“สุพัฒนพงษ์” กางแผนพลังงานรับมือบริบทโลกใหม่
“สุพัฒนพงษ์” ย้ำแผนการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน 2050 สร้างศักยภาพการแข่งขันของไทยในบริบทโลกใหม่ พร้อมเป็นฐานผลิตและการลงทุนจากต่างประเทศ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ“ความท้าทาย COP26 กับบริบทการใช้พลังงานของประเทศไทย” ภายในงาน “FTI EXPO 2022: Shaping Future Industries for Stronger Thailand” เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ว่า เป้าหมายในการรักษาอุณภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่ประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจได้ร่วมกันประกาศบนเวที COP26 เนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีคามรุนแรงมากขึ้น หลายประเทศมีทิศทางการกำหนดนโยบายด้านพลังงานโดยนำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 350 ล้านตันต่อปี โดยส่วนใหญ่เกิดจากภาคไฟฟ้า ภาคการขนส่งและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะกลายเป็นต้นทุนแฝงที่จะต้องจ่ายให้กับการรักษากติกาโลกใหม่มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาทประเทศไทยจึงได้ประกาศเจตนารมณ์ในการมุ่งสู่ความเป็นการทางคาร์บอนภายในปี 2050 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนนโยบายพลังงานครั้งสำคัญของประเทศ
โดยภาครัฐได้มีการวางแผนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นขั้นตอน แบ่งเป็น 3 แนวทาง ภาคการผลิตไฟฟ้าให้มีการลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงให้เหลือน้อยกว่า 50% และเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาด 10,000 เมกะวัตต์ อาทิ การทำโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในพื้นที่เขื่อนทั่วประเทศ ให้มีกาผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริดรวมทั้งเพื่อให้เกิดการกระจายตัวของอุตสาหกรรมสร้างระเบียงเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ โดยมีเป้าหมายระยะยาวคือ การให้มีการใช้พลังงานสะอาดเป็นส่วนใหญ่ที่ผลิตได้ในประเทศเพื่อลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล
สำหรับภาคการขนส่ง ผลักดันนโยบายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) 30@30 โดยตั้งเป้าการผลิตในประเทศประมาณ30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศในปี ค.ศ.2030 หรือให้มีการการผลิต EV ในประเทศ 7 แสนคันต่อปีภายใน 8 - 9 ปีต่อจากนี้ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และรักษาศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในประเทศ
ในปัจจุบัน รัฐบาลออกนโยบาย EV 3 เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้รถ EV ในประเทศมากขึ้น ด้วยการอุดหนุนเงินสูงสุด 250,000 บาทต่อคัน รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขให้ค่ายรถยนต์มีการผลิต EV ในประเทศหลังจากนี้ ซึ่งมีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมแล้วอย่างน้อย 4 บริษัท จะเป็นการสัดส่วนการผลิตรถอีวีในประเทศราว 10% ในอีก 2 ปีต่อจากนี้
นอกจากนี้ การส่งเสริมอุตสาหกรรม EV จะสามารถดึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเข้ามายังประเทศได้มากขึ้น มองว่าโอกาสของประเทศไทยกำลังเปิดกว้าง ในอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนารองรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า สถานีประจุไฟฟ้า สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และการลงทุนโซลาร์เซลล์
ส่วนภาคอุตสาหกรรม ให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการอนุรักษ์พลังงานกรมส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยรัฐสนับสนุน 70% เอกชน 30% ขณะเดียวกันผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเองมีการปรับตัวอย่างรวดเร็วในสภาวะราคาพลังงานพุ่งสูง และการเตรียมความพร้อมรับมือมาตรการกีดกันทางการค้าการตรวจวัดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ของสินค้าส่งออกทำให้มีการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป
นอกจากนี้ การลดใช้พลังงานในภาคส่วนอื่นๆ อาทิ อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย ให้มีความเข้มข้นการใช้พลังงานลดลง 40% ด้วยการใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ อาทิ การเปลี่ยนหลอด LED ตามนโยบายประหยัดพลังงานภาครัฐ 20% สามารถช่วยประหยัดเงินได้ประมาณ 2,000 ล้านตันต่อปี
รวมถึงการส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อดักจับ และดูดซับคาร์บอนที่เกิดจากภาคการผลิตและอุตสาหกรรม โดยเปลี่ยนแนวคิดจากการทำ CSR ขององค์กรเอกชนเป็นโอกาสในการสร้างรายได้จากการมีคาร์บอนเครดิต
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาเทคโนโลยีในการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากภาคอุตสาหกรรมให้กลับลงสู่บ่อก๊าซธรรมชาติที่ไทยมี โดยการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนมีเป้าหมายสูงสุดในการให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก รวมทั้งความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตและลงทุนสำคัญจากต่างประเทศ