ถอดสูตรสำเร็จ Studio Dragon สู่ช่อง 3 ปลดล็อกการผลิตคอนเทนต์ลุยโลก
ความพยายามครั้งใหม่ของ "ช่อง 3" กับการปั้น "บีอีซี สตูดิโอ" ที่ขอนำบทเรียนความสำเร็จของยักษ์ใหญ่ "Studio Dragon" มาปลดล็อกการผลิตคอนเทนต์ไทย คิดใหญ่ ระดับโลก เพื่อทะลวงขุมทรัพย์คอนเทนต์เสิร์ฟแพลตฟอร์มโอทีทีมูลค่ามหาศาล
หากใครชื่นชอบการดูซีรีย์เกาหลีผ่านแพลตฟอร์มโอทีที(Over The Top)ยักษ์ใหญ่อย่าง Netflix จะรู้ดีว่าเจ้าแห่งผู้ผลิตคอนเทนต์(Content Provider)ต้องยกให้สตูดิโอ ดราก้อน(Studio Dragon) ซึ่งอยู่ใต้อาณาจักรของสื่อบันเทิงอย่าง CJ Entertainment หนึ่งในบริษัทของ CJ Group มีศักดิ์ศรีเป็นถึงกลุ่มบริษัทใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในประเทศเกาหลีใต้(Chaebol)
ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์ เชื่อว่าหลายองค์กรย่อมอยากเดิยรอยตาม Studio Dragon เพราะไม่เพียงสร้างสรรค์ซีรีย์จนโด่งดัง แต่บริษัทสามารถทำเงินเติบโตอย่างรวดเร็ว และประสบความสำเร็จในตลาดโลก
หากเช็กลิสต์ซีรีย์จาก Studio Dragon มีมากมาย เช่น Crash landing on you, My mister, Start up Ghost Doctor, Twenty-five, Twenty-one, Our Blues และ Eve เป็นต้น
ทว่า ความสำเร็จไม่มีสูตรให้ลอก! แต่ผู้ผลิตสามารถถอดบทเรียน เพื่อนำไปประยุกต์ พัฒนากับองค์กรของตัวเองได้
ช่อง 3 หรือ “บีอีซี เวิลด์” คืออาณาจักรสื่อและความบันเทิงยักษ์ใหญ่ไทยอยู่ภายใต้ตระกูล “มาลีนนท์” ในยุคเฟื่องฟู สามารถสร้างรายได้เป็น “หมื่นล้านบาท”
แต่ปัจจุบันบริบทธุรกิจสื่อเปลี่ยนรุนแรงมาก จากพายุดิจิทัลถาโถม และการทรานส์ฟอร์มทีวีอนาล็อกสู่ทีวีดิจิทัลด้วยการประมูลแสนแพง สวนทางกับผู้คนดูรายการผ่านทีวีออกอากาศสดลดลง และย้ายไปเสพสื่อ คอนเทนต์โปรดผ่านออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้สื่อดั้งเดิมรายได้หดหายอย่างหนัก การปรับตัวเพื่ออยู่รอดในยุคท้าทาย เกิดขึ้นต่อเนื่อง
ช่อง 3 เคลื่อนธุรกิจเกิน 50 ปีแล้ว พลิกหลายกระบวนท่า ปรับหลาย “แม่ทัพ” ทว่า แผนธุรกิจครั้งใหม่น่าจับตา เพราะมีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ผลิตคอนเทนต์เต็มสูบ ภายใต้ “บริษัท บีอีซี สตูดิโอ จำกัด”
พร้อมกันนี้ได้ อภิชาติ์ หงษ์หิรัญเรือง มานั่งกรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจ บีอีซี สตูดิโอ ได้ 1 ปีแล้ว ซึ่งเจ้าตัวมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับ “CJ” ผ่านบริษัทร่วมทุนระหว่างทรูกับ CJ E&M อย่าง “ทรูซีเจครีเอชั่น” เพื่อสร้างสรรค์ซีรีย์ ละครมาก่อน
บ้านหลังใหม่ “อภิชาติ์” มีภารกิจสำคัญเคลื่อนบีอีซี สตูดิโอ สู่การปลดล็อกศักยภาพการผลิตคอนเทนต์
“ระหว่างทางเกือบ 1 ปี วางแผนงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนบริษัทใหม่ ซึ่งมีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์คอนเทนต์เพื่อเปิดตลาดต่างประเทศมากขึ้น”
