‘สุพัฒนพงษ์’ ชงนายกฯแก้หนี้ 40 ล้านบัญชี

‘สุพัฒนพงษ์’ ชงนายกฯแก้หนี้ 40 ล้านบัญชี

‘สุพัฒนพงษ์’ เตรียมเสนอนายกฯแก้ปัญหาหนี้สินประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเร่งด่วน 40 ล้านบัญชี ชูโมเดลสิงคโปร์ ยืดหนี้ 3-5 ปี ควบคู่ลดดอกเบี้ยเหลือ 8.5%

หลังจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เพราะระดับหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวและมีความอ่อนไหวประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อฐานะทาง เศรษฐกิจของประชาชน

ล่าสุดคณะกรรมการฯ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นประธาน เตรียมเสนอแนวทางการแก้ไขหนี้ครัวเรือนให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อพิจารณาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละกลุ่มอย่างเร่งด่วน เพราะหากยิ่งช้าอาจทำให้ลูกหนี้เป็นวงกว้างไม่สามารถออกจากกับดักหนี้จนอาจกระทบต่อวิถีการใช้ชีวิต กระทบไปสู่ระบบเศรษฐกิจในภาพใหญ่ต่อไป

ปัจจุบันพอร์ตลูกหนี้โดยรวมทั้งระบบ ทั้งที่ในระบบของบริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร และหนี้นอกระบบ มีลูกหนี้โดยรวมทั้งสิ้น 95.33 ล้านบัญชี ได้แก่ลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ลูกหนี้ของผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือนอนแบงก์ ลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์อื่นๆ รวมถึงลูกหนี้ของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. และ PICO Finance 

โดยแบ่งเป็นลูกหนี้ในระบบเครดิตบูโร 79.24 ล้านบัญชี และบัญชีจากผู้ปล่อยสินเชื่อข้างต้นอีกกว่า 16 ล้านบัญชี

หากแยกเฉพาะลูกหนี้ภายใต้พอร์ตของเครดิตบูโร 79 ล้านบัญชี มีลูกหนี้ที่จัดอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ปกติ 69.4 ล้านบัญชี ซึ่งในกลุ่มนี้คาดการณ์ว่า จะตกชั้นในระยะข้างหน้าราว 20% หรือ 15 ล้านบัญชี ขณะที่มีบัญชีที่เริ่มค้างชำระ 31-90 วัน หรือหนี้ที่ต้องจับตามเป็นพิเศษ(SM) 1.736 ล้านบัญชี ขณะที่มีบัญชีที่ค้างชำระเกิน 90 วัน ที่ 8.085 ล้านบัญชี 

ลูกหนี้มีปัญหาเครดิตบูโร25ล้านบัญชี
ทั้งนี้หากรวมทั้ง 3 กลุ่ม ทั้งลูกหนี้ ที่เริ่มค้างชำระ และลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้ว รวมกันกลุ่มนี้มีถึง 9.8 ล้านบัญชี และคาดการณ์มีอีก 15 ล้านบัญชีที่คาดจะไหลจากหนี้ปกติมาเป็นหนี้ ที่มีปัญหาในการชำระหนี้ต่อไป จากลูกหนี้ในกลุ่มสหกรณ์ กยศ. กลุ่ม PICO Finance ที่จำเป็นต้องรับความช่วยเหลือ รวมแล้วมีลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งระบบราว 40 ล้านบัญชี 

อย่างไรก็ตาม หากเจาะลึกเฉพาะลูกหนี้ที่อยู่ในระบบของเครดิตบูโร เฉพาะลูกหนี้ที่มีปัญหา โดยเฉพาะกลุ่ม SM ที่เริ่มค้างชำระ ตั้งแต่ 31 วันแต่ไม่เกิน 90 พบว่า มีลูกหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เสี่ยงที่จะมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ จนกลายเป็นหนี้เสียได้ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อ ที่ค้างชำระหนี้ 413,445 บัญชี ดังนั้นอาจมีครัวเรือนเกือบ 4 แสนครอบครัวที่อาจกำลังถูกยึดรถได้ในระยะข้างหน้า

ส่วนสินเชื่อบ้าน มีลูกหนี้ที่ค้างชำระ หรือเป็นกลุ่ม SM ทั้งสิ้น 1.08 แสนบัญชีที่อาจจะสูญเสียบ้านในอนาคตได้ หากไม่สามารถจัดการปัญหาหนี้สินค้างชำระดังกล่าวได้

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละกลุ่ม คณะกรรมการแก้หนี้สินของประชาชนรายย่อย มีการกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเบื้องต้นแบ่งเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ทั้งลูกหนี้ปกติ ลูกหนี้เริ่มค้างชำระ และกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้ว
โดยเฉพาะกลุ่มที่เริ่มค้างชำระ หรือSM ตัวอย่างมาตรการช่วยเหลือ จะต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นหนี้เสีย โดยเฉพาะลูกหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ที่เป็น Monitoring loan ที่จ่ายหนี้ไม่ได้เต็มจำนวน จ่ายได้แค่ขั้นต่ำ ควรเปลี่ยนสินเชื่อเหล่านี้เป็นสินเชื่อระยะยาว 3-5 ปี โดยการลดดอกเบี้ยให้ต่ำลง เหมือนที่สิงคโปร์ใช้ราว 8.5% ต่อปี จาก 16-33% ในปัจจุบัน

ขณะที่ลูกหนี้เช่าซื้อ ที่มีการค้างชำระ 4 แสนคัน ที่ค้างชำระตั้งแต่ 2 งวด จากผลของโควิด ควรถูกปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อไม่ให้ค้างชำระครบ 3 งวด ป้องกันการถูกยึด 

ส่วนลูกหนี้บ้าน และสินเชื่อ Term loan ที่ชำระหนี้ไม่ไหว ควรพักชำระหนี้ แต่ดอกเบี้ยสำหรับการพักชำระหนี้ต้องเป็นธรรม ไม่ซ้ำเติมประชาชน และต้องไม่แพงกว่าดอกเบี้ยผิดนัดชำระ
เสนอปรับโครงสร้างหนี้-ลดหนี้

กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย ควรมีการไกล่เกลี่ยหนี้สิน หาทางออก แก้หนี้เสียที่มีศักยภาพให้กลับสู่ระบบเศรษฐกิจ และลดการฟ้องร้อง ดำเนินคดีที่ไม่จำเป็น และกลุ่มที่เป็นลูกหนี้บนเครดิตบูโร ที่เป็นรหัส 21 ที่ 2.6 ล้านบัญชี 2.1 ล้านลูกหนี้ มูลหนี้ 2แสนล้านบาท ควรปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมใส่เงินใหม่ เพื่อให้เดินต่อไปได้ ซึ่งจะทำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดีกว่ากว่าการฟ้องร้องลูกหนี้  
ขณะที่กลุ่ม รหัส 30 ที่มีเกือบ 2 ล้านบัญชี ควรไกล่เกลี่ยหนี้ โดยเฉพาะการลดยอดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ การตัดชำระหนี้ใหม่ ที่ให้มีการตัดเงินต้นมากขึ้น หากไม่จบจึงจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป