เปิด 7 ความคาดหวัง 50 ซีอีโอ เคลื่อนธุรกิจ 3 ไตรมาส ปี 65
สลิงชอท เผยความเห็น 50 ซีอีโอธุรกิจชั้นนำของเมืองไทย มอง 3 ไตรมาสที่เหลือปี 2565 เชิงบวก ด้านเศรษฐกิจฟื้นตัว ได้เวลาปฏิรูปองค์กรจริงจัง พร้อมต้องการให้พนักงานเข้าออฟฟิศ ระดมสมอง สานเป้าหมายในอนาคต
นางสาวสุทธิโสพรรณ ช่วยวงศ์ญาติ หุ้นส่วนและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มสลิงชอท เปิดเผยว่า จากการสำรวจซีอีโอ 50 องค์กรธุรกิจชั้นนำของเมืองไทย ในเซ็กเตอร์ต่างๆ เช่น ธนาคาร ร้านอาหาร สตาร์ทอัพ และท่องเที่ยว ฯ ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกหัวข้อ “อะไรคือสิ่งที่ CEO คาดหวังในปี 2565” พบ 7 เทรนด์ที่มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ บริหารบุคลากร และการปรับตัวใน 3 ไตรมาสที่เหลือของปี 2565
เทรนด์ที่ 1 เศรษฐกิจจะเติบโตด้วยกำลังและทักษะแรงงานที่จำกัด โดยซีอีโอ 51% มีมุมมองเศรษฐกิจไทยจะพื้นตัวดีกว่าปี 2564 จาก 2-3 ปัจจัย ได้แก่ การฉีดวัคซีนไร้ปัญหา รัฐมีนโยบายเปิดประเทศ การประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น จึงวางทิศทางธุรกิจ กิจกรรมต่างๆจะกลับมาดำเนินดารตามปกติ
แม้ธุรกิจมีสัญญาณบวก แต่สิ่งที่ท้าทายผู้ประกอบการปีนี้คือภาวะต้นทุนสูงขึ้น เงินเฟ้อ การขาดแคลนแรงงาน แรงงานขาดทักษะ ซัพพลายเชนทั่วโลกได้รับผลกระทบ ฯ เป็นความไม่แน่นอนที่จะส่งผลให้การเติบโตปี 2565
“แนวโน้มเศรษฐกิจจะดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่บทเรียนโควิด-19 ปี 2564 ที่เป็นอาฟเตอร์ช็อก ความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้ชะล่าใจไม่ได้”
2.ยุทธศาสตร์ที่ผู้นำต้องโฟกัสจริงจัง คือทรานส์ฟอร์มองค์กรให้สำเร็จเสียที ซึ่งซีอีโอเห็นพ้องถึง 47% เนื่องจากการปฏิรูปองค์กรถูกกล่าวถึง 5 ปี แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ปีนี้จึงต้องลุยทรานส์ฟอร์มด้านเทคโนโลยี ควบคู่ทรัพยากรมนุษย์
3.การทำงานแบบไฮบริดจะกลายเป็นวิธีการทำงานหลัก แต่ผู้นำหลายคนยังคาดหวังให้คนกลับมาสำนักงาน โดยซีอีโอลงความเห็นตรงกัน 100% ต้องการให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศมากกว่า หลังจากโควิด-19 พลิกวิถีการทำงานที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้องค์กรขาดการระดมสมอง ไอเดียสร้างสรรค์ การประสานความร่วมมือ ที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนองค์กรในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แม้ซีอีโออยากให้พนักงานเข้าออฟฟิศทำงานเหมือนเดิม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำงานแบบผสมผสานหรือไฮบริดทั้งที่บ้านและบริษัทเป็นสิ่งที่ต้องมี
4.การสร้างประสบการณ์ให้พนักงาน จะเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานแบบไฮบริดให้สำเร็จ ซีอีโอ 30% มองการเห็นคุณค่าในการทำงานช่วยสร้างประสบการณ์ให้พนักงาน เปิดโอกาสให้มีอิสระทางความคิด มีส่วนร่วมในการคิดมากขึ้น 5.กลยุทธ์เรื่อง “คน” จะถูกทบทวนครั้งใหญ่อีกครั้ง และธุรกิจยังถูกขับเคลื่อน โดย “คน” เป็นหลัก ยุคดิจิทัล เทคโนโลยีมีบทบาทต่อการทำธุรกิจ แต่ซรีอีโอ 70% เห็นว่า “คน” เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องกลับมาให้น้ำหนักมากขึ้น
“วิกฤติโควิดระบาดทำให้ซีอีโอโฟกัสที่ธุรกิจระยะสั้น เพื่อให้องค์กรอยู่รอด จึงหยุดบางกิจกรรม แต่ถึงเวลาแล้วที่ต้องรุกกลยุทธ์ด้านคนรอบใหม่”
6.People Analytic จะถูกใช้ในทุกแง่มุมของธุรกิจ ปี 2565 ซีอีโออยากเห็นการมุ่งเน้นที่จะทำให้เกิดประโยชน์จากข้อมูลเกี่ยวกับคนเกิดขึ้นจริง เช่น รู้ความรู้สึก ความคิดพนักงาน ฯ เพื่อให้องค์กรดูแลพนักงานให้ดีขึ้น และป้องกันการแย่งชิงตัวคนมีความสามารถไปทำงานที่อื่น
ปิดท้ายเทรนด์ที่ 7.Diversity and Inclusion ยังเป็นจุดบอดในองค์กรและสังคมไทย โดยซีอีโอ 49 จาก 50 คน เชื่อว่าองค์กรทำเรื่องความหลากหลายเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมในองค์กร แต่เจาะลึก 99% ยังทำในระดับผิวเท่านั้น
“ซีอีโอส่วนใหญ่มองการทรานส์ฟอร์มเรื่องคนและเทคโนโลยีควบคู่กัน ถึงเวลานำเทคโนโลยีมาสร้างประสบการณ์ให้คนในองค์กร การเพิ่มทักษะพนักงาน การนำดาต้ามาทำความเข้าใจพนักงาน เพื่อรักษาคนไว้ เป็นต้น”