การทำงานกับ CJ ทำให้ได้องค์ความรู้ติดตัว และการหารือกับพันธมิตรต่างประเทศจำนวนมาก การตั้งคำถาม..ทำไม? คอนเทนต์ของเกาหลีใต้พัฒนารุดหน้าเร็วมาก และอะไรทำให้คอนเทนต์เกาหลีทรงอิทธิพลในตลาดโลก
คำตอบที่ได้ ไม่ใช่แค่ “ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุน” แต่การมีสิ่งอำนวยความสะดวก(Facilities)เป็นหัวใจสำคัญมาก
“จากแดจังกึมจุดพลุ(ออกอากาศปี 2546)วันนี้ซีรีย์เกาหลีพัฒนาไปเร็วมากโดยมีคนดูเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญด้วย ทำให้ผู้ผลิตพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ขณะที่ประสบการณ์ทำซีรีย์(Voice, Unlucky Ploy เวอร์ชั่นไทย) เกิดการศึกษาหาความรู้ เกิดไอเดียว่าหากต้องยกระดับคอนเทนต์ไทยไปต่างประเทศ ต้องมีองค์ประกอบหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือสิ่งอำนวยความสะดวก”
เมื่อมีเป้าหมายลุยตลาดคอนเทนต์โลกซึ่งมีมูลค่ามหาศาล จากการเกิด “โอทีที” แต่จะไปขายซีรีย์ ละคร ภาพยนตร์ให้คนทั้งโลกดู หากบริษัทมี “จุดอ่อน” ต้องกำจัด เพื่อ “ปลดล็อกข้อจำกัด” ที่มี 4 องค์ประกอบนำไปสู่การผลิตคอนเทนต์จึงคิกออฟ
1.ทุ่มทุน 400 ล้านบาท พัฒนาและปรับโฉมสตูดิโอหนองแขมบนเนื้อกว่า 72 ไร่ มีการสร้างตูดิโอสำหรับถ่ายทำ(Sounstage Studio)จำนวน 6 สตูดิโอ หลากไซส์ ทั้งขนาด 2,000 ตารางเมตร(ตร.ม.)จำนวน 2 สตูฯ 1,500 ตร.ม. จำนวน 2 สตูฯ และ 800 ตร.ม. อีก 2 สตูดิโอ
Soundstage Studio จะทลายข้อจำกัดเดิมๆในการถ่ายทำละคร ซีรีย์ของช่อง 3 ซึ่งแต่ละเรื่องกินเวลาถ่ายทำนาน 7-8 เดือน เพราะต้องพึ่งพิงสถานที่ถ่ายจริง ซึ่งนับวันการเช่าโลเกชั่นแพงขึ้นเรื่อยๆ รอแสง สี กลางวัน กลางคืน จึงกินเวลาถ่ายต่อวันถึง 10 ชั่วโมง(ชม.) ระยะเวลาทั้งหมดเมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ใช้เวลา 90-120 วันเท่านั้น
การ “ลดระยะเวลา” ในการถ่ายทำ ไม่เพียงทำให้สร้างสรรค์ผลงานต่อปีได้มากขึ้น แต่ยังช่วย “ลดต้นทุน” ได้อีกมหาศาล
2.คิด เขียนบทต้องสากล เพราะคอนเทนต์ต้องขายให้คนดูทั่วโลก การยกเครื่องด้านนี้ “อภิชาติ์” ได้ร่วมกับ 12 สถาบันการศึกษานำหลักสูตรไปถ่ายทอดให้นักศึกษา เพื่อวางรากฐานการคิดเป็นระบบสู่การคิดแบบสากล ริเริ่มโครงการ BEC Creator Program คัด 35 จาก 600 คนมาเวิร์คช้อป ทำให้สกรีนคนหลากอาชีพมาร่วมงาน เช่น สถาปนิก ศัลยแพทย์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การจะคิด เขียนบทได้ระดับโลก ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงเชิญ “กูรู” จากหลายประเทศมาถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งด้านการวิเคราะห์ตัวละคร การเล่าเรื่องแบบสากล การไล่เส้นเรื่องสู่ความเสี่ยง ไปจนถึงไคลแม็กซ์ ฯ
“สร้างบ้านต้องมีแบบ สร้างละครต้องมีบท บทคือหัวใจสำคัญ จึงนำสิ่งที่เรียนรู้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เชิญคนเขียนบทต่างชาติช่วยพัฒนาให้งานเรามีคุณภาพเทียบเท่าสากล”
บีอีซี สตูดิโอประเดิมผลิตละคร 3 เรื่อง มือปราบกระทะรั่ว, เกมโกงเกมส์, ร้อยเล่ม เกมส์ออฟฟิศ ป้อนคนดู
