในเดือน มี.ค.2565

ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าในขณะนี้ดัชนีภาคการผลิตของโลกยังขยายตัว แต่การผลิตของประเทศจีนหดตัวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของจีนไตรมาส 1 ปี 2565 มีทิศทางเชิงบวกแม้ต้องเผชิญสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่ซับซ้อนและโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่เศรษฐกิจจีนยังแข็งแกร่ง และผลักดันให้อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความตกลง RCEP ที่มีผลบังคับใช้แล้ว

สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 7 ไตรมาส โดยสำนักงานศุลกากรจีนเปิดเผยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศในไตรมาส 1 ปี 2565 มีมูลค่า 9.42 ล้านล้านหยวน หรือ 49.93 ล้านล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 10.7% แสดงให้เห็นว่ายังขยายตัวแม้จีนต้องเผชิญสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่ซับซ้อนและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่อง 

ขณะที่เร็วๆ นี้ เกิดการระบาดของโควิด-19 ในจีนอีกครั้ง ทำให้สถานการณ์การผลิตและความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบ และอาจส่งต่อการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศในระยะยาว

ปัจจุบัน สำนักงานศุลกากรจีนกำหนดมาตรการเฝ้าระวังการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งกำหนดแผนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ แต่พบว่าความต้องการบริโภคบริการจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการสินค้า ซึ่งอาจทำให้จีนพึ่งพาผลิตภัณฑ์นำเข้าลดลง 

นอกจากนี้ ปัจจุบันราคาวัตถุดิบในการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่เงินหยวนยังคงแข็งค่า ซึ่งทำความได้เปรียบด้านราคาผลิตภัณฑ์ส่งออกของจีนลดลง จึงทำให้คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของการส่งออกของจีนอาจชะลอตัวลงต่อเนื่อง