ราคาพลังงานดันเงินเฟ้อเดือนพ.ค.สูง 7.10 %
พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ขยายตัว 7.10 % สูงสุดในรอบ 13 ปี จากราคาพลังงานสูงขึ้น 37.24 % คาดทั้งปีเงินเฟ้ออยู่ที่ 4.5%
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพ.ค. 2565 เท่ากับ 106.62 สูงขึ้น 7.10 % สูงสุดในรอบ 13 ปี สาเหตุหลักมาจากราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้ากลุ่มพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก การยกเลิกการตรึงราคา ก๊าซหุงต้มทำให้ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได และการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) นอกจากนี้ ฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำ
สินค้าสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 7.10 % คือ
1. กลุ่มพลังงาน สูงขึ้น 37.24 % โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นถึง 35.89 % ปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่ากระแสไฟฟ้า สูงขึ้น 45.43% ตามการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนพ.ค.–ส.ค. 2565 และราคาก๊าซหุงต้ม สูงขึ้น 8.00% จากการทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ตั้งแต่เดือนเม.ย.ไปจนถึงเดือนมิ.ย. 2565
2.กลุ่มอาหาร สูงขึ้น 6.18% อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการเลี้ยง ผักสด ราคาเปลี่ยนแปลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ส่วนเครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาปรับขึ้นตามต้นทุน
3. สินค้าอื่น ๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (แชมพู ยาสีฟัน สบู่ถูตัว) ราคาปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากสิ้นสุดโปรโมชั่น นอกจากนี้ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยารีดผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม) ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่ เบียร์ สุรา) ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ขณะที่สินค้าสำคัญอีกหลายรายการราคายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง2.81 %โดยเฉพาะราคาข้าวสาร ราคาปรับลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตมีจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา การศึกษา ลดลง 0.65 % ตามค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ปรับลดลงทุกระดับชั้น เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงเล็กน้อย 0.06% (กางเกงขายาวบุรุษ และเสื้อสตรี) ราคาเปลี่ยนแปลงตามการจัดโปรโมชั่นเป็นสำคัญ
“เงินเฟ้อของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรป ตัวเลขเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก โดยมีสาเหตุจากอุปสงค์ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การตึงตัวของอุปทาน และมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ ทำให้อุปทานไม่สมดุลกับอุปสงค์มากขึ้น สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยยังสูงไม่มากนัก เมื่อเทียบกับประเทศดังกล่าว เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นจากผลของราคาพลังงานและอาหารในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง”นายรณรงค์ กล่าว
นายรณณรงค์ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เดือนมิ.ย. 2565 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีการขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซล การปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้ และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) นอกจากนี้ สินค้าอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ การระงับการส่งออกสินค้าในหลายประเทศ และอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4.0 - 5.0% ค่ากลางอยู่ที่ 4.5% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง