“ฮ่องกง”ขู่เมินลงทุนอีอีซี หลังถูกโกงส่งออกถุงมือยาง
สำนักข่าว CNN ได้รายงาน เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2564ว่าวงการถุงมือยางไทยไม่ได้มาตรฐาน และนักลงทุนถูกหลอก ส่งผลให้กระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่น โรงงานผลิตถุงมือยางขนาดเล็กที่คำสั่งซื้อชะลอตัว บางรายต้องถูกระงับการส่งออก
อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เปิดเผยว่า ปัญหาดังกล่าว ได้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานแล้ว และที่ประชุมได้มอบหมายให้ร่วมกันแก้ปัญหาและหาทางออกเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมยางพาราและการลงทุนในประเทศไทย
“ ผมคิดว่าหากเหตุการณ์บานปลายต่างชาติไม่นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ก็จะส่งผลกระทบไปถึงเกษตรกรชาวสวนยางได้ เพราะยางดิบถือเป็นต้นน้ำ ขณะที่โรงงานแปรรูปน้ำยางข้น เป็นกลางน้ำ และสุดท้ายคือ ส่งออกถุงมือยางเป็นปลายน้ำ ดังนั้นหากปลายน้ำเสียหายไม่ได้รับความเชื่อถือ ก็จะส่งผลกระทบมาถึงต้นน้ำในที่สุด”
ทั้งนี้ นักธุรกิจที่ได้รับความเสียหายจากขบวนการนายหน้าหลอกขายถุงมือยาง ขณะนี้พบว่า มีหลายบริษัท แต่บริษัท เอช แอนด์เอช เมดิคอล ซับพลาย จำกัด ซึ่งเป็นของนักธุรกิจชาวฮ่องกงได้รับความเสียหายมากกว่า100 ล้านบาทและได้แจ้งความดำเนินคดีกับขบวนการนายหน้าที่หลอกขายถุงมือยาง โดยขณะนี้รออัยการสั่งฟ้อง
เฮเล็น ฉ่าง ประธานบริษัท บริษัท เอช แอนด์เอช เมดิคอล ซับพลาย จำกัด จาก ฮ่องกง กล่าวว่า รู้สึกขาดความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจกับประเทศไทย เดิมตั้งแต่ใจจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ดังนั้น เมื่อปี 2563บริษัทจากสหรัฐได้ติดต่อเพื่อให้สั่งซื้อถุงมือยางก็มองมาที่ประเทศไทยเป็นอันดับแรก จนได้ทำสัญญาสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทในไทยมูลค่า 80 ล้านบาท จำนวนสินค้า 2 ล้านกล่อง และได้ชำระค่ามัดจำสินค้าล่วงหน้าไป จำนวน 62 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดส่งมอบกลับได้สินค้าเพียง 4 หมื่นกล่อง และสินค้าไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนั้นยังพบว่า สินค้าใช้ใบรับรองมาตรฐานปลอม ทำให้ถูกเก็บไว้กักไว้ที่สหรัฐ
“ ขณะที่ติดต่อสั่งซื้อได้ตรวจสอบทั้งสินค้าและโรงงานโดยบริษัทได้โชว์เอกสารหลักฐานทุกอย่างแต่เมื่อส่งสินค้าส่วนหนึ่ง นอกจากไม่ได้มาตรฐานแล้วยังไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามข้อตกลงสัญญาที่ตกลงกันไว้"
เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความกังวลเรื่องความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และส่งผลต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย
วิทยา ผุดผาด ทนายความ บริษัท เอช แอนด์เอช เมดิคอล ซับพลาย จำกัด ได้กล่าวว่า ความคืบหน้าของคดีว่า บริษัท เอชแอนด์เอชฯ ได้แจ้งดำเนินคดีกับกลุ่มนายหน้าและ บริษัทผู้ถูกกล่าวหาแล้วทั้งสองคดี โดยแจ้งความคดีในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีการนำความอันเป็นเท็จเข้าสู่คอมพิวเตอร์
