จีพีดีเกษตรไตรมาส 2 โต5.7 % ทั้งปี ขยาย3.4
สศก. ระบุ GDP เกษตร ไตรมาส 2 ขยายตัว 5.7% เผย สาขาพืช เติบโตถึง 9.3% ขณะที่ สาขาปศุสัตว์ - ประมง ยังคงหดตัว คาดทั้งปี ขยาย3.4 %
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์ ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ของปี 2565 (เดือนเมษายน – มิถุนายน) เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 พบว่า ขยายตัวร้อยละ 5.7 ซึ่งเป็นการเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 4.1
โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติมีเพียงพอ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรขยายการเพาะปลูกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมจากการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด การขยายช่องทางการตลาด
รวมถึงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์ การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกวิธี เพื่อลดภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง โดยสาขาพืชมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของพืช และสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการออกดอกติดผล ทำให้ผลผลิตพืชสำคัญ
ทั้งข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวนาปรัง และผลไม้ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นผลผลิตหลักในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก สำหรับสาขาบริการทางการเกษตรขยายตัวได้ตามการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวพืชที่เพิ่มขึ้น สาขาป่าไม้ขยายตัวจากปริมาณการผลิตไม้ยูคาลิปตัสที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม สาขาปศุสัตว์และสาขาประมงหดตัวลง ซึ่งเป็นผลจากการเฝ้าระวังโรคระบาดและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.4 – 3.4 เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยทุกสาขาการผลิต มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติมากกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสมเพื่อลดต้นทุน มีการยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
นอกจากนี้ การดำเนินกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว และการขนส่ง มีความคล่องตัวมากขึ้นภายหลังการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ภาวะฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ และพายุฝนที่อาจรุนแรงมากขึ้นในช่วงฤดูฝน ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาปัจจัยการผลิตที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช และอาหารสัตว์
รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ทำให้หลายประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ด้าน ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวถึงรายละเอียดของแต่ละสาขาว่า สาขาพืช ในไตรมาส 2
ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 9.3 สินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก เกษตรกรจึงขยายการเพาะปลูกในพื้นที่นาปรังเดิมที่เคยปล่อยว่าง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและปริมาณน้ำฝนเหมาะสม ประกอบกับราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดีจากความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์
อ้อยโรงงาน เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี โรงงานน้ำตาลมีการประกันราคารับซื้อผลผลิตอ้อยสดคุณภาพดี ภาครัฐมีมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ส่งเสริมให้เกษตรกรตัดอ้อยสด และมีการรับซื้อใบอ้อยเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า ทำให้เกษตรกรเอาใจใส่ดูแลผลผลิตอ้อยให้มีคุณภาพ ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น
ลำไย มีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นจากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2562 เริ่มให้ผลผลิตในช่วงปี 2565 ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวยและมีปริมาณน้ำเพียงพอในช่วงออกดอกและช่วงติดผล ทุเรียน เนื่องจากราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงการขยายพื้นที่ปลูกใหม่เมื่อปี 2560 ของเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี ตราด และระยอง โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางพารา ลำไย มังคุด เงาะ ลองกอง และพื้นที่ว่างเปล่ามาปลูกทุเรียน ซึ่งเริ่มให้ผลผลิตในปี 2565 เป็นปีแรก
มังคุด เนื่องจากในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ถึงเดือนมกราคม 2565 มีอากาศหนาวเย็นเอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผล ประกอบกับในปีที่ผ่านมาต้นมังคุดมีการพักสะสมอาหาร ทำให้ในปีนี้มีการออกดอกติดผลได้มากและมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น เงาะ เนื่องจากสภาพอากาศและฝนที่ตกต่อเนื่อง ทำให้ต้นเงาะได้รับน้ำสมบูรณ์ มีการออกดอกและติดผลได้ดี ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
สินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี เนื่องจากราคาข้าวเปลือกในฤดูเพาะปลูกที่ผ่านมาไม่จูงใจ รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นและขาดแคลนแรงงาน ทำให้เกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง
มันสำปะหลัง เนื้อที่เก็บเกี่ยวลดลง จากพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม 2564 มีการปลูกซ่อมใหม่ ทำให้รอบการปลูกเลื่อนออกไป จึงยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในไตรมาสนี้ และบางพื้นที่มีการปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยที่ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี
สับปะรดโรงงาน ในช่วงปีที่ผ่านมา เกษตรกรมีการเร่งบำรุงต้นสับปะรด ทำให้ผลผลิตออกนอกฤดูในช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 ส่งผลให้ผลผลิตสับปะรดที่เคยออกสู่ตลาดสูงสุดในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 มีปริมาณลดลง
ยางพารา เนื่องจากในพื้นที่ภาคใต้ มีฝนตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2565 ทำให้จำนวนวันกรีดยางลดลง ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและเกษตรกรมีการบำรุงดูแลมากขึ้น ทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดเร็วขึ้นและมีจำนวนมากในไตรมาสที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เคยออกสู่ตลาดสูงสุดในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมมีปริมาณลดลง
สาขาปศุสัตว์ หดตัวร้อยละ 2.2 เนื่องจากเกษตรกรยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever: ASF) ซึ่งระบาดตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรลดปริมาณการเลี้ยงสุกรลง อย่างไรก็ตาม ความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่มีอย่างต่อเนื่อง และการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐานอย่างเข้มงวด ทำให้ผลผลิตหลายชนิดเพิ่มขึ้น
โดยไก่เนื้อ มีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ไข่ไก่ เกษตรกรมีการจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง น้ำนมดิบ เนื่องจากเกษตรกรดูแลเอาใจใส่สุขภาพของแม่โคเป็นอย่างดีและแม่โคมีอัตราการให้น้ำนมเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีช่วยในการจัดการฟาร์มและควบคุมโรคระบาด
สาขาประมง หดตัวร้อยละ 2.7 โดยสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือลดลง เนื่องจากมีมรสุมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ชาวประมงจึงจับสัตว์น้ำได้ลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ชาวประมงลดการนำเรือออกไปจับสัตว์น้ำ ขณะที่กุ้งทะเลเพาะเลี้ยง มีปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาพบการระบาดของโรคขี้ขาว ไวรัสตัวแดงดวงขาวหัวเหลืองในกุ้งขาวแวนนาไม เกษตรกรจึงลดเวลาในการเลี้ยง ทำให้ได้กุ้งที่มีขนาดเล็กลง
อย่างไรก็ตาม ปลานิล และ ปลาดุก มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเลี้ยงจากปริมาณน้ำฝนที่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา และเกษตรกรมีการอนุบาลลูกปลาให้ได้ขนาดและแข็งแรงก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยง ทำให้มีอัตราการรอดสูงขึ้น
สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.2 โดยกิจกรรมการเตรียมดินเพิ่มขึ้นตามการเพาะปลูกพืชสำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวนาปรัง เนื่องจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืช และราคาพืชหลายชนิดอยู่ในเกณฑ์ดี สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรังและอ้อยโรงงาน
สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.0 โดยไม้ยูคาลิปตัสยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ลาว และญี่ปุ่น เพื่อนำไปใช้ผลิตเยื่อกระดาษและแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ถ่านไม้ เพิ่มขึ้นจากการส่งออกไปยังจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ประกอบกับความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ขณะที่ ไม้ยางพาราลดลง ตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่าเพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีและพืชอื่น ประกอบกับราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรตัดโค่นไม้ยางพาราลดลง