25 ปี วิกฤติต้มยำกุ้ง บทเรียนธุรกิจไทยสู้โควิด

25 ปี วิกฤติต้มยำกุ้ง บทเรียนธุรกิจไทยสู้โควิด

ผ่านมา 25 ปี “วิกฤติต้มยำกุ้ง” วิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย และลุกลามไปยังหลายประเทศในเอเชีย ในวันนี้ภาคธุรกิจไทยยังต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่อีกครั้ง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อ 25 ปีที่แล้ว มีต้นเหตุจากภาวะฟองสบู่แตกของภาคอสังหาริมทรัพย์ในไทยและส่งผลกระทบลามไปยังประเทศอื่น ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่กู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากต่างประเทศ และกลุ่มสถาบันการเงิน ในขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มและภาคส่วนอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก 

เมื่อฟางเส้นสุดท้ายคือ วันที่ 2 ก.ค. 2540 ประเทศไทยลอยตัวค่าเงินบาทจึงทำให้เงินกู้ขยายตัวเป็นสองเท่าทำให้บริษัทขนาดใหญ่เจ็บหนัก แต่ในทางกลับกันค่าเงินบาทอ่อนยังส่งเสริมให้การส่งออกดีขึ้น ซึ่งเป็นกุญแจหลักที่ช่วยให้เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังจากนั้น

"วันนี้ครบรอบ 25 ปี ที่ไทยต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจหนักอีกครั้ง ซึ่งเป็นคนละอาการจากในอดีตและแนวทางแก้ปัญหาก็ต่างกัน วันนี้วิกฤติการณ์ที่เรากำลังเจอคือภาวะเงินเฟ้อที่มีสเกลผลกระทบทั่วโลก ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นจากดีมานต์ที่กลับมาหลังสถานการณ์โควิดระบาด ทำให้ราคาสินค้าเริ่มปรับตัวสูงขึ้น"

จากเดิมที่การผลิต และการขนส่งต้องหยุดชะงักหรือชะลอตัวลงเมื่อมีการล็อกดาวน์เมืองและปิดประเทศ เมื่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายความต้องการของผู้บริโภคที่กลับมาอย่างรวดเร็ว ทำให้เริ่มเห็นแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น อยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากช่วงโควิดร่วงลงมาอยู่ที่ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

จากโควิดสู่เงินเฟ้อ

นอกจากนี้ ในปี 2564 สหรัฐอเมริกาเริ่มแผนการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิดโดยการเร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบ การออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยา รวมทั้งการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวทำให้เกิดความต้องการใช้น้ำมันที่มากขึ้น ราคาน้ำมันเริ่มไต่ขึ้นและราคาสินค้าส่งสัญญาณเงินเฟ้อเล็กน้อย

จนกระทั่ง เดือนกุมภาพันธ์ 2565 รัสเซียซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอันดับต้นๆ ของโลกประกาศสงครามกับยูเครน จึงทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นไปเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากสถานการณ์ยืดเยื้อบานปลายก็จะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง และทำให้ต้นทุนภาคพลังงานมีราคาที่สูงขึ้นอย่างทวีคูณ ซึ่งภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย

"ครั้งนี้ภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนและเกิดผลกระทบกับคนเป็นวงกว้าง บริษัทขนาดเล็กขนาดกลาง และคนหาเช้ากินค่ำ ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพ ค่าอาหารที่พุ่งขึ้นไป ในขณะที่วิกฤติต้มยำกุ้งกลุ่มที่เจ็บหนักคือบริษัทขนาดใหญ่"

 

แผนรับมือเงินเฟ้อสหรัฐ

ทั้งนี้ สหรัฐใช้มาตรการรับมือเงินเฟ้อด้วยการประกาศขึ้นดอกเบี้ยด้วยอัตรา 0.75% อีกทั้งตั้งเป้าให้ปีนี้ทั้งปีอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 3.4% เพราะฉะนั้นจากนี้ไปจะมีการเร่งขึ้นอัตราตราดอกเบี้ยพร้อมกับใช้นโยบายลดขนาดงบดุลที่เรียกว่า Quantitative Tightening (QT) "การดูดสภาพคล่องทางการเงินในระบบกลับ" เพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อที่ดูเหมือนกำลังทะยานตัวอยู่ในเวลานี้

เนื่องจากปัจจัยของการขาดแคลนปัจจัยการผลิต ทั้งแรงงาน วัตถุดิบการผลิต และราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น ทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้น รวมทั้งการเจรจากับกลุ่มประเทศโอเปกให้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันทดแทนราคาน้ำมันรัสเซีย และการอนุมัติการใช้น้ำมันในคลังสำรองยุทธศาสตร์ วันละ 1 ล้านบาร์เรล เพื่อบรรเทาราคาน้ำมันมัน

 

ทางรอดธุรกิจ ต้องบริหารความเสี่ยง

ภาวะเงินเฟ้อกลายเป็นปัญหาใหญ่ของทั่วโลกกดดันอำนาจการซื้อของประชาชน คนชนชั้นกลาง และเกิดต้นทุนที่แพงขึ้นสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งสำหรับภาคอุตสาหกรรมมีการเตรียมรับมือมาโดยตลอด จากความท้าทายที่เกิดต่อเนื่องตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ สถานการณ์โรคระบาดใหญ่โควิด-19 และสงครามความขัดแย้งระหว่างภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งในตอนนี้ราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบน้ำเข้าราคาแพงขึ้นทั้งหมดบวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ

โดยต้องมีการวางแผนการบริหารเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดต้นทุนการผลิตต่ำสุด เช่น การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือก ใช้ไฟฟ้าในช่วง off-peak ที่มีราคาถูกกว่า ท้ายที่สุดขณะนี้สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน มีความยืดเยื้อ คาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะต้องเผชิญกับราคาน้ำมันแพง คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลที่มีการกำหนดเพดานราคาใหม่อยู่ที่ 35 บาทต่อลิตร จะต้องขยายเพดานขึ้นไปอีกในอนาคต ถ้าราคาน้ำมันยังมีทิศทางสูงต่อเนื่อง ผู้ประกอบการยังต้องบริหารความเสี่ยง วางแผนอย่างรัดกุมและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

"คงไม่มีใครตอบได้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวเมื่อไหร่ แต่จากการเปิดประเทศเต็มที่ รวมทั้งผ่อนคลายมาตรการสวมหน้ากาก คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังจะมีนักท่องเที่ยวทยอยเดินทางเข้ามาในประเทศ คาดการณ์ว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยว 6-8 ล้านคน เป็นการกลับมารีสตาร์ทเครื่องยนต์ภาคการท่องเที่ยวเสริมภาคการส่งออก สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศและทำให้ GDP ของไทยดีขึ้น"

สำหรับภาคการส่งออกยังต้องจับตาสถานการณ์สงครามที่ยืดเยื้อและอาจบานปลาย ซึ่งภาวะเงินเฟ้อในขณะนี้กดดันอำนาจการซื้อของผู้บริโภคทั่วโลกจึงเริ่มเห็นสัญญาณคำสั่งซื้อในช่วงปลายไตรมาส 2 ที่เริ่มแผ่ว ยกเว้นอุตสาหกรรมอาหารเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่ส่งออกโตขึ้น คาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 1.2-1.3 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 20% หากภาคส่งออกโดยรวมครึ่งปีหลังชะลอลงไม่มาก และการท่องเที่ยวเป็นไปตามเป้าและทำเงินได้เยอะ คาดว่า GDP ในปีนี้จะอยู่ที่ 3.0%