คดีที่ 1 มีพฤติการณ์การร่วมกันฉ้อโกง กล่าวคือ กลุ่มนายหน้าและบริษัท ผู้ถูกกล่าวหาโชว์สินค้า และโรงงานโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ทางคอมพิวเตอร์ว่า มีถุงมือยางไนไตรพร้อมส่งออกส่งออกได้ภายใน 7 - 14 วัน บริษัทเอช แอนด์เอชฯ หลงเชื่อจึงได้ทำสัญญาสั่งซื้อจำนวน 1 ล้านกล่อง เป็นเงิน 205ล้านบาท และได้โอนมัดจำ 30% เป็นเงิน 61 ล้านกว่าบาท บริษัท ผู้ถูกกล่าวหาตกลงจะส่งสิ้นค้าให้ภายใน 7 - 14 วัน หลังจากตรวจสอบคุณภาพสินค้าผ่าน (SGS) แต่เมื่อถึงกำหนดตรวจสอบคุณภาพสินค้า ปรากฏว่าบริษัทผู้ถูกกล่าวหามีสินค้าให้ตรวจสอบเพียง 1,410 กล่อง และเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานไม่ผ่านการทดสอบ
เมื่อบริษัทผู้เสียหายติดตาม ก็ได้มีการส่งสินค้าให้เพียงบางส่วนจำนวนประมาณ 4หมื่นกล่อง ในช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค. 2564 ซึ่งตรวจสอบหลักฐานเอกสารการส่งออกพบว่าไม่ตรงกับบริษัทส่งออกแต่เป็นหลักฐานเอกสารการส่งออกของประเทศเวียดนาม ทำให้บริษัทผู้เสียหายไม่อาจส่งสินค้าเพื่อขายให้กับลูกค้าต่อได้ ขณะนี้สินค้ายังคงค้างอยู่ในสต็อกไม่สามารถนำออกไปขายได้
คดีที่ 2 มีพฤติการณ์การร่วมกันฉ้อโกง กล่าวคือ กลุ่มนายหน้าและบริษัท ผู้ถูกกล่าวหาโชว์สินค้า และโรงงานโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ทางคอมพิวเตอร์ว่า มีถุงมือยางไนไตรพร้อมส่งออกจำนวน 7 หมื่นกล่อง ส่งออกได้ภายใน 7 - 14 วัน หลังจากทำคำสั่งซื้อและโอนเงินระหว่างประเทศชำระค่าสินค้า 100% บริษัทเอช แอนด์เอชฯ หลงเชื่อจึงได้ทำคำสั่งซื้อจำนวน 7 หมื่นกล่อง และโอนเงินชำระค่าสินค้าจำนวน 7 ล้านบาท แต่เมื่อถึงกำหนดส่งสินค้าบริษัท ผู้ถูกกล่าวหากลับอ้างว่าสินค้ามีปัญหาในเรื่องการตรวจสอบคุณภาพสินค้า (SGS) ทำให้การส่งสินค้าล่าช้า
หลังจากนั้นทางกลุ่มนายหน้าและบริษัทผู้ถูกกล่าวหาได้โชว์สินค้าและกล่าวอ้างว่ามีสินค้าอีกประมาณ 5 แสน กล่อง ซึ่งเป็นของลูกค้าชาวเกาหลีหากบริษัทผู้เสียหายสนใจจะเอามาขายให้กับบริษัทผู้เสียหายก่อน แต่จะต้องโอนเงินมัดจำ 50% บริษัท ผู้ถูกกล่าวหาตกลงจะส่งสินค้าให้ภายใน 7 - 14 วัน บริษัทผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้สั่งซื้อไปอีก 538,000 กล่อง เป็นเงิน 110 ล้านบาทและได้โอนมัดจำ 50% เป็นเงิน 55 ล้านกว่าบาท เมื่อถึงกำหนดจัดส่งสินค้าปรากฏว่าบริษัทผู้ถูกกล่าวหาไม่มีสินค้าให้กับบริษัทผู้เสียหาย ผัดผ่อนบายเบี่ยงเรื่อยมา
“สรุปความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัท เอช แอนด์เอชฯ เสียหายกว่า 120 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างสรุปสำนวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ว่าจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ คดีนี้ถือว่าสร้างความเสียหายต่อวงการอุตสาหกรรมยางเมืองไทยมาก”
ชัยโรจน์ ธรรมรัตน์ เลขาธิการสมาคมนักวิชาการยางและถุงมือยาง กล่าวว่า ปัญหาถุงมือยางขาดความเชื่อถือ เนื่องจากขาดระบบการจัดการที่ดี ขาดการดูแล จากภาครัฐอย่างทั่วถึง ดังนั้นการช่วยเหลือ ของรัฐ มักจะมุ่งช่วยเหลือไปยังผู้ผลิตถุงมือที่มีโรงงานขนาดใหญ่ มีกำลังผลิตมาก โรงงานเหล่านี้มีผลกระทบน้อยไม่เดือดร้อน เพราะมีลูกค้าประจำคำสั่งซื้อระยะยาวอยู่ในมือแล้ว แต่โรงงานผลิตถุงมือยางธรรมชาติขนาดเล็ก ได้รับผลกระทบมาก ส่งออกไม่ได้