เปิดข้อเสนอขยายพื้นที่ ‘อีอีซี’โมเดลใหม่สร้างรายได้ ฟื้นเศรษฐกิจประเทศ
นักวิชาการแนะรัฐบาลจับมือ กทม.ใช้กฎหมายอีอีซีขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจาก 3 จังหวัดมาครอบคลุมพื้นที่ กทม.ฝั่งตะวันออก ดึงกรุงเทพธนาคมเข้าร่วมลงทุน รองรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ดันเป็นศูนย์กลางการเงิน-ศูนย์กลางธุรกิจภูมิภาค
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผย“กรุงเทพธุรกิจ” ว่าในอนาคตรายจ่ายของรัฐบาลจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยและในช่วงที่เผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ได้มีการกู้ยืมเงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาทเพื่อมาใช้รับมือกับโควิด-19 เมื่อรวมกับภาระการใช้คืนหนี้สาธารณะที่มีขนาดรวมกันถึงเกือบ 10 ล้านล้านบาทจึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องหาวิธีการสร้างรายได้ใหม่ๆด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่จะสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศควบคู่ไปกับการเพิ่มการลงทุน
ทั้งนี้แนวทางหนึ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการคือใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่กำหนดไว้ในมาตราที่ 6 ของ พ.ร.บ.ที่กำหนดให้พื้นที่อื่นใดที่อยู่นอกเหนือ 3 จังหวัดในภาคตะวันออกได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และจ.ระยอง ให้คณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)สามารถที่จะออกพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติมในการกำหนดให้บางพื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและได้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนเช่นเดียวกับในพื้นที่อีอีซี
ทั้งนี้พื้นที่ที่เหมาะสมที่จะขยายขอบเขตเศรษฐกิจพิเศษของอีอีซีมาคือพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.)
โดยอาจประกาศเป็นโซนแรกก่อนในพื้นที่ กทม.บริเวณโซนด้านตะวันออกที่เชื่อมต่อและมีพื้นที่ใกล้เคียงกับจ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งในพื้นที่บริเวณนี้ถือว่ามีการขยายตัวของเมืองที่รวดเร็ว มีโครงสร้างพื้นฐานหลักได้แก่รถไฟฟ้าทั้งรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก รถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่กำลังจะเปิดให้บริการภายในต้นปีหน้าทำให้การเดินทางมีความสะดวกสบายและมีความพร้อมเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้พื้นที่ใน กทม.มีข้อได้เปรียบหลายเมืองที่ต้องการเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการลงทุนเนื่องจากที่ตั้งของ กทม.ถือว่าอยู่ในบริเวณศูนย์กลางของอาเซียนสามารถเดินทางไปยังประเทศอื่นๆได้โดยใช้เวลาไม่นานมากจนเกินไป ขณะที่ในเรื่องของค่าครองชีพก็ไม่สูงจนเกินไปทำให้เป็นประเทศที่น่าสนใจที่จะเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ หรือลงทุน ซึ่งหากมีการจูงใจให้เข้ามาลงทุนได้มากทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนและภาษีจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในเรื่องของอสังหาริมทรัพย์ และการจ้างงานในสาขาอื่นๆเพิ่มเติมซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม
นอกจากนั้นในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฝั่งตะวันออกก็ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ในอนาคตจะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา)ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกด้วยจึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมจะผลักดันให้เป็นอีกพื้นที่หนึ่งในการดึงดูดการลงทุนทั้งการตั้งสำนักงานใหญ่สำหรับภูมิภาค (Regional Hub)
รวมทั้งที่ตั้งของที่อยู่อาศัยมูลค่าสูงที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาอยู่อาศัยและสามารถเดินทางไปทำงานได้ทั้งในพื้นที่อีอีซี และใน กทม.
สำหรับแนวทางที่จะผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในโซน กทม.ฝั่งตะวันออกรัฐบาลสามารถที่จะเจรจราร่วมกับ กทม.เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่และโครงการต่างๆร่วมกันในรูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โดยร่วมกันระหว่างรัฐบาล
โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) กับบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจถือหุ้นโดย กทม.ซึ่งจะทำให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ การระดมทุน และการเดินหน้าโครงการต่างๆมากกว่าที่จะเป็นการลงทุนของภาครัฐฝ่ายเดียว
“กทม.มีขนาดจีดีพีถึง 3.5 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางถนนและรถไฟฟ้าใน กทม.จำนวนมาก
หากมีการใช้กฎหมายของอีอีซีเข้ามาปลดล็อกเพื่อสนับสนุนการลงทุนตั้งสำนักงาน หรือสร้างโซนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้สูงก็จะช่วยเพิ่มรายได้เข้าประเทศ จากการลงทุนของต่างชาติรวมทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ภาครัฐสามารถที่จะจัดเก็บได้เพิ่มเติม รวมทั้งภาษีท้องถิ่นที่ กทม.จะจัดเก็บได้ในแต่ละปีก็จะเพิ่มขึ้นนจากที่ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ปีละประมาณ 8 หมื่นล้านบาท หากสามารถที่จะจัดเก็บรายได้เพิ่มจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นก็จะทำให้ กทม.มีงบประมาณในการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย” นายมนตรี กล่าว