ไทยย้ำแบรนด์ครัวของโลก ฝ่าวิกฤติอาหาร(ไม่)มั่นคง

ไทยย้ำแบรนด์ครัวของโลก  ฝ่าวิกฤติอาหาร(ไม่)มั่นคง

สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกที่อยู่ในภาวะล่อแหลมหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารจะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้จริงหรือไม่ หลังจากหลายประเทศประกาศงดส่งออกสินค้าอาหาร ล่าสุด คือมาเลเซีย ที่ระงับการส่งออกไก่ เดือนละ 3.6 ล้านตัว

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจรมีมุมมองต่อสถานการณ์นี้ไว้อย่างน่าสนใจ

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า  เป็นโอกาสที่ดีในการสร้างแบรนด์ของประเทศไทยเป็น “ครัวของโลก” มีศักยภาพด้านการผลิตอาหารและผลิตอาหารให้กับคนไทยได้อย่างเพียงพอ ช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารในทุกช่วงเวลา โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ และยังมีขีดความสามารถในการผลิตและส่งออกอาหารไปต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการผลิตเนื้อไก่ในปริมาณที่สูงกว่าความต้องการบริโภคในประเทศประมาณ60-70% 

สำหรับ ซีพีเอฟ มีความพร้อมในการส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าไก่ไปสิงคโปร์ จากการที่ผลิตภัณฑ์ของซีพีเอฟมีคุณภาพสูง ปลอดภัย ได้มาตรฐานระดับสากล และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก จากการที่มาเลเซียหยุดการส่งออกไก่เพื่อดูแลการบริโภคในประเทศ ซีพีเอฟได้รับการติดต่อจากสิงคโปร์เพื่อนำเข้าสินค้าเนื้อไก่เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนปริมาณที่หายไป

“ที่ผ่านมา ระยะทางที่ใกล้กันทำให้สิงคโปร์นำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อไก่จากมาเลเซียได้สะดวกกว่า อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ส่งผลให้สิงคโปร์ ต้องจัดหาและนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อไก่จากแหล่งผลิตหลายประเทศ เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ “

ทั้งนี้ คาดว่า ต่อจากนี้ไป สิงคโปร์มีแนวโน้มในการกระจายความเสี่ยงในการหาแหล่งผลิตสินค้าเนื้อไก่จากทั่วโลก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประชาชน ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเนื้อไก่ที่สำคัญ ที่มีห่วงโซ่การผลิตที่มั่นคงตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สามารถผลิตสินค้าเนื้อไก่ได้อย่างต่อเนื่องและในปริมาณที่สูงกว่าความต้องการบริโภคในประเทศ ช่วยให้สามารถรองรับการส่งออกไปสิงคโปร์ได้

สำหรับต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะ “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ปรับขึ้นมากที่สุดประมาณ 15% จากความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ทั่วโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 8.5 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) และปรับขึ้นเป็น 13 บาทต่อกก.

“ราคาเนื้อไก่ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ราคาพลังงาน มาจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้หลายประเทศประสบปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร ส่งผลให้ผู้ผลิตอาหารหลายประเทศ ออกนโยบาย “ห้ามส่งออก” เพื่อรักษาสมดุลอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ

ขณะที่ประเทศไทยมีห่วงโซ่การผลิตอาหารที่สามารถพึ่งพาการผลิตภายในประเทศได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ส่งผลให้ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการผลิตเนื้อไก่ในปริมาณที่สูงกว่าความต้องการบริโภคภายในประเทศและสามารถรองรับความต้องการนำเข้าเนื้อไก่ที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยในการผลักดันปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่เพิ่มขึ้น และคาดว่าปีนี้ ซีพีเอฟจะมีสัดส่วนการส่งออกเนื้อไก่คิดเป็น 25% ของปริมาณส่งออกรวมของประเทศ

จากความมั่นใจของภาคเอกชนที่แสดงความพร้อมการยึดตำแหน่ง“ครัวของโลก”มาเป็นของประเทศไทยจะสามารถทำให้วิกฤติครั้งนี้กลายเป็นโอกาสที่ไม่เพียงประโยชน์ด้านการค้าเท่านัั้นแต่หมายถึงการร่วมดูแลมนุษยชาติให้ผ่านความยากลำบากนี้ไปให้ได้ร่วมกัน