รู้จัก "FIRE" พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ เร่งเก็บเงิน ลงทุนหนัก หวังเกษียณก่อน 40 ปี

รู้จัก "FIRE" พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ เร่งเก็บเงิน ลงทุนหนัก หวังเกษียณก่อน 40 ปี

ทำความรู้จัก "FIRE" หรือ Financial Independence, Retire Early พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ โหมเก็บเงิน ลงทุนหนัก หวังมีอิสรภาพทางการเงินเร็ว และเกษียณตั้งแต่อายุ 40 ปี

ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่ เก็บเงินต่อเดือนเกิน 50% รับงานพิเศษควบคู่งานประจำ และลงทุนอย่างหนัก หรือทำทุกอย่างเพราะอยากมีอิสรภาพทางการเงินเร็วๆ และได้เกษียณตัวเองจากการทำงานตั้งแต่อายุ 30-40 ปี คุณอาจเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมทางการเงินที่เรียกว่า "FIRE" เข้าแล้ว

FIRE ย่อมาจาก Financial Independence, Retire Early ที่บังเอิญมาพ้องกับคำว่า “ไฟ” ซึ่งให้ความรู้สึกไม่ต่างกันนัก เพราะ FIRE ใช้นิยามถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หวังมีอิสรภาพทางการเงินเร็วที่มีการวางแผนอย่างแบบเข้มข้น ดุเดือดกว่าคนทั่วไปมาก โดยคนกลุ่มนี้จะใช้ชีวิต และทำงานเพื่อทุ่มเทให้กับการออม และการลงทุนขั้นสูง เพื่อเป้าหมายเกษียณอายุได้เร็วกว่าการเก็บเงิน และแผนเกษียณอายุแบบเดิมๆ 

สำหรับจุดเริ่มต้นของคำว่า FIRE เริ่มเป็นที่รู้จักมาจากหนังสือ Your Money or Your Life โดย Vicki Robin และ Joe Dominguez ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1992 ตามมาด้วยเวอร์ชันที่แก้ไข และปรับปรุงเผยแพร่อีกครั้งในปี 2008 และ ปี 2018

  •  วิถี FIRE แค่ประหยัดไม่พอ! 

สาระสำคัญ ที่ผู้เขียนได้กล่าวในหนังสือคือ FIRE ไม่ใช่แค่การเกษียณอายุก่อนกำหนดเท่านั้น แต่ยังพูดถึงเส้นทางการไปสู่เป้าหมายของ FIRE ที่ต้องให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องอย่างจริงจัง

 1. ควบคุมการใช้จ่าย 

คนกลุ่มนี้จะมีการกำหนดรายจ่ายของตัวเองให้สมเหตุสมผลที่สุด และตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกให้หมด โดยระหว่างทางจะสำรวจตัวเองอย่างละเอียดรอบคอบว่ามีรายจ่ายเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ต่อปี

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพในบริบทของคนไทย เช่น การกำหนดรายจ่ายส่วนตัวของตัวเองที่ 20,000 บาทต่อเดือน หรือเท่ากับ 240,000 บาทต่อปี 

รู้จัก \"FIRE\" พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ เร่งเก็บเงิน ลงทุนหนัก หวังเกษียณก่อน 40 ปี

 2. ลงทุนอย่างชาญฉลาด 

นอกจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่เคร่งครัดแล้ว คนกลุ่มนี้ยังศึกษาการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน หรือทำให้เงินงอกเงยขึ้นได้มากกว่าปกติหรือสม่ำเสมอ เช่น การลงทุนแบบ Passive Investment , การลงทุนใน ตราสารหนี้, กองทุนรวมดัชนี หรือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่มีการจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลที่ดีและต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายที่จะสร้างพอร์ตการลงทุนให้ได้เท่ากับ 25-30 เท่าของรายจ่ายต่อปีของตัวเอง

เช่น ตามตัวอย่างเรากำหนดรายจ่ายของเท่ากับ 240,000 บาทต่อปี เมื่อนำไปคูณกับ 25 จะได้เท่ากับ 6,000,000 บาท หรือถ้าเป็น 30 เท่าก็คือ 7,200,000 เลยทีเดียว

 3. หารายได้เพิ่ม 

อย่างที่บอกไปว่ากลุ่ม FIRE ต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเงินเร็วมาก ดังนั้นจึงมักหาทาง "หาเงินเพิ่ม" หรือ "เพิ่มรายได้" อยู่ตลอดเวลา เช่น การออกไปหางานทำ เพื่อสร้างรายได้ และตั้งใจเก็บออมเงินอย่างหนักให้ได้ 50-80% ของรายได้ แล้วจึงนำเงินดังกล่าวไปลงทุนเพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนต่อเพื่อให้ได้เงินครบตามเป้าหมายภายในเวลาที่รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

รู้จัก \"FIRE\" พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ เร่งเก็บเงิน ลงทุนหนัก หวังเกษียณก่อน 40 ปี

  •  ไลฟ์สไตล์ทางการเงินแบบ FIRE ได้รับความนิยมแค่ไหน ? 

ข้อมูลตามที่ Vox รายงานพบว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา FIRE เริ่มเป็นเป้าหมายทางการเงินของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียลส์ (Millennials) ที่ยอมรับว่ากำลังไล่ตาม FIRE และยอมใช้ชีวิตที่ประหยัดสุดขีดในวัยทำงานเป็นเวลาหลายปี โดยประหยัดค่าใช้จ่ายต่อปีได้ถึง 70% ของรายได้

โดยเป้าหมายคือ เมื่อเงินออมของพวกเขาถึงประมาณ 30 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อปี หรือประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พวกเขาอาจลาออกจากงานประจำหรือ ออกจากงานอย่างถาวร

รู้แบบนี้แล้วหลายคนก็รู้ตัวทันทีว่า FIRE คงไม่ได้เหมาะกับทุกคน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะฟังดูเป็นพฤติกรรมทางการเงินที่สุดโต่ง แต่สำหรับผู้ที่มีเป้าหมายชัดเจน และทำได้อย่างไม่กระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต เป้าหมายทางการเงินไฟลุก สไตล์ FIRE ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการวางแผนการเงินที่ท้าทายศักยภาพของตัวเองได้ไม่น้อย และหากทำได้สำเร็จด้วยแล้วล่ะก็ ปัญหา "แก่ก่อนรวย" ที่น่ากังวล คงไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนกลุ่มนี้

----------------------------------------------------------------

อ้างอิง: Investopedia, Mendetails

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์