“ธุรกิจโรงพยาบาล” เสน่ห์แรง ! “โควิด” อัพมูลค่าพุ่ง
“โควิด-19” สร้างมนต์ขลังให้ “ธุรกิจโรงพยาบาล” เสน่ห์แรง !! สะท้อนผ่าน “ทุนหนา” อยาก “ซื้อกิจการ” แต่ปัจจุบันมูลค่าดีล M&A ราคาพุ่งขึ้น 20-30 เท่าตัวของอิบิด้า หลังผลดำเนินงานขยายตัวเป็น “เท่าตัว”
เหนื่อยแต่...รับทรัพย์ !! นิยามดังกล่าวคงต้องยกให้ “ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย” นับจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกในปี 2563 ส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้รับผลกระทบหนัก ! บ่งชี้ผ่านผลดำเนินงาน “หดตัวรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน” ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มาจากมาตรการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) ที่เข้มข้น จนทำให้จำนวนคนไข้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ “ลดลง” อย่างมาก ขณะที่จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในไทยไม่มากนัก และส่วนใหญ่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐเป็นส่วนใหญ่
แตกต่างจากปี 2564 ที่มีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ (เม.ย.2564) ที่จำนวนยอดติดเชื้อของผู้ป่วยทะลุหลักหมื่นคนต่อวัน จนเกิดวิกฤติด้านสาธารณสุข ซึ่งการแพร่ระบาดระลอกนี้ช่วยพยุงวิกฤตธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไว้ เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการรับตรวจหาเชื้อและรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และความต้องการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ส่งผลให้ภาพรวมรายได้โรงพยาบาลเอกชนปี 2564 ปรับตัวดีขึ้นแทบทุกราย...
สะท้อนผ่าน ผลประกอบการ 2 ปีย้อนหลัง (2563-2564) ของ “7 ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย” ปรับตัวดีขึ้นทั้งในแง่ของ “รายได้และกำไรสุทธิ” อ้างอิงตามบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อย่าง บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS มีกำไรสุทธิ 7,214.24 ล้านบาท 7,936.08 ล้านบาท ขณะที่รายได้ 69,101.64 และ 75,791.68 ล้านบาท บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือ BH มีกำไรสุทธิ 1,204.14 ล้านบาท และ 1,215.68 ล้านบาท ขณะที่รายได้ 12,567.38 ล้านบาท และ 12,678.30 ล้านบาท
บมจ. โรงพยาบาลวิภาวดี หรือ VIBHA มีกำไรสุทธิ 449.80 ล้านบาท และ 1,805.05 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้ 6,338.25 ล้านบาท และ 7,873.84 ล้านบาท บมจ.โรงพยาบาลรามคำแหง หรือ RAM มีกำไรสุทธิ 632.06 ล้านบาท และ 4,192.62 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้ 8,192.40 ล้านบาท และ 13,233.36 ล้านบาท บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG มีกำไรสุทธิ 62.43 ล้านบาท และ 1,337.43 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้ 7,446.40 ล้านบาท และ 10,974.92 ล้านบาท
บมจ. เอกชัยการแพทย์ หรือ EKH มีกำไรสุทธิ 72.10 ล้านบาท และ 344.83 ล้านบาท ขณะที่รายได้ 661.54 ล้านบาท และ 1,202.40 ล้านบาท บมจ. โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง หรือ WPH มีกำไรสุทธิ (-28.33 ล้านบาท) และ 232.29 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้ 710.42 ล้านบาท และ 1,233.37 ล้านบาท เป็นต้น
ยิ่งรัฐบาลผลักดันร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย เป็นศูนย์กลางสุขภาพในระยะ 10 ปี ใน 4 ด้าน ได้แก่ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)
ตอกย้ำว่า ตลาดโรงพยาบาลเอกชนไทยยังมีช่องทางการเติบโตอีก “มหาศาล” และหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลไทยมี “ความโดดเด่น” ในสายตาคนทั่วโลก ว่ามีศักยภาพไม่แพ้ประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น ทั้งตลาดคนไข้ไทยและต่างชาติแนวโน้มจะเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะ “ต่างชาติ” ที่คาดว่าจะหอบเงินมารักษาในเมืองไทย “คึกคัก” หลังไทยเปิดประเทศกว้างมากขึ้นแล้ว อาทิ ชาวอาหรับ , จีน , กลุ่ม CLMV เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ธุรกิจโรงพยาบาลจะมีฟื้นตัวชัดเจนในปี 2566 จากสารพัด “ปัจจัยบวก” ประกอบด้วย สถานพยาบาลในไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล JCI 62 แห่ง เป็นโรงพยาบาลถึง 49 แห่ง มากกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค ค่ารักษาพยาบาลไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งยังมีมาตรฐานและบริการที่ดี พร้อมด้วยชื่อเสียงในเรื่องการรักษาพยาบาลเฉพาะทาง เช่น ภาวะมีบุตรยาก เวชศาสตร์ชะลอวัย การผ่าตัดแปลงเพศ
