‘พลังงาน-อาหาร’ ดันเงินเฟ้อพุ่ง 7.1%!
ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนพฤษภาคม 2565 เท่ากับ 106.62 (ปี 2562 = 100) สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 7.10 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนพฤษภาคม 2565 เท่ากับ 106.62 (ปี 2562 = 100) สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 7.10 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรป ตัวเลขเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก โดยมีสาเหตุจาก อุปสงค์ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การตึงตัวของอุปทาน และมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ ทำให้อุปทานไม่สมดุลกับอุปสงค์มากขึ้น สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยยังสูงไม่มากนัก
เมื่อเทียบกับประเทศดังกล่าว เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า
ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นจากผลของราคาพลังงานและอาหารในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนนี้ อยู่ที่ร้อยละ 7.10 (YoY) ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้ากลุ่มพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก การยกเลิกการตรึงราคา ก๊าซหุงต้มทำให้ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได และการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) นอกจากนี้ ฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำ จึงมีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 7.10 อย่างไรก็ตาม ข้าวสาร เครื่องนุ่งห่ม
ค่าเช่าบ้าน การศึกษา ราคายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 2.28 (YoY) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สินค้าสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 7.10 (YoY)
• กลุ่มพลังงาน สูงขึ้นร้อยละ 37.24 โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นถึงร้อยละ 35.89 ปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่ากระแสไฟฟ้า สูงขึ้นร้อยละ 45.43 ตามการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนพฤษภาคม–สิงหาคม 2565 และราคาก๊าซหุงต้ม สูงขึ้นร้อยละ 8.00 จากการทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2565
• กลุ่มอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 6.18 อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการเลี้ยง ผักสด
ราคาเปลี่ยนแปลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ส่วนเครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่ม
ไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาปรับขึ้นตามต้นทุน
• สินค้าอื่น ๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (แชมพู ยาสีฟัน สบู่ถูตัว) ราคาปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากสิ้นสุดโปรโมชั่น
นอกจากนี้ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยารีดผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม) ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่ เบียร์ สุรา) ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ขณะที่สินค้าสำคัญอีกหลายรายการราคายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
• กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลงร้อยละ 2.81 โดยเฉพาะราคาข้าวสาร ราคาปรับลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตมีจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา
• การศึกษา ลดลงร้อยละ 0.65 ตามค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ปรับลดลงทุกระดับชั้น
• เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.06 (กางเกงขายาวบุรุษ และเสื้อสตรี) ราคาเปลี่ยนแปลงตามการจัดโปรโมชั่นเป็นสำคัญ
ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.40 (MoM) จากการสูงขึ้นเกือบ
ทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มพลังงาน ผลไม้สด เนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร และของใช้ส่วนบุคคล
และเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ร้อยละ 5.19 (AoA)
สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพฤษภาคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 13.3 (YoY) เป็นการปรับสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ซึ่งมีสินค้ากลุ่มปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง สาเหตุเกิดจาก ราคาพลังงาน ค่าขนส่ง และราคาวัตถุดิบนำเข้า รวมทั้งเงินบาทที่อ่อนค่า และต้นทุนการผลิตอื่น ๆ ขณะที่ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศอยู่ในระดับสูง ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้นร้อยละ 6.5 (YoY) สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง อาทิ สินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์คอนกรีต อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน และอลูมิเนียม ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.7 เทียบกับระดับ 45.7 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับมาตรการบรรเทาค่าครองชีพภาครัฐบางมาตรการได้สิ้นสุดลง และการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยได้ในระยะต่อไป
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เดือนมิถุนายน 2565 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีการขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซล การปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้ และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) นอกจากนี้ สินค้าอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ การระงับการส่งออกสินค้าในหลายประเทศ และอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบร้อยละ 4.0 - 5.0 (ค่ากลางอยู่ที่ 4.5) ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง