กรมขนส่งเตรียมหารือกระทรวงพลังงาน ออกคูปองส่วนลดน้ำมัน
ขบ.เตรียมเสนอกระทรวงพลังงาน ออกคูปองส่วนลดน้ำมันอุ้มผู้ประกอบการรถทัวร์และรถบรรทุก 3 เดือน คาดใช้งบอุดหนุนกว่า 3.3 พันล้านบาท ขณะที่ “เจ๊เกียว” โอดแบกต้นทุนน้ำมัน 60% ยื่นหนังสือถึง ขบ.ขอปรับราคาค่าโดยสารกิโลเมตรละ 1 สตางค์ต่อน้ำมันขึ้น 1 บาทต่อ 1 ลิตร
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมขนส่งทางบกกลาง (ขบ.) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร โดยระบุว่า ขบ.รับทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเอกชน และได้ชี้แจงให้ทราบถึงมาตรการช่วยเหลือที่กระทรวงคมนาคมเตรียมดำเนินการ โดยขณะนี้ ขบ.เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อหารือร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ออกคูปองบัตรเติมน้ำมันส่วนลดลิตรละ 2 บาท เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ดี จากมาตรการคูปองบัตรเติมน้ำมันดังกล่าว จะมีผลใช้ระยะ 3 เดือน ผู้ประกอบการที่ได้สิทธินี้มี 3 กลุ่ม ได้แก่ รถโดยสารประจำทาง รถโดยสารไม่ประจำทาง และรถบรรทุกไม่ประจำทาง ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่ามาตรการนี้ภาครัฐจะต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นวงเงินรวมกว่า 3.3 พันล้านบาท ทั้งนี้มาตรการจะออกมาในรูปแบบที่ ขบ.เสนอหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการหารือร่วมกับกระทรวงพลังงานและความเหมาะสมด้วย
นอกจากนี้ ขบ.ยังเตรียมประสานไปยังบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านการลดค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมสัญญา (ค่าขา) รวมทั้งหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในการลดค่าประกันภัย โดยปรับจากค่าประกันภัย 1 คันต่อ 1 ปี เป็นค่าประกันแบบรายบุคคล คิดตามปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการรถโดยสารในเที่ยววิ่งนั้น เพื่อลดต้นทุนค่าประกันภัยให้แก่ผู้ประกอบการ
นายจิรุตม์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของ ขบ.มีมาตรการปรับลดภาษีประจำปี 90% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรถสาธารณะ ประมาณ 1.7 แสนคัน โดยผู้ประกอบการสามารถแจ้งหยุดใช้รถชั่วคราวเพื่อระงับการจ่ายค่าธรรมเนียมภาษีประจำปีได้ หลังจากนั้นหากกลับมาเปิดให้บริการเดินรถ ก็สามารถมาแจ้งเพื่อต่อภาษีประจำปีเช่นเดิม
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการมีความต้องการให้ปรับเพิ่มอัตราค่าโดยสาร สะท้อนจากต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องนั้น ขบ.ได้ชี้แจงว่าการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารเป็นอำนาจคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง โดย ขบ.จะนำปัญหาที่เอกชนเสนอมานั้น ไปรายงานคณะกรรมการฯ พิจารณาภายในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งการจะปรับขึ้นค่าโดยสารได้หรือไม่นั้น ต้องคำนวณทั้งต้นทุนน้ำมัน ต้นทุนอื่นๆ รวมไปถึงดัชนีผู้บริโภคประกอบด้วย
นางสุจินดา เชิดชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร เจ้าของอู่รถเชิดชัยและบริษัทเดินรถเชิดชัยทัวร์ จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนมายื่นหนังสือถึงนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี ขบ. เพื่อขอปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง และผู้ประกอบการรถยนต์โดยสารไม่ได้ปรับอัตราค่าโดยสารมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันใช้ฐานราคาค่าโดยสารอิงจากราคาน้ำมัน 27.79 บาท ตั้งแต่ปี 2562
อย่างไรก็ดี สมาคมฯ จึงเข้ายื่นหนังสือเพื่อขอปรับอัตราค่าโดยสารอิงตามราคาน้ำมันปัจจุบัน ณ 11 พ.ค.2565 ราคาอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นทุกวันหลังจากรัฐบาลประกาศยกเลิกตรึงราคคาน้ำมันดีเซล ด้วยเหตุนี้สมาคมฯ จึงขอปรับอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นกิโลเมตรละ 1 สตางค์ต่อน้ำมันขึ้น 1 บาทต่อ 1 ลิตร ดังนั้นจากฐานราคา 27.79 บาท เทียบกับราคาปัจจุบันต่างกันราว 5 บาท ส่งผลให้อัตราค่าโดยสารควรจะได้ปรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 สตางค์
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังต้องการให้ภาครัฐพิจารณาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านอื่นๆ อาทิ ค่าธรรมเนียมเที่ยววิ่ง (ค่าขา) และค่าธรรมเนียมประเภทอื่นที่ต้องจ่ายให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการแบกต้นทุนน้ำมันที่สูงคิดเป็น 60% ของค่าโดยสารแล้ว อีกทั้งยังมีปริมาณผู้โดยสารเดินทางลดลง ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดกิจการ
“ตอนนี้น้ำมันเป็นต้นทุนหลัก 60% ของค่าโดยสาร รถโดยสารวิ่งให้บริการ 1 คัน ถ้าจะให้ได้ต้นทุนต้องมีผู้โดยสาร 16 ที่นั่ง และถ้าเกินนั้นก็จะมีรายได้บ้าง เพื่อมาจ่ายต้นทุนอื่นๆ เช่น ค่ายาง แต่หากภาครัฐไม่ช่วยเหลือเราในส่วนนี้ ทางออกตอนนี้ของเจ๊เกียวก็ยังมีทางออกขายกิจการ ส่วนสมาชิกตอนนี้ก็สู้น้ำมันไม่ไหว ล้มหายตายจากไปเยอะ แต่จะหยุดวิ่งไหมมันก็มีกฎระเบียบข้อบังคับอยู่ คงก็ต้องปฏิบัติตาม”
นายสุจินดา กล่าวอีกว่า ตอนนี้ก็ขอดูเหตุและผลก่อน ภาครัฐต้องมีเหตุและผลเพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ เพราะคนที่มีรายได้น้อยใช้รถโดยสาร จะใช้งานยังไง หากว่าผู้ประกอบการล้มหายตายจากกันไปหมด ส่วนการปรับขึ้นค่าโดยสารในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวและอาจเป็นผลกระทบต่อประชาชนนั้น ตนเชื่อว่าถึงเวลาที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ หามาตรการมาช่วย เพื่อให้ทุกทางออกมันสำเร็จได้ เช่น ภาครัฐควรช่วยน้ำมันให้ถูกลง ปรับราคาค่าโดยสารให้ หรือลดค่าธรรมเนียมต้องจ่ายให้ บขส.