“โดมิโน่”ลาม 30 ประเทศ ห้ามส่งออกอาหารซ้ำเติมวิกฤติ
สงครามรัสเซีย-ยูเครน ถือเป็นการจุดชนวนผลกระทบเศรษฐกิจโลกหลายด้าน โดยเฉพาะแนวโน้ม “วิกฤติอาหารโลก” ที่เขย่าความมั่นคงทางอาหาร และกำลังกลายเป็นกระแสผลักดันให้ประเทศผู้ผลิตอาหารออกนโยบาย “ห้ามส่งออก” เพื่อรักษาสมดุลอาหารเพื่อเลี้ยงคนในประเทศ
ดังจะเห็นได้จากประเทศที่ห้ามส่งออกธัญพืชสำคัญและอาหารขณะนี้ นอกจากรัสเซีย-ยูเครนแล้ว ยังมีคาซัคสถานที่จำกัดการส่งออกข้าวสาลีและแป้งสาลี เป็นการชั่วคราว ขณะที่อาร์เจนตินา จำกัดการส่งออกเนื้อวัว ยาวจนถึงปี 2566 และล่าสุดอินเดีย ประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลี
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาระบุว่า ปัจจุบันมีประมาณ 30 ประเทศทั่วโลกได้ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์แล้ว เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชาติของตน (Food Protectionism) และธนาคารโลก คาดการณ์ว่า ปี 2565 ราคาสินค้าทั่วโลกจะปรับตัวสูงขึ้น 37% สูงสุดในรอบ 60 ปี
ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (ศกช.) ได้สรุปประเด็นสำคัญของวิกฤตการณ์อาหารโลก (Global Food Crisis) เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ประกอบด้วยประเด็นที่น่าจับตา เพราะหากพิจารณาแล้ว ประเทศทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัวมากนัก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2563
ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศเป็นแหล่งทรัพยากร โดยเฉพาะข้าวสาลี ปุ๋ย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ผลิตผลกว่า 19-34 ล้านตันจะหายไปในปีนี้ และจะหายถึง 43 ล้านตันในปี 2566 สะท้อนให้เห็นว่า จะส่งผลกระทบต่อปริมาณแคลอรีที่บริโภคของคนกว่า 150 ล้านคน
แม้ที่ผ่านมา โลกจะเคยเผชิญกับวิกฤติอาหารมาแล้วในช่วงปี 2550 - 2551 แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 เป็นเพียงการขาดแคลนสินค้า (Commodity Shock) ขณะที่สถานการณ์ในปี 2565 กำลังเผชิญทั้งการขาดแคลนสินค้าและการขาดแคลนปัจจัยการผลิต (Input Shock) ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายประเทศกังวลว่า หากสงครามยังดำเนินต่อไป จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอย่างมาก เพราะความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นเรื่องที่สำคัญ นอกจากที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อนแล้ว ยังมาเผชิญกับสงครามความขัดแย้งครั้งนี้
สำหรับประเทศไทย ถือเป็นผู้ผลิตอาหารอันดับต้นๆ ของโลก จึงมีความพอพียงของอาหารในการบริโภคภายในประเทศ และหากมองในมุมวิกฤติที่เกิดขึ้น สามารถเป็นโอกาสดีในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารให้เติบโต ในฐานะแหล่งผลิตอาหารสำคัญ หรือ ครัวของโลก
อย่างไรก็ตาม ไทยได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหาร ทั้งระบบ ผ่านกลในรูปคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับด้านนโยบายอาหารของประเทศ โดยดำเนินงานผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านต่างๆ 4 ด้าน คือ1. ด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่
2. ด้านคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร
3. ด้านอาหารศึกษา ให้ความรู้ในการบริโภคอาหารอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ
และ4. ด้านการบริหารจัดการ กฎหมาย โครงสร้างองค์กร และการบริหารงบประมาณ
โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบดูแลด้านการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นต้นทางของระบบการผลิตอาหาร ได้มีการวางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ (BIG DATA) การจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการวางแผนการกระจายสินค้าเกษตรและอาหาร ทำให้ภาครัฐสามารถวางแผนรองรับในสภาวะวิกฤติ
และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมไปถึงการสนับสนุนเกษตรกรทำการเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะเป็นการสร้างการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร เพื่อสร้างความมั่นคงอาหารในท้องถิ่นและลดผลกระทบที่เกิดจากปัญหาโลจิสติกส์อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด -19 สร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรในการรับมือกับสภาวะวิกฤติอย่างยั่งยืนอีกด้วย