“IRPC” ดันสัดส่วนผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ พร้อมลุยตลาดอีวี
“IRPC” เพิ่มสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ 52% ในปี 2568 พร้อมลุยตลาดส่วนประกอบแบตเตอรี่-ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต คาดสามารถผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ต้นปี 2570
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยไตรมาสที่ 2 จะอยู่ระดับ 102-ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถือว่าราคาสูงจะยังสูงและคงอยู่อีกระยะยาว การล็อคดาวน์ประเทศของจีนทำให้ปริมาณการผลิตโพลิเมอร์หลายตัวมีแรงกดดันส่วนต่างวัตถุดิบพลังงานพอสมควร นอกจากนี้ ยังมีปัจจัย อาทิ ชิปสมองกลรถยนต์ต่างๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ขาดแคลนไม่เพียงพอต่อการฟื้นตัวต่อความต้องการของโลกที่ส่งผลให้การผลิตภาพอุตสาหกรรมรถยนต์ชะงัก
สำหรับปัจจัยสำคัญของการผันผวนปั่นป่วนเศรษฐกิจของโลกอาทิ ปัญหาโควิด-19 การที่โลกแบ่งแยกและแบ่งขั้ว รวมถึงส่งครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพลังงานทั่วโลกสูงมาก กระทบถึงราคาสินค้าที่สูงขึ้นด้วย ระบบขนส่งของโลกยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ การล็อกดาวน์ของจีนส่งผลให้ supply chain การจัด Traffic การจราจร ทางเรือไม่ปกติ ทั้งนี้ IRPC ได้รับผลกระทบเช่นกันคือ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จำเป็นต้องปรับราคาขึ้นตามแนวโน้มทั่วโลกเมื่อปรับสูงขึ้นเพื่อคุมต้นทุนการผลิต
ทั้งนี้ พันธกิจของ IRPC จะใช้นวัตกรรมตอบโจทย์การใช้ชีวิตในอนาคต กลุ่ม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะไม่ดำเนินการต่างๆ ด้วยตนเอง ส่วนไหนที่หา Partner ธุรกิจได้ก็จะหาเพื่อเกิดประโยชน์ร่วมกัน โดยบริษัท ได้ตั้งเป้าหมาย EBITDA ปี 2025 ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ไปถึง 3.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2030 โดยจะมาจาก New Business อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV)
โดยทั่วโลกได้ให้ความสำคัญเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิต EV และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve ภายใต้แผน การลงทุน EEC เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์กักเก็บพลังงานสำรอง ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว ของ IRPC ที่พร้อมคิดค้น วิจัย พัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ IRPC ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนานวัตกรรมวัสดุและพลังงาน เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทุกรูปแบบในอนาคต การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เป็นก้าวที่สำคัญของ IRPC ที่มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยศักยภาพ ความพร้อม และความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี อาทิ โครงการ Acetylene Black for Li-ion Battery วัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ (Li-ion battery) สำหรับรองรับเทรนด์ EV โดยเพิ่มคุณสมบัติให้มีความพิเศษมากขึ้นในเรื่องความบริสุทธิ์และการนำไฟฟ้าสูง ช่วยลดเวลาการอัดประจุไฟฟ้า กำลังการผลิต 1.2 KTA รวมถึงอุปกรณ์เก็บพลังงานสำรอง (Energy Storage) คาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ต้นปี 2570
โครงการขยายกำลังการผลิต ABS โดยใช้ Agglomeration Technology กำลังการผลิต 9.8 KTA เน้นตลาดกลุ่ม EV, charging station, drone, รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า โครงการนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับ IRPC ในส่วนของการผลิต ABS Powder จากการใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนการผลิต คาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ปลายปี 2568
อย่างไรก็ตาม IRPC วางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) จาก 24% ในปี 2565 เป็น 52% ในปี 2568 และอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนารถยนต์ EV เช่น Battery Separator และ Li-ion Anode รวมถึงได้ร่วมทุนกับบริษัท เจแปน โพลิโพรพิลีนคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ JPP โดยถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 ของบริษัท ไมเท็กซ์ โพลิเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (Mytex Polymers (Thailand) Co. Ltd) รุกตลาดเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ (Polypropylene Compound: PP Compound) ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ IRPC ยังได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษา โดย วิทยาลัยเทคโนโลยี ไออาร์พีซี หรือ IRPCT ร่วมกับบริษัท อรุณพลัส จำกัด หรือ ARUN PLUS พัฒนาหลักสูตรและสนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน EV เพื่อให้นักศึกษาที่สนใจได้มีโอกาสเข้าฝึกงานในบริษัทด้าน EV ของ กลุ่ม ปตท. ที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แล้วในปัจจุบัน เช่น on-ion EV Charging Station หรือ Swap & Go สถานีบริการเปลี่ยนสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์แบบไม่ต้องรอชาร์จ รวมถึงโรงงานผลิต EV ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง ARUN PLUS และ Foxconn