“SUPER” ขายหุ้นธุรกิจดิจิทัลให้ “APCS”
SUPER ขายหุ้น “ซุปเปอร์ กรีน ไมน์นิ่ง” ที่ทำธุรกิจศูนย์ซื้อขาย ขุด แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลให้ APCS มูลค่า 66 ล้านบาท พร้อมทุ่มเงินลงทุนกว่า 625.26 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น APCS ถือหุ้น 13.67% ขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นใหญ่
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER ขอแจ้งให้ทราบว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ได้มีมติที่สำคัญดังนี้
1. อนุมัติการจำหน่ายหุ้นสามัญของบริษัท ซุปเปอร์ กรีน ไมน์นิ่ง จำกัด หรือ (SGM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางตรงของบริษัทให้แก่บริษัท เอเซีย พรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ (APCS) จำนวน 13,599,998 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 100 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ SGM มีมูลค่าการเข้าทำรายการทั้งหมด 66 ล้านบาท โดย SGM เดิมชื่อบริษัท ซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี 3 จำกัด หรือ (SEE3) ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ซุปเปอร์ กรีน ไมน์นิ่ง จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขาย ขุด แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล
การเข้าทำรายการดังกล่าว ถือเป็นรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 20/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มา หรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ และประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการเปิดเผยข้อมูล และการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ พ.ศ.2547 (“ประกาศรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์”) จากผลการคำนวณขนาดรายการตามประกาศการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ มีขนาดรายการที่คำนวณได้สูงสุดเท่ากับร้อยละ 0.36 ตามเกณฑ์มูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิ
โดยอ้างอิงจากงบการเงินรวมของบริษัทสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 และเมื่อรวมกับขนาดรายการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทประเภทเดียวกันในรอบระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ก่อนวันที่คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้เข้าทำรายการในครั้งนี้มีขนาดรายการรวมสูงสุดเท่ากับร้อยละ 21.10 ตามเกณฑ์กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน ซึ่งมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละ 15 แต่ต่ำกว่าร้อยละ 50 จึงเข้าข่ายเป็นรายการ การจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ประเภทที่ 2 ตามประกาศการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 20/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน บริษัทจึงมีหน้าที่เปิดเผยสารสนเทศต่อตลาดหลักทรัพย์ และจัดส่งสารสนเทศถึงผู้ถือหุ้นภายใน 21 วัน นับแต่วันที่บริษัทแจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์
และการจำหน่ายไปซึ่งหุ้นสามัญของบริษัท ซุปเปอร์ กรีน ไมน์นิ่ง จำกัด ไม่ถือเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัท และภายหลังจากการจำหน่ายหุ้นสามัญดังกล่าวแล้ว ทำให้ SGM สิ้นสภาพการเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ บริษัทขอนำส่งสารสนเทศรายการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
2. ตามที่ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2565 ประชุมเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 มีมติอนุมัติการซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เอเซีย พรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ (APCS) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 13.67 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ APCS โดยมีมูลค่าการเข้าทำรายการทั้งหมดไม่เกิน 625.26 ล้านบาท การคำนวณขนาดรายการตามประกาศการได้มา หรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ มีขนาดรายการที่คำนวณได้สูงสุดเท่ากับร้อยละ 1.53 ตามเกณฑ์มูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิ โดยอ้างอิงจากงบการเงินรวมของบริษัทสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 และเมื่อรวมกับขนาดรายการได้มา ซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทประเภทเดียวกันในรอบระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาก่อนวันที่คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้เข้าทำรายการในครั้ง และรายการประเภทเดียวกันในวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 มีขนาดรายการรวมสูงสุดเท่ากับร้อยละ 7.15 ตามเกณฑ์มูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิ ซึ่งมีขนาดรายการน้อยกว่าร้อยละ 15 ตามเกณฑ์ได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ รายการดังกล่าวจึงมีขนาดรายการไม่ถึงเกณฑ์ตามข้อกำหนดที่ต้องดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 20/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มา หรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และไม่เป็นรายการที่เกี่ยวโยง นั้นแม้ว่าบริษัทขายหุ้นสามัญของ SGM ให้แก่ APCS ตามข้อ 1 แล้วก็ตาม แต่บริษัทยังมีความสนใจในธุรกิจดังกล่าวคณะกรรมการบริษัทจึงมีมติอนุมัติเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เอเซีย พรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ (APCS) ในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 13.67ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ APCS ภายหลังที่บริษัทเข้าซื้อหุ้นสามัญของ APCS แล้ว บริษัทจะส่งตัวแทนของบริษัทเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการของ APCS แทนกรรมการเดิมของ APCS จำนวน 1 ท่าน ทั้งนี้ การเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการของตัวแทนของบริษัทนั้น บริษัทไม่มีวัตถุประสงค์ในการบริหารกิจการ การบริหารด้านการเงิน และกำหนดนโยบายของ APCS เป็นผลให้บริษัทไม่มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อ APCS
3. อนุมัติให้บริษัท ซุปเปอร์ โซล่าร์ ไฮบริด จำกัด หรือ (SSH) เพิ่มทุนจดทะเบียนอีกจำนวนไม่เกิน 100,000,000 บาท โดยออกหุ้นสามัญใหม่จำนวนไม่เกิน 1,000,000 หุ้น จากทุนจดทะเบียนเดิม 500,000,000 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่ไม่เกิน 600,000,000 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท พร้อมทั้งอนุมัติให้บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี กรุ๊ป จำกัด หรือ (SEG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทเข้าเพิ่มทุนใน SSH ตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์