นอกจากนี้ ค่าครองชีพในไทยยังไม่สูงมาก เหมาะแก่การพำนักรักษาตัวและพักฟื้นร่างกายในระยะยาว ทั้งนี้ คาดว่า “มูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย” ในปี 2566 จะมีมูลค่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.5 แสนล้านบาท และอาจแตะระดับ 5 แสนล้านบาทในปี 2569 หรือเติบโตเฉลี่ย (CAGR ปี 2566-2569) ปีละ 15.4%
ความโดดเด่นดังกล่าวกลายเป็น “เสน่ห์ดึงดูด” ให้เหล่าผู้เล่นเก่าอยากขยายกิจการของตัวเองให้เติบโต ส่วนผู้เล่นรายใหม่ก็อยากกระโดดเข้ามาแบ่งเค้กก้อนใหญ่ระดับแสนล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มทุนหนา
สะท้อนผ่านมูลค่า “การซื้อกิจการ” (M&A) ของธุรกิจโรงพยาบาลมีราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่า “20-30 เท่า” ของ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ก่อน ภาษี และค่าเสื่อมราคา และค่าความนิยม หรือ EBITDA ยกตัวอย่าง ก่อนมีโควิด-19 ธุรกิจโรงพยาบาลมีผลประกอบการอยู่ที่รายได้ 5 ล้านบาท แต่ช่วงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีรายได้เพิ่มเป็น 10-20 ล้านบาท ส่งผลให้เจ้าของกิจการขยับราคาขายธุรกิจขึ้นเป็น “เท่าตัว”
อย่างไรก็ตาม โมเดลการเข้าซื้อกิจการของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ นั่นคือ “ปลาใหญ่ย่อมได้เปรียบปลาเล็กเสมอ” เนื่องจากมีต้นทุนในการทำธุรกิจที่ถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็กตามสูตรการตลาด Economy of scale และก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่จะเห็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ซื้อหุ้นกิจการโรงพยาบาลขนาดเล็กอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงขยายสาขาเพิ่มขึ้นของโรงพยาบาลเอกชน
“การขยายอาณาจักรของโรงพยาบาลเอกชนก็เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองในการสั่งซื้ออุปกรณ์การแพทย์และยารักษาโรค รวมไปถึงต้นทุนอื่นๆ ในการทำธุรกิจ สุดท้าย การมีสาขาจำนวนมากก็ย่อมหมายถึงการเข้าถึงผู้ป่วยมากกว่าโรงพยาบาลขนาดเล็ก ทั้งหมดเพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่ง และมีกำไรในการทำธุรกิจในแต่ละปีอย่างมหาศาล”
ทว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผลประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลทั้งเล็กและใหญ่ กลับมาเติบโตแทบทุกราย ส่วนจะกำไรมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าใครใหญ่กว่ากัน ดังนั้น ปัจจุบันโรงพยาบาลขนาดเล็กที่เคยเสีบเปรียบโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ในจังหวะนี้อาจจะพอมีเสียงดังและสามารถต่อกรกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้บ้างไม่มากก็น้อย
“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ว่า ภาพรวมของ “ธุรกิจโรงพยาบาล” มีเทรนด์ที่ดีขึ้นมาก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากทำให้ผลประกอบการกลับมาเติบโตโดดเด่น โดยเฉพาะโรงพยาบาลในกลุ่มที่รับประกันสังคม จากเดิมธุรกิจมีผลดำเนินงาน “เติบโตเล็กน้อย” หรือ “ไม่เติบโต” แต่เมื่อมีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูง ทำให้ผลดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง
“ด้วยเทรนด์ของธุรกิจมีทิศทางที่เติบโต จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่มูลค่าสินทรัพย์จะขยับขึ้นตามไปด้วย”
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เผยแพร่บทวิเคราะห์รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ว่า มองว่าในปี 2565 และระยะถัดไป รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนอาจมีทิศทางที่ฟื้นตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัว ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ สถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงการกลับมาของคนไข้กลุ่ม Medical tourism (การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ) ด้วย
ทั้งนี้มีปัจจัยสนับสนุน คือ แนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น , จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง , จำนวนผู้ป่วยต่างชาติมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นในปี 2564-2565 , แผนการลงทุนของธุรกิจโรงพยาบาล ทั้งการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่และด้านเครื่องมือการแพทย์ , กระแสการใส่ใจสุขภาพของคนไทยเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะการผลักดันให้ไทยเป็น Medical Hub (ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ)