หน่วยงานเศรษฐกิจหารือสัปดาห์หน้า ใช้เงินกู้-งบกลางฯ ต่ออายุลดค่าครองชีพ

หน่วยงานเศรษฐกิจหารือสัปดาห์หน้า ใช้เงินกู้-งบกลางฯ ต่ออายุลดค่าครองชีพ

สศช.เผยหน่วยงานเศรษฐกิจหารือสัปดาห์หน้า ต่ออายุ – เพิ่มมาตรการลดค่าครองชีพ ลดภาระประชาชนช่วงราคาน้ำมัน – เงินเฟ้อสูง เผยพร้อมใช้งบกลางฯ – เงินกู้ฯ ออกมาตรการช่วยเหลือ เน้นเฉพาะกลุ่ม ส่วนมาตรการคนละครึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะมีหรือไม่ รอดูตัวเลขการบริโภคโดยรวมก่อน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าจากกรณีที่ 10 มาตรการลดค่าครองชีพประชาชนจากผลกระทบของสงครามยูเครน – รัสเซีย ที่รัฐบาลออกมาเป็นเวลา 3 เดือน จะหมดอายุในวันที่ 31 ก.ค.นี้

เบื้องต้นหน่วยงานเศรษฐกิจประกอบไปด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สศช. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศก.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะหารือกันในสัปดาห์หน้าเกี่ยวกับการพิจารณาต่ออายุมาตรการช่วยเหลือ หรือเพิ่มเติมมาตรการต่างๆในการช่วยเหลือ และลดค่าครองชีพประชาชนในช่วงที่ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูง และเงินเฟ้อก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น

หน่วยงานเศรษฐกิจหารือสัปดาห์หน้า ใช้เงินกู้-งบกลางฯ ต่ออายุลดค่าครองชีพ

ทั้งนี้ยังไม่ทราบว่าจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ เพราะต้องสรุปประเภทของมาตรการที่จะออกมา ซึ่งบางมาตรการอาจไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่ในส่วนที่ต้องใช้วงเงินในการช่วยเหลือประชาชนรัฐบาลก็ยังมีวงเงินเพียงพอโดยส่วนหนึ่งมาจากงบกลางรายการสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน หรืองบเงินกู้ฯที่คงเหลืออยู่

โดยปัจจุบันวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯเพิ่มเติม พ.ศ.2564 ยังมีวงเงินคงเหลืออยู่ 4.7 หมื่นล้านบาท ถือว่ายังมีวงเงินเพียงพอโดยไม่ต้องมีการกู้ยืมเงินเพิ่มเติม

สำหรับโครงการคนละครึ่งเฟสที่ 5 เลขาธิการ สศช.กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะดำเนินการหรือไม่ คงต้องมีการหารือกันอย่างรอบครอบว่าจะมีหรือไม่ ถึงแม้ว่ามาตรการคนละครึ่งจะช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชนได้ แต่ก็ต้องดูในเรื่องของข้อมูลการบริโภคของประชาชน และหากจะมีก็ต้องดูขนาดโครงการและช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วยว่าจะออกมาเมื่อไหร่

โดยในช่วงครึ่งหลังของปีมาตรการที่ภาครัฐออกมาควรเป็นมาตรการในการดูแลภาคการผลิต และภาคการท่องเที่ยว เพื่อช่วยเพิ่มระดับการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด

 “ในเรื่องนี้ไม่ต้องการให้เกิดการเข้าใจว่าเป็นมาตรการที่จำเป็นต้องมีต่อเนื่องไป ต้องดูตามความจำเป็น เพราะว่ามาตรการนี้ใช้งบประมาณจำนวนมาก ตอนนี้ต้องดูถึงความจำเป็นว่าต้องมีมาตรการออกมาหรือไม่ โดยดูข้อมูลหลายๆส่วนประกอบกันด้วย”