กกร.เสนอนายกฯ ยืดบังคับใช้ 2 ปี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
กกร. เตรียมทำหนังสือเสนอนายกฯ ชะลอบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ออกไปอีก 2 ปี เนื่องจากกฎหมายลูกและหลักปฏิบัติที่ยังไม่มีความชัดเจน จะสร้างปัญหาการฟ้องร้องในอนาคต กระทบธุรกิจที่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยส.อ.ท.และสมาคมธนาคารไทย ได้หารือร่วมกันเพื่อทำหนังสือเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ขอเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ Personal Data Protection Act B.E.2562 (PDPA) ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ออกไปอีก 2 ปี
เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดของกฎหมายรอง ทั้งยังมีโทษทางอาญาและมีผลบังคับถึงกรรมการบริษัท จะทำให้เกิดปัญหาการฟ้องร้องที่ยืดเยื้อ
ทั้งนี้ กกร. เสนอให้ทุกภาคส่วนควรช่วยกันแก้ พ.ร.บ. เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดช่องว่างของภาครัฐ เป็นปัญหาและความเสียหายต่อผู้ประกอบการที่ไม่สามารถทำธุรกิจได้ โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยประเมินว่าผู้ประกอบการราว 6-7 แสนราย จะต้องใช้เงินลงทุนระบบอย่างน้อย 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายในการจ้างทีมงานอบรมพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการปรับระบบคอมพิวเตอร์ในการเชื่อมโยงข้อมูลของลูกค้า พร้อมกับการแจ้งลูกค้าเกี่ยวกับการปรับใช้ข้อมูลตามกฎหมายฉบับใหม่ เป็นต้น
โดยกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือธุรกิจที่มีฐานข้อมูลลูกค้าในมืออยู่มากทั้งธุรกิจบริการและการค้า โดยบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินทุน ได้เตรียมความพร้อมรองรับการปรับระบบบ้างแล้วซึ่งก็ถือเป็นต้นทุนที่สูง ในขณะที่กลุ่มของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ซึ่งมีจำนวนมากจะไม่มีเงินทุนที่จะปรับระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมาย อีกทั้งมองว่ายังมีหลายมาตราที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
รายงานข่าวจาก กกร.ระบุว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2565 กกร. ได้หารือการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ Personal Data Protection Act B.E.2562 (PDPA) ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย.2565
ทั้งนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ได้ถูกเลื่อนออกมาเป็นเวลา 1 ปีเต็ม เนื่องจากเป็นกฎหมายบางมาตรามีผลกระทบกับประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ดิจิทัล ดังนั้น จากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวในครั้งนี้จะกระทบต่อภาคธุรกิจโดยตรงด้วยเช่นกัน
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า กกร.จึงมีความเห็นว่ารัฐบาลควรให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในการพิจารณากฎหมายลำดับรอง พร้อมกับเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ไปอย่างน้อย 2 ปี เพราะจากการประเมินของ
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่าเมื่อมีผลบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพ.ศ.2562 แล้วผู้ประกอบการทั่วประเทศไทยราว 6-7 แสนราย จะต้องใช้เงินลงทุนระบบอย่างน้อย 50,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายในการจ้างทีมงานอบรมพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการปรับระบบคอมพิวเตอร์ในการเชื่อมโยงข้อมูลของลูกค้า พร้อมกับการแจ้งลูกค้าเกี่ยวกับการปรับใช้ข้อมูลตามกฎหมายฉบับใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ หากจะบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 รวมถึงกฎหมายรอง ทุกภาคส่วนควรช่วยกันแก้พ.ร.บ.เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดช่องว่างของภาครัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจไม่ได้ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งหากภาครัฐยืนยันการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวในวันที่ 1 มิ.ย.2565 จะเกิดปัญหาและความเสียหายแน่นอน ดังนั้น จึงควรให้ภาคเอกชนได้เข้าร่วมหารือ เพราะภาคเอกชนและภาคธุรกิจเป็นผู้ถูกใช้กฎหมาย
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจบริษัทใหญ่ที่มีเงินทุนได้เตรียมความพร้อมรองรับการปรับระบบบ้างแล้ว และถือเป็นต้นทุนที่สูง เพราะถ้าออกมาจะเป็นภาระให้ต่อภาคเอกชน แต่จะกังวลในกลุ่มของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมีจำนวนมากจะไม่มีเงินทุนที่จะปรับระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมาย อีกทั้ง มองว่ายังมีหลายมาตราที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน