“บางจาก” เร่งแผนเน็ตซีโร่ ผนึก “รัฐ-ชุมชน” ลดคาร์บอน
กลุ่มบางจากฯ ตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2050 ถือว่าเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศไทย ที่กำหนดเป้าหมาย Net Zero ปี 2065 ล่าสุดผนึก “รัฐ-ชุมชน” ลดคาร์บอนบนเกาะหมาก
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCG ดำเนินธุรกิจผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 ทั้งนี้ กลุ่มบางจาก ดำเนินธุรกิจผ่าน 5 ธุรกิจหลัก คือ
1.ธุรกิจโรงกลั่น และการค้าน้ำมัน ถือเป็นโรงกลั่นแบบ Complex Refinery ที่ทันสมัย และปรับเป็น Niche Products Refinery เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ Low emission
2.กลุ่มธุรกิจการตลาด มีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันกว่า 1,200 แห่ง เสริมด้วยธุรกิจ Non–oil ผ่านธุรกิจต่างๆ เช่น กาแฟอินทนิล น้ำมันหล่อลื่น Furio และ EV charger
3.กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ผ่านการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) พร้อมเข้าสู่ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่
4.กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ดำเนินการภายใต้ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และกำลังขยายสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง และ
5.กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ และธุรกิจใหม่ ลงทุนในธุรกิจสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมผ่านการถือหุ้นใน OKEA ASA ประเทศนอร์เวย์ ที่มีมาตรฐานด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และมีสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) เป็นผู้ลงทุน Corporate Venture Capital เน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ทั้งใน และต่างประเทศ พร้อมช่วยสร้างระบบนิเวศน์สำหรับนวัตกรรมสีเขียว ส่งเสริมและผลักดันนวัตกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาพลังงานสีเขียว และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ
นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และร่วมก่อตั้งภาคีเครือข่ายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งอนาคต SynBio Consortium
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบางจาก กล่าวว่า กลุ่มบางจาก เร่งเดินหน้าร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยแผน BCP NET เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยได้ลงนามความร่วมมือพัฒนาพื้นที่ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสู่ Low Carbon Destination หมู่เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด ร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อพท.เข้าร่วมด้วย เพื่อขับเคลื่อนโมเดล Bangchak WOW
สำหรับการพัฒนาพื้นที่เกาะหมากสู่เป้าหมายการเป็น Low Carbon Destination เป็นพื้นที่เป้าหมายแห่งแรกในโครงการแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำของไทยที่ อพท.เป็นผู้ริเริ่มการขับเคลื่อน ผนวกกับการใส่ใจดูแลธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังจากชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบของประเทศในการร่วมบรรเทาภาวะวิกฤติของโลกด้านสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ จากการศึกษา Blue Carbon ของการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังภาคตะวันออกเป็นครั้งแรกของไทย โดยข้อมูลของ IUCN ปี 2564 รายงานว่าหญ้าทะเลเป็นพืชกลุ่มเดียวที่อยู่ในทะเลเต็มตัวจึงมีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับ และกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 7-10 เท่า
นอกจากนี้ กลุ่มบางจาก มีภารกิจอื่นเพื่อสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ อาทิ การนำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie ไปให้ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ทดลองใช้เพื่อศึกษาความเหมาะสม ผ่าน อบต.เกาะหมาก รวมถึงสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เช่น ถุงมือและเสื้อที่ผลิตจากขวด PET รีไซเคิลมอบให้ทีมอาสาสมัคร Trash Heroes Koh Mak สำหรับเก็บขยะชายหาด
“กลุ่มบางจาก อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมืออื่นๆ เช่น โรงเรียน Net Zero โดยอาจจะเริ่มจากการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาโรงเรียนเพราะที่โรงเรียนจะมีการใช้งานช่วงกลางวันอยู่แล้ว บุคลากร และนักเรียนจะได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด”
สำหรับวิกฤติโลกร้อนเป็นเรื่องที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเรื่องหลักที่ผู้นำระดับโลกหารือกันมีอยู่ 3 เรื่อง คือ
1.ปัญหาด้านพลังงานที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
2.การขาดแคลนอาหาร
3.ภาวะเงินเฟ้อ อีกทั้ง ยังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่พลังงานสะอาด โดยมีปัจจัยสำคัญคือ เศรษฐกิจสีเขียว
ทั้งนี้ แผน BCP NET จะเน้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน ปล่อยคาร์บอนต่ำ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เทคโนโลยี และเชื้อเพลิงที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก การเปิดสถานีบริการ Net Zero การใช้ไฟฟ้าจากระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบีซีพีจี
รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการดักจับการใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) และธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิต ส่งเสริมสร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำ ซึ่งสัดส่วนธุรกิจสีเขียวปัจจุบันอยู่ที่ 40% ของ EBITDA กลุ่มบางจาก และจะเพิ่มสัดส่วนอย่างน้อย 50% ในปี 2030 และจะสร้าง Net Zero Ecosystem อาทิ การดำเนินธุรกิจขนส่งเชื้อเพลิงโดย บริษัท BFPL การให้บริการ และจำหน่ายเชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ การจัดทำแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie การก่อตั้ง Carbon Markets Club
“เราร่วมก่อตั้ง Syn Bio Consortium สร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำในองค์กรผ่านโครงการรณรงค์ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ และสื่อสารกับผู้ที่มีส่วนได้เสียทางธุรกิจ เช่น ซัพพลายเออร์ เป็นต้น”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์