สงคราม "รัสเซีย-ยูเครน" 3 เดือน ไทยควัก 7.7 หมื่นล้าน อุ้มพลังงาน
จากวิกฤตโควิด-19 กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกมีความผันผวนอย่างหนัก โดยช่วงแรกราคาน้ำมันดิบลดระดับลงเหลือราว 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปัจจุบันขยับขึ้นมาสูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ภายหลังทั่วโลกเริ่มมีการฉีดวัคซีน เศรษฐกิจกลับมาคึกคัก มีการเปิดประเทศ และความต้องการในการใช้พลังงานได้เริ่มมากขึ้น ประเทศไทยได้ใช้กลไกในการพยุงราคาพลังงานจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงพยุงราคาน้ำมันดีเซล ที่มียอดการใช้งานราว 70% จากปริมาณการใช้น้ำมันทั้งประเทศบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมทั้งพยุงราคาก๊าซหุงต้ม (ภาคครัวเรือน) แอลพีจี ในราคา 318 บาท ต่อถัง15 กก. จากราคาจริงกว่า 400 บาทต่อถัง
ทั้งนี้ วันที่ 24 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา รัสเซีย ได้เริ่มมีการใช้กำลังทางทหารในพื้นที่ของยูเครน ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้เริ่มทยอยใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เพื่อตอบโต้ความเคลื่อนไหวของรัสเซียต่อการปฏิบัติการในยูเครน และสร้างความวิตกกังวลให้กับนานาชาติ และส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า หากเป็นไปตามคาดการณ์เมื่อโควิดเบาบางลง ฤดูหนาวผ่านพ้นไป ความต้องการใช้พลังงานที่เคยพุ่งก็จะลดลงในช่วงต้นปี 2565 แต่เนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนรุนแรงขึ้นทำให้วิกฤตดังกล่าวถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตทางด้านพลังงาน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและ LNG เนื่องจากประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางประมาณ 55% และนำเข้าจากรัสเซียเพื่อกลั่นเพียง 5.22 ล้านลิตร/วัน หรือคิดเป็น 3% ของปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมด และในส่วนของ LNG ประเทศไทยนำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 18% จากหลากหลายแหล่ง
รายงานข่าวระบุว่า แม้การนำเข้าน้ำมันและก๊าซ LNG จะไม่มีผลกระทบในเรื่องของปริมาณนำเข้า แต่ในด้านราคาประเทศไทยยังใช้กลไกราคาตลาดโลกที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ส่งผลให้แผนที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าช่วงต้นปีพอหมดฤดูหนาวราคาพลังงานจะลดลง ทั้งนี้ แม้ราคาพลังงานจะพุ่งสูงขึ้น กระทรวงพลังงานยังใช้กลไกเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากที่เคยมีเงินในบัญชีกว่า 30,000 ล้านบาท เริ่มติดลบในช่วงต้นเดือนมี.ค. 2565 ภายหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ทั้งนี้ จากราคาพลังงานที่ผันผวนกองทุนน้ำมันใช้เงินอุดหนุนราคาดีเซลมากสุดราวลิตรละราว 8-10 บาท ราววันละ 600 ล้านบาท โดยเฉลี่ยแต่ละเดือนกองทุนน้ำมันใช้เงินเพื่อพยุงราคาดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท จากราคาขายจริงระดับ 35-40 บาท และเมื่อรวมกับการอุดหนุนก๊าซแอลพีอีเดือนละ 1,800-2,000 ล้านบาท เป็นเงินโดยรวมเดือนละประมาณ 20,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากคำนวณเม็ดเงินที่กองทุนน้ำมันใช้พยุงราคาน้ำมันดีเซลกับก๊าซแอลพีจีรวม 3 เดือน หากนับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนวันที่ 24 ก.พ. 2565 ถึงวันที่ 15 พ.ค. 2565 ใช้เงินไปกว่า 60,000 ล้านบาท และหากนับรวมกับมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.2565 ถึงวันที่ 20 พ.ค. 2565 อีก 17,000 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลได้เม็ดเงินเพื่อพยุงราคาดีเซลกับแอลพีไปแล้ว 77,000 ล้านบาท
เมื่อกองทุนน้ำมันต้องใช้เงินอุดหนุนเดือนละกว่า 20,000 ล้านบาท ส่งผลให้ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน วันที่ 15 พ.ค. 2565 ติดลบแล้ว 72,062 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 37,854 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม LPG ติดลบ 34,208 ล้านบาท โดยมีกระแสเงินสดรวม 13,669 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีเงินฝากธนาคารที่ 2,094 ล้านบาท และบัญชีเงินฝากที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง 11,575 ล้านบาท โดยวันที่ 20 พ.ค. 2565 กองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาดีเซลลิตรละ 8.95 บาท
ทั้งนี้ จากบัญชีกองทุนน้ำมันที่ติดลบมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังอยู่ระหว่างดำเนินการกู้เงินก้อนแรก 20,000 ล้านบาทมาเสริมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมัน ส่งผลให้มติคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้ปรับขึ้นราคาดีเซลลิตรละ 32 บาท และขยายเพดานไว้ที่ไม่เกินลิตรละ 35 บาท เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 ภายหลังจากที่ตรึงราคาไม่เกินลิตรละ 30 บาทมาโดยตลอด และล่าสุดมติกบน.วันที่ 18 พ.ค.ได้คงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 32 บาท จนถึงวันที่ 22 พ.ค. 2565