อาเซียนถกความมั่นคงทางอาหารรับมือผลจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน
กรมการค้าต่างประเทศร่วมประชุมคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์สินค้าอาหารสำคัญ และประเมินสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค รับมือสถานการณ์โควิด-19 และสงครามรัสเซีย – ยูเครน ที่กระทบต่ออุปทานอาหารทั่วโลก
นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศในฐานะเลขานุการถาวรคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (AFSRB Secretariat) ได้เข้าร่วมการประชุม AFSRB ครั้งที่ 42 เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565 ผ่านระบบ VDO Conference โดยปีนี้กัมพูชาเป็นเจ้าภาพ มีประเทศสมาชิกอาเซียนร่วม 8 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน สำนักเลขานุการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Food Security Information System: AFSIS) สำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co - operation and Development: OECD) เข้าร่วมประชุมด้วย
โดยประเทศสมาชิกอาเซียนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์อาหารสำคัญของอาเซียน 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด น้ำตาล และถั่วเหลือง รวมทั้งคาดการณ์ผลผลิต การบริโภค การค้า และปริมาณสำรองอาหารของภูมิภาคและของโลก อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉพาะสินค้าข้าว เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจส่งผลต่อปริมาณอุปทานสินค้าอาหารในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครนที่เป็นความท้าทายต่อความมั่นคงทางอาหารครั้งใหญ่ของโลก
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบกรอบนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (ASEAN Integrated Food Security: AIFS) และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (Strategic Plan of Action – Food Security: SPA-FS) ปี 2564 – 2568 จากสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเตรียมพร้อมรับมือกับปัจจัยความท้าทายต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว และเพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในภูมิภาคอาเซียนให้ดีขึ้น และผู้แทนจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาได้เชิญชวนสมาชิกอาเซียนที่สนใจเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อแลกเปลี่ยนนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารของสินค้าเกษตร และสินค้าประมงร่วมกันผ่านระบบ VDO Conference ในช่วงปลายปีนี้ด้วย
“การประชุม AFSRB เป็นกลไกความร่วมมือสำคัญของสมาชิกอาเซียนในการเตรียมพร้อมรับมือ และติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในระดับภูมิภาค โดย ในปี 2566 อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม AFSRB ครั้งที่ 43 ต่อไป”
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์