3.การผลิต ได้สร้างทีมงานภายใน(Internal)ให้แข็งแกร่งเป็นลำดับแรก ก่อนปูทางสู่การกรุยตลาดโลก จึงมีโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ ฯ เบื้องต้นมี 40 ชีวิตพร้อมสร้างสรรค์ละคร ซีรีย์แบบออริจินัล คอนเทนต์ ประเดิม 3 เรื่องนำร่อง ได้แก่ มือปราบกระทะรั่ว และเกมโกงเกมส์ โดยเรื่องร้อยเล่ม เกมส์ออฟฟิศ เป็นการผลิตร่วมกับผู้จัด “ตู่ ปิยวดี มาลีนนท์” ทั้งหมดจะออกอากาศทางช่อง 3 แพลตฟอร์มออนไลน์ และขายสู่ตลาดต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม 3 เรื่องเบิกฤกษ์ผลิต แต่ศักยภาพของบีอีซี สตูดิโอ สามารถผลิตละคร ซีรีย์ได้ 10 เรื่องต่อปี ขณะที่ช่อง 3 แต่ละปีมีผู้จัดผลิตละครป้อนช่อง 20-25 เรื่องต่อปี
“จุดเริ่มต้นก่อนขยายธุรกิจ ต้องสร้างทีมงานผลิตข้างในให้แข็งแกร่งด้วยกาพัฒนา ยกระดับกระบวนการผลิตให้ได้”
สิ่งอำนวยความสะดวกที่ 4.ทีมงานทำเบื้องหลังการถ่ายทำ(Internal Post-production) และคอมพิวเตอร์กราฟฟิก(CG) ทีมงานปรับแสง ปรับสี ทำเอฟเฟ็กต์ฟ้าร้องฝนตก ฯ เพื่อทำให้องค์ประกอบภาพมีความสมบูรณ์แบบ เวลาไปโชว์ผลงานในต่างประเทศจะได้ต่อกรกับนานาประเทศได้
ผู้ผลิตเดินหน้ายกเครื่องตัวเอง ด้านพฤติกรรมคนดูเป็นอย่างไร “อภิชาติ์” ฉายภาพว่า โลกไร้พรมแดนทำให้ผู้ชมเสพคอนเทนต์ใหม่ๆจากทั่วทุกมุมโลก โดยมี “โอทีที” เปิดโลกทัศน์ให้
“การผลิตคอนเทนต์บ้านเรามีช้อจำกัดเยอะ รอแสง ถ่ายกลางคืน มีโอที เราจึงต้องทำให้ข้อจำกัดเหล่านี้ถูกปลดล็อกก่อน ส่วนการสร้างคอนเทนต์ต้องมอง 2 ตลาดพร้อมกัน ทำให้คนไทยชอบ และส่งออกไปขายต่างประเทศได้ ซึ่งการพัฒนาซีรีย์ ละคร เราต้องนั่งอยู่ในใจคนดูมากขึ้น”
หนึ่งในผลงานของ Studio Dragon
ถอดสูตรสำเร็จ “Studio Dragon” แค่ส่วนหนึ่งของการปลดล็อกช่อง 3 ให้ผลิตคอนเทนต์แกร่งทัดเทียมโลก-ผู้ชม โดยผ่านภารกิจของ “บีอีซี สตูดิโอ” แต่ยังมีความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกอื่นๆ มาช่วยติดอาวุธให้บริษัทด้วย เช่น KAKAO Entertainment ของเกาหลีใต้ ที่เป็นผู้รังสรรค์ซีรีย์ดังอย่าง Business Proposal Vincenzo ฯ ได้นักเขียนบทชาวอเมริกันมาร่วมงานถ่ายทอดความรู้การเขียนบท ได้ ผู้บริหารมากประสบการณ์จากธุรกิจสื่อสัญชาติอเมริกันมาช่วยเปิดตลาดต่างประเทศ
การปลดล็อกการผลิตคอนเทนต์จึงเป็นโอกาสทองทำเงินในอนาคต หรือเป็น New S-Curve ให้กับช่อง 3 ในการสร้างรายได้เติบโตในเวทีโลก ที่นับวันตลาดโอทีทีต้องการคอนเทนต์หลากหลายและน้ำดีมากขึ้นด้วย
“สิ่งที่เราเรียนรู้จากเกาหลีใต้ วันที่ธุรกิจคอนเทนต์เขาเติบโต ก็เริ่มจากทำขายในประเทศ แต่ถึงจุดหนึ่งตลาดไม่โตไปกว่านี้ วิธีการคิดของ Studio Dragon คือการขายคอนเทนต์ไปตลาดต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ได้งบประมาณ เพื่อผลิตคอนเทนต์ที่ดีมากขึ้น พัฒนาคนให้เก่งขึ้น และอุตสาหกรรมบันเทิงไทยจะไปต่อได้ เราต้องคิดและทำตัวเองให้เป็น Global มากขึ้น”