"กฟผ." เร่งแผนโซลาร์ลอยน้ำไฮบริด กำลังผลิตเกิน 1 หมื่นเมกะวัตต์
กฟผ. เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ดันสัดส่วนโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดกว่า 10,000 เมกะวัตต์ เร่งเป้าหมายลดการปลดปล่อยคาร์บอน ชี้ปี 2567 ดันสถานีชาร์จอีวี รองรับการชาร์จไฟกว่า 1 ล้านคัน
ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานรัฐวิสาหกอจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน ได้กำหนดเป้าหมายผลักดันประเทศไทยที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด
โดยตั้งเป้าลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 โดย กฟผ. ได้กำหนดนโยบายและตั้งเป้าหมายของ กฟผ. เพื่อมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า เพื่อรองรับทิศทางพลังงานทดแทนของประเทศ กฟผ. จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด มากกว่า 10,000 เมกะวัตต์ จากเดิมที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) มอบหมายให้ กฟผ. ผลิตโซล่าร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด จำนวน 2,725 เมกะวัตต์ จำนวน 16 โครงการทั่วประเทศ
“จากสถานการณ์ปัจจุบันถือว่าจำนวน 2,725 เมกะวัตต์ ยังน้อยเกินไป การที่กฟผ. มีแนวคิดเสนอเพื่อขอทำมากกว่า 10,000 เมกะวัตต์ นั้น นอกจากจะตอบรับกับเทรนด์พลังงานสะอาดแล้ว ในเรื่องของเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในอนาคตจะมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นและยังมีแนวโน้มราคาที่ถูกลงด้วย”
อย่างไรก็ตาม ภายหลังโครงการนำร่องที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ที่ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) โดยมี บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทคู่สัญญา เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 ช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณปีละ 47,000 ตัน ถือเป็นการตอบโจทย์พลังงานสะอาดช่วยลดภาวะโลกร้อน
สำหรับความคืบหน้าโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ แห่งที่ 2 อยู่ระหว่างดำเนินโครงการคือ การออกประกาศประกวดราคาวันที่ 24 ธ.ค. 2564 เปิดขายเอกสารระหว่างวันที่ 4 ม.ค. - 15 ก.พ. 2565 เปิดซองเทคนิควันที่ 22 เม.ย. 2565 โดยคาดว่าจะสามารถสรุปผลการยื่นข้อเสนอในช่วงเดือน ก.ค. 2565 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อจัดทำหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ในช่วงเดือน ส.ค. 2565 ทั้งนี้ หากเป็นไปตามเป้าหมายจะใช้เวลาก่อสร้าง 12 เดือน โดยจะสามารถ COD ได้ในช่วงเดือนส.ค. 2566
ทั้งนี้ กฟผ. ได้กำหนดทิศทางการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน รวมถึงมุ่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) เพื่อรับมือกับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบมากขึ้นและทำให้ระบบไฟฟ้ามีความซับซ้อน เนื่องจากความไม่แน่นอนของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน แต่ก็สร้างโอกาสในการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) ซึ่งจะช่วยรองรับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนและช่วยยกระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม กฟผ. มีแผนพัฒนาศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พร้อมทีมวิจัยพัฒนาในการการปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น สถานีไฟฟ้าแรงสูงดิจิทัล ศูนย์ควบคุมสั่งการตอบสนองด้านโหลด ระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ และโรงไฟฟ้าเสมือน เพื่อให้พลังงานหมุนเวียนมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อไปสู่เป้าหมายในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า การก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค และเพื่อสนับสนุนการเติบโตของตลาดพลังงานหมุนเวียน กฟผ.ได้สร้างการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าข้ามพรมแดน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการนำพลังงานหมุนเวียนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบไฟฟ้า และเป็นภารกิจลำดับต้นๆ ของ กฟผ.
สำหรับสถานการณ์ด้านราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ประชาชนที่ใช้รถยนต์หันไปใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลในปี 2563 พบว่า ประเทศไทย มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มขึ้น 30% ถือว่าสอดรับกับเป้าหมายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของภาครัฐตามนโยบาย 30@30 ที่จะมีการใช้รถไฟฟ้า 30% ในปี ค.ศ.2030
ในส่วนของ กฟผ. เองก็ได้ให้ความสำคัญและเตรียมพร้อมกับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบ Fast charging และ Normal charging ซึ่งในปี 2567 จะมีความพร้อมที่จะสามารถรองรับการใช้งานได้พร้อมกัน 6 แสนคัน นอกจากนี้ หากมีการบริการจัดการช่วงเวลาการใช้งานชาร์จไฟฟ้าให้ดี เช่น แบ่งช่วงเวลาการชาร์จกลางวัน 50% และแบ่งเวลาการชาร์จกลางคืน 50% จะทำให้สามารถรองรับการชาร์จได้กว่า 1 ล้านคัน
“หากในอนาคตจำนวนรถ EV เพิ่มมากขึ้น กฟผ.ยังได้จัดทำในเรื่องของ EGAT’s Smart Charging Platform เพื่อให้ผู้ใช้งานรถ EV สามารถเข้าใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มเพื่อจัดคิวการชาร์จไฟฟ้า และที่สำคัญ ยังช่วยลดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตด้วย”