"ขึ้นค่าจ้าง" สู้เงินเฟ้อก่อน "ขึ้นดอกเบี้ย" ตามเฟด
ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ ขึ้นกันถ้วนหน้า ถึงเวลาหรือยังที่ไทยต้อง "ขึ้นค่าจ้าง" เพื่อสู้ "เงินเฟ้อ" ให้ประชาชนอยู่ได้ท่ามกลางสถานการณ์อันยากลำบาก
ช่วงนี้หันไปทางไหนก็มีแต่คนบ่นเรื่อง "ของแพง" มาตรวัดสำคัญคือเงินในกระเป๋าเงินเท่าเดิมซื้อของได้น้อยลง 100 บาทแทบไม่มีความหมาย แบงก์ 50 กลายเป็นแบงก์ 20 ไปแล้ว หากพิจารณาจากมาตรวัดอย่างเป็นทางการกระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลข "เงินเฟ้อเดือนเมษายน" เพิ่มขึ้น 4.65%
ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงาน อาหารสด และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรส่งผลต่อห่วงโช่อุปทานการผลิต การค้า และการขนส่ง ราคาสินค้าและบริการในประเทศจึงปรับสูงขึ้น และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน
อีกหนึ่งปัจจัยในประเทศคือการ "ปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล" แบบขั้นบันไดตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 65 และการสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล วันที่ 20 พ.ค.65 จะส่งผลกระทบทางอ้อมให้ต้นทุนการผลิตหรือวัตถุดิบสินค้าและบริการ ที่นำมาคำนวณเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ค่าโดยสารสาธารณะ ค่ากระแสไฟฟ้า
รวมถึงยังทำให้ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคสูงขึ้นตามต้นทุน การจัดการเงินเฟ้อในต่างประเทศที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำไปแล้วคือการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ล่าสุดอีก 0.50% มาอยู่ที่ 0.75-1.00% แผนการปีนี้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้ง
พร้อมทยอยปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย. ซึ่งงบดุลดังกล่าวประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) โดยขณะนี้มีมูลค่ารวม 8.9 ล้านล้านดอลลาร์
หลายประเทศ "ขึ้นอัตราดอกเบี้ย" ตามสหรัฐ บางประเทศขึ้นตั้งแต่ปี 2564 เสียด้วยซ้ำ เกิดเป็นคำถามว่าเมื่อใดจะถึงคราวไทยขึ้นดอกเบี้ยบ้าง ไม่เช่นนั้นแล้วหากอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันมากจะทำให้เงินทุนไหลออกไปสู่ประเทศที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า ซึ่งดูทีท่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะเห็นภาพว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว เพราะตอนนี้เราเพิ่งเริ่มเปิดประเทศ ยังไม่ชัดเจนว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาตามเป้าสร้างรายได้ให้เราอย่างที่หวังหรือไม่ กว่าจะเห็นภาพคงต้องรอปลายปี
นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ ธปท. จะขึ้นดอกเบี้ยปลายปีเร็วกว่าที่คาดไว้ว่าต้นปีหน้า สำหรับคนธรรมดาสามัญหาก ธปท. ขึ้นดอกเบี้ย บรรดาหนี้สินที่มีอยู่กับธนาคารก็ต้องจ่ายดอกเพิ่มตามไปด้วย ราคาน้ำมันไม่มีทีท่าจะลงง่ายๆ วันนี้เบนซินปรับขึ้นอีก 80 สตางค์ เห็นแล้วได้แต่กุมขมับเมื่ออะไรๆ ก็ขึ้น
มีคนบอกว่าอย่าไปยึดติดกับตัวเลข อะไรก็ตามที่วัดผลด้วยตัวเลขนั้นไม่จีรังเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ดูง่ายๆ ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย ตัวเลขเงินเฟ้อ คงมีแต่ค่าจ้างเงินเดือนที่กว่าจะขึ้นได้สักทีก็ยากแสนยาก ถึงเวลาหรือยังที่ต้องขึ้นค่าจ้างเพื่อสู้เงินเฟ้อให้ประชาชนอยู่ได้ท่ามกลางสถานการณ์อันยากลำบาก