อีอีซี จับมือ 2 ผู้นำเอกชนสวิตเซอร์แลนด์ ยกระดับบุคคลากรและเทคฯ การแพทย์
สกพอ. ลงนามความร่วมมือ "เอบีบี" และ "โรช" ดินหน้าสร้างทักษะบุคลากรขั้นสูง ร่วมพัฒนาระบบออโตเมชั่น โซลูชั่นการจ่ายกระแสไฟฟ้า และสถานีชาร์จอีวี
ต่อยอดสร้างคนตรงความต้องการอุตสาหกรรม 4.0 พื้นที่ อีอีซี คู่ขับเคลื่อนเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูง
วันที่ 13 มิ.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับ บริษัท เอบีบี ออโตเมชั่น จํากัด (ประเทศไทย) บริษัท เอบีบี อิเล็คทริฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (ABB) บริษัท โรช ไทยแลนด์ (Roche) และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรในพื้นที่ อีอีซี ด้านระบบอัตโนมัติ โซลูชั่นการจ่ายกระแสไฟฟ้า และระบบชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์แม่นยำขั้นสูง เพื่อขับเคลื่อนการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง
โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี ลงนามร่วมกับ ผู้บริหาร ABB ผู้บริหาร Roche และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมี นางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ผู้บริหารระดับสูงจาก อีอีซี และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมเป็นสักขีพยาน
โดยบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือจากภาคเอกชนชั้นนำสวิสเซอร์แลนด์ มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้ 1. ความร่วมมือกับ ABB (ABB Electrification และ ABB Automation) อีอีซี และ ABB จะประสานความร่วมมือกัน จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและการพัฒนาความสามารถ(ABB Academy) เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาทักษะบุคลากรในพื้นที่ อีอีซี ในด้านระบบออโตเมชั่น โซลูชั่นการจ่ายกระแสไฟฟ้า และระบบชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าอีวี
โดยจะมีการจัดสาธิตทักษะใหม่ๆ และฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในพื้นที่ อีอีซี อาทิ อีอีซี ซิลิคอน วัลเล่ย์ เทคพาร์ค จังหวัดระยอง (Tech Park) ศูนย์ธุรกิจ เอบีบี ระยอง จังหวัดระยอง (ABB RBC) และในพื้นที่ศูนย์นวัตกรรมเอบีบี บางปู จังหวัดสมุทรปราการ (ABB Innovation Center) และได้ตั้งเป้าหมายให้เกิดบุคลากรทักษะสูงไม่น้อยกว่า 1,000 คน ในระยะเวลา 2 ปี สร้างตำแหน่งงานตรงความต้องการอุตสาหกรรม 4.0 ในพื้นที่ อีอีซี
2.ความร่วมมือกับ Roche และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อีอีซี พร้อมด้วย ศิริราช และ บริษัท โรช ไทยแลนด์ จะร่วมกันผลักดันการใช้เทคโนโลยีการตรวจทางการแพทย์ขั้นสูง มาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอีอีซี จะสนับสนุนประสานงานกับพันธมิตร ได้แก่ ศิริราช และบริษัท Roche เพื่อนำเอาเทคโนโลยีระดับโลกด้านการถอดรหัสพันธุกรรมจากชิ้นเนื้อมะเร็งมาใช้เพื่อเลือกแผนการรักษามะเร็งได้อย่างแม่นยำและให้ผลการรักษาที่ดี
โดยข้อมูลที่ได้จากความร่วมมือนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนให้เทคโนโลยีการตรวจรักษามะเร็งแบบแม่นยำและจำเพาะบุคคลแพร่หลาย และประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้
นายเจียนอันเดร-อะ บรุซโซเน กรรมการบริษัท ABB Electrification กล่าวว่า ทาง ABB มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งอนาคตมาอย่างต่อเนื่อง โดยการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ABB มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมกับ อีอีซี จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและการพัฒนาความสามารถ สนับสนุนการสร้างทักษะบุคลากรชั้นสูง โดยเฉพาะในด้านระบบออโตเมชั่น โซลูชั่นการจ่ายกระแสไฟฟ้า และระบบชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าอีวี ซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญของ ABB เพื่อเตรียมบุคลากรรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี พร้อมทั้งขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล 5G ที่เป็นหัวใจสำคัญผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0
ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ในฐานะสถาบันการแพทย์และสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศไทย ที่ได้ศึกษาวิจัยและให้บริการผู้ป่วยมะเร็งด้วยหลักการแพทย์แม่นยำมากว่า 5 ปี มีการใช้เทคโนโลยีถอดรหัสพันธุกรรมรุ่นใหม่กับโรคมะเร็งทั้งจากชิ้นเนื้อและเลือดของผู้ป่วยมะเร็งเพื่อให้การวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งที่ถ่ายทอดได้ในครอบครัว และค้นหายีนก่อมะเร็งที่กลายพันธุ์และมียารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า ซึ่งออกฤทธิ์ได้ตรงจุด ส่งผลให้การรักษามะเร็งได้ผลดีขึ้น มีผลข้างเคียงลดลง ผู้ป่วยมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการประสานองค์ความรู้การวิจัยและการบริการของศิริราช เข้ากับผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกด้านการตรวจยีนแบบครอบคลุมจากชิ้นเนื้อมะเร็งที่เรียกว่า (Comprehensive Genomic Profiling: CGP) และเวชภัณฑ์ในการรักษามะเร็ง โดยการสนับสนุนจาก อีอีซี เพื่อผลักดันให้มีการตรวจพันธุกรรมของมะเร็งอย่างกว้างขวาง ผู้ป่วยและสถานพยาบาลต่าง ๆ สามารถเข้าถึงการตรวจดังกล่าวได้สะดวกขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องส่งไปตรวจยังต่างประเทศและเข้าถึงยามะเร็งรุ่นใหม่ได้มากขึ้น
นายฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว กล่าวว่า โรช ไทยแลนด์ ภูมิใจที่ได้นำเทคโนโลยีการตรวจยีนมะเร็งแบบครอบคลุม ที่ได้มาตรฐานระดับโลกมาสู่ประเทศไทย เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าใจความหลากหลายของรูปแบบการกลายพันธุ์ของยีนมะเร็งได้ดียิ่งขึ้น มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันกับศิริราช และ อีอีซี เพื่อขยายโอกาสให้ผู้ป่วยมะเร็งได้เข้าถึงนวัตกรรมการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล (Personalized Healthcare) อันได้แก่ การตรวจวินิจฉัยยีนกลายพันธุ์ที่รวดเร็วยิ่งกว่าเดิม และต่อยอดไปสู่ตัวเลือกการรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted therapy) และยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมการแพทย์ เพื่อนำมาซึ่งความเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการรักษาโรคมะเร็ง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต การศึกษาวิจัยและข้อมูลที่ได้จะมีส่วนช่วยกำหนดทิศทางการดำเนินงานของระบบดูแลสุขภาพของประเทศไทยให้พร้อมรองรับความต้องการด้านการรักษาแบบจำเพาะบุคคลของผู้ป่วยในประเทศและนานาชาติ
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวทิ้งท้ายว่า ความร่วมมือฯ ในวันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ และดึงนักลงทุนชั้นนำจากสวิสเซอร์แลนด์ในอุตสาหกรรม 4.0 ที่จะเกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี รวมทั้งความร่วมมือส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง โดยเฉพาะการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งจะสนับสนุนการศึกษา และพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน ที่จะช่วยให้คนไทยได้เข้าถึงการรักษาที่แม่นยำ ลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง คนไทยได้เข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีด้านการแพทย์ชั้นสูง และยกระดับบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างยั่งยืน