ข้าวถุงอ่วมต้นทุนพุ่ง สินค้า 'ขยับราคา’ ‘ข้าวไก่แจ้ ’เร่งขยายตลาดไทย-เทศ
“ข้าวถุง” เผชิญสารพัดปัจจัยกดดันต้นทุน ปุ๋ยเคมี-น้ำมัน“ข้าวไก่แจ้” ยกระดับการผลิต เร่งขยายตลาดทั่วไทยส่งออก หวังยอดขายเติบโตแตะ 3 พันล้านบาท ปีนี้
นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงแบรนด์ไก่แจ้ เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาพรวมตลาดข้าวถุงมีการปรับราคาขึ้น 10-20% เนื่องจากเผชิญภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทั้งราคาปุ๋ยเคมี ที่ได้รับแรงกดดันจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงราคาพลังงานที่พุ่งขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่มีผลต่อภาคขนส่ง และมาตรการตรึงราคา สิ้นสุดลงเมื่อ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ตลาดข้าวถุงมีมูลค่าประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท เชิงปริมาณราว 10 ล้านตันต่อปี แต่ช่วง 2 ปีที่เผชิญการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ประกอบการไม่มีการปรับราคาขึ้นมากนัก
อย่างไรก็ตาม การปรับราคาขึ้นล่าสุด ยังไม่เกินเพดานราคาควบคุมโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งราคาข้าวถุงที่ปรับขึ้นแตกต่างกันแล้วแต่ชนิด เช่น ข้าวหอมมะลิมีตั้งแต่ 130-150 ไปจนถึง 200 บาทต่อถุง 5 กิโลกรัม ข้าวขาว 80-100 บาทต่อถุง เป็นต้น
“ข้าวถุงทั้งตลาดเพิ่งมีการปรับราคาขึ้น หลังจากไม่ได้ปรับมานาน เนื่องจากโรคโควิด-19 ระบาด และการแข่งขันในตลาดที่สูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการพยายามบริหารจัดการต้นทุน เพื่อตรึงราคาไว้”
อย่างไรก็ดีปี 2565 เข้าสู่ปีที่ 3 ที่ไทยและทั่วโลกเผชิญวิกฤติโควิด หลายธุรกิจได้รับผลกระทบ แต่ตลาดข้าวถุงเป็นสินค้าจำเป็น ทำให้ ตลาดยังอยู่ในทิศทางที่ดี แม้บางพื้นที่ โดยเฉพาะแหล่งที่พึ่งพานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร มีดีมานด์ลดลง และยังไม่ฟื้นตัวก็ตาม
นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว ส่งผลให้การบริโภคของประชาชนส่วนหนึ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปซื้อข้าวถุงราคาถูก หรือไม่มีแบรนด์มากขึ้น แต่ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ยังคงเลือกบริโภคข้าวเกรดเอ พิจารณาคุณภาพ และแบรนด์ที่อยู่ในใจเป็นหลัก
“เศรษฐกิจ กำลังซื้อชะลอตัว ประชาชนจะบริโภคข้าวมากขึ้น และข้าวยังเป็นเทรนด์ของโลก ที่คนหันมาบริโภคเพิ่ม แม้กระทั่งต่างประเทศ ที่กินแทนขนมปัง ทำให้ตลาดเติบโตสูงมาก เพราะข้าวเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่ดี”
สำหรับ แผนธุรกิจข้าวถุงแบรนด์ไก่แจ้ ปี 2565 ให้ความสำคัญในการกระจายสินค้าให้ครอบคลุมตลาดมากขึ้น จากเดิมบริษัทเป็นเจ้าตลาดในภาคตะวันออก รวมถึงการขยายตลาดต่างประเทศ ผลักดันการเติบโต จากปัจจุบันการส่งออกทำสัดส่วนยอดขาย 25-30% จากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ วิกฤติโควิดทำให้บริษัทยังปรับตัว มุ่งใช้เทคโนโลยี เครื่องจักรอัตโนมัติยกระดับการผลิตสินค้ามากขึ้น ต้องกระจายความเสี่ยง และบริหารจัดการเงินสดให้ดี เพื่อให้มีความพร้อมด้านเงินทุน รองรับสถานการณ์ที่คาดคิด
“โควิดทำให้เราเรียนรู้ในการตื่นตัวตลอดเวลา เตรียมหาวิธีป้องกันธุรกิจ โดยเฉพาะโรงงานผลิตข้าวถุงไม่ให้ได้รับผลกระทบ หรือหยุดชะงักจากการพบผู้ติดเชื้อไวรัส เราทำงานเชิงรุกตลอดในเรื่องเหล่านี้”
ปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายอดขาย 3,000 ล้านบาท จากปีก่อนปิดยอดขายราว 2,500 ล้านบาท แต่โจทย์ยากปีนี้ คือ การเผชิญกับภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ยเคมี รวมถึงภาวะเงินเฟ้อ แนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำที่จะเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเข้มข้นในการบริหารภายในองค์กร