"บอร์ด ก.ต.ท." เห็นชอบไม่อนุญาต บริษัท investment company ขายหุ้นต่อประชาชน 

"บอร์ด ก.ต.ท." เห็นชอบไม่อนุญาต บริษัท investment company ขายหุ้นต่อประชาชน 

"บอร์ด ก.ต.ท." มีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ โดยไม่อนุญาตให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือ บจ.ที่ประกอบธุรกิจในลักษณะบริหารจัดการเงินลงทุน เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ทุกประเภทต่อผู้ลงทุนหรือประชาชน เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ถือหุ้น - ผู้ลงทุน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (บอร์ด ก.ต.ท.)ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 มีมติเห็นชอบหลักการในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ต่อประชาชน

ทั้งนี้เพื่อป้องปรามไม่ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ และบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประกอบธุรกิจในลักษณะการบริหารจัดการเงินลงทุน (investment company) อันเป็นการหลีกเลี่ยงหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ว่าด้วยการประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล ผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (regulatory arbitrage) รวมทั้งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน โดยสรุปดังนี้

(1) กำหนดให้บริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ต่อประชาชนต้องไม่มีลักษณะเป็น investment company ยกเว้นบริษัทที่ประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย เนื่องจากอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจดังกล่าว 

(2) บริษัทที่ถือว่ามีลักษณะเป็น investment company คือ มีการลงทุนในลักษณะที่ไม่มีส่วนร่วมในการบริหาร (passive investment) เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ไม่รวมการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงหรือ hedging) และสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น

รวมกันเกินกว่าร้อยละ 40 ของสินทรัพย์รวมตามงบการเงินรวม ทั้งนี้ ไม่นับรวมการลงทุนเพื่อบริหารสภาพคล่อง เช่น พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ เงินลงทุนในบริษัทร่วมที่ไม่เป็น investment company เงินลงทุนในบริษัทในเครือที่อยู่ภายใต้กลุ่มบริษัทใหญ่เดียวกัน และเงินลงทุนในบริษัทอื่นเพื่อให้เกิด synergy ต่อธุรกิจหลักของบริษัท เป็นต้น

(3) กำหนดให้ บจ. ที่มีการลงทุนประเภท passive investment เกินกว่าร้อยละ 40 ของสินทรัพย์รวม มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าวในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เพื่อใช้ในการติดตามการลงทุนของ บจ.

(4) บริษัทที่ออกหลักทรัพย์และ บจ. ที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้างต้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้สามารถเสนอขายหลักทรัพย์ทุกประเภทที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ต่อผู้ลงทุนหรือประชาชนทั่วไป 

ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้สนใจ และประชาชนเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตและแนวทางการกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวต่อไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์