บาทอ่อน-เงินสำรองระหว่างประเทศลด เกี่ยวกันอย่างไร?
"เงินบาท" ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องไปกับการลดลงของ "เงินสำรองระหว่างประเทศ" ชวนทำความเข้าใจกลไกที่เกิดขึ้น เมื่อเงินบาทอ่อนค่า ทำไมเงินสำรองระหว่างประเทศจึงลดลง
เมื่อช่วงสายวันที่ 21 ก.ค.65 เงินบาทอ่อนค่าลงทะลุระดับ 36.9 บาทต่อดอลลาร์ นับเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 16 ปี หรือสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2549 โดยมีผลมาจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยที่รุนแรงต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. พุ่งทะลุระดับ 9% สูงสุดในรอบ 40 ปี
ดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง สหรัฐ ส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากมูลค่าเงินของหลายชาติเอเชียพาเหรดกันร่วงลงอย่างหนักในช่วงที่ 3-4 เดือนที่ผ่าน
อย่างไรก็ตาม แม้ค่าเงินในตลาดจะร่วงลงอย่างหนัก แต่เบื้องหลังตัวเลขดังกล่าวยังมีการจัดการโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศอยู่ เพื่อไม่ให้ค่าเงินมีความผันผวนมากจนเกินไป ซึ่งตรงนี้ส่งผลกระทบไปยังระดับเงินสำรองระหว่างประเทศ โดยเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ทุนสำรองฯ ประเทศไทย ลดลงไปราว 9,060 ล้านดอลลาร์ หรือ 3.4 หมื่นล้านบาท ณ ระดับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 35.2870 บาทต่อดอลลาร์
เงินสำรองฯ ที่ลดลงดังกล่าว บางส่วนที่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือต้านแรงอ่อนค่าของเงินบาท เพื่อไม่ให้มูลค่าลดลงเร็วจนเกินไป หรือมีความผันผวนมากจนเกินไป ในทางตรงข้าม หากเงินบาทแข็งค่ามากจนเกินไป ก็จะมีผลต่อระดับเงินสำรองฯ เช่นกัน โดยสามารถศึกษารายละเอียดได้ดังต่อไปนี้
- รู้จัก “เงินสำรองระหว่างประเทศ”
เงินสำรองระหว่างประเทศ (International reserves) คือ สินทรัพย์ต่างประเทศที่อยู่ในความดูแลของธนาคารกลาง ซึ่งประกอบไปด้วย ทองคำ สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights : SDR) สินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และสินทรัพย์ในรูปเงินตราต่างประเทศ
เงินสำรองฯ นับเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่สำคัญของธนาคารกลางทุกแห่งทั่วโลก เพราะมีบทบาทที่สำคัญอย่างการเป็น “กันชน” ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ รองรับความเสี่ยงจากภายนอกที่ส่งผ่านเข้ามาในรูปความผันผวนของค่าเงิน
นอกจากนั้น ยังทำหน้าที่เป็นส่วนชดเชยการขาดดุลบัญชีการค้าของประเทศ เช่น ในเวลาที่ประเทศมีการขาดดุลทางการค้าและบริการ หรือมีรายจ่ายในการนำเข้ามากกว่ารายรับจากการส่งออก ส่วนที่ขาดดุลไปตรงนี้ จะถูกชดเชยด้วยเงินสำรองฯ ของประเทศ
การมีระดับเงินสำรองฯ ที่สูง จึงช่วยให้ประเทศนั้นๆ สามารถจัดการกับความเสี่ยงจากธุรกรรมระหว่างประเทศได้อย่างคล่องตัว ดังนั้น นอกจากจะเป็นเครื่องมือทางนโยบายแล้ว ปริมาณเงินสำรองฯ ยังเป็นเครื่องวัดสถานะทางการเงินของแต่ละประเทศอีกด้วย
- กลไกการเปลี่ยนแปลงของระดับเงินสำรองฯ
อย่างที่กล่าวไปว่า เงินสำรองฯ มีบทบาทในการเป็นตัวรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน หรือสถานการณ์ที่เงินแข็งค่าหรืออ่อนค่าเร็วและแรงจนเกินไปในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายให้กับประเทศนั้นๆ ได้
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง ธนาคารกลาง จึงเข้ามีบทบาทต้านการอ่อนค่าหรือแข็งค่าที่เร็วเกินไปของค่าเงิน ตรงนี้นี่เองที่มีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับเงินสำรองฯ ของประเทศ
เงินสำรองสามารถต้านการอ่อนค่าหรือแข็งค่าของเงินได้จากการเข้าไปดูดซับความต้องการส่วนเกินในการซื้อหรือขายเงินสกุลนั้นๆ โดยอธิบายได้ว่า เงินอ่อนค่าลงจากการมีความต้องการขายในตลาดเงินตราต่างประเทศมากกว่าความต้องการซื้อ ทำให้ต้องมีการลดราคาหรือมูลค่าลง เพื่อให้ขายได้
ในทางเดียวกัน อาจเกิดจากมีความต้องการซื้อเงินตราต่างประเทศมากกว่าความต้องการขาย ทำให้เงินต่างประเทศแพงขึ้น ซึ่งหากปล่อยให้กลไกในตลาดเงินตราต่างประเทศดำเนินต่อไป อาจส่งผลให้ค่าเงินนั้นๆ อ่อนลงไปได้เช่นกัน
ความต้องการซื้อหรือขายเงินในสกุลต่างๆ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ยกตัวอย่างเช่น หากปริมาณการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการในเงินต่างประเทศสูงขึ้นตามมา เพื่อชำระค่าสินค้าให้กับผู้ขายสินค้าในต่างประเทศ หรือหากมีนักลงทุนต่างชาติมีความต้องการลงทุนในประเทศมากขึ้น ก็จะมีความต้องการซื้อเงินท้องถิ่นมากขึ้นเช่นกัน เพื่อนำเงินมาลงทุน อีกกรณีคือ ความเชื่อมั่นต่อสกุลเงินนั้นๆ หากมีความน่าเชื่อถือต่ำ ก็อาจมีผลให้เกิดความต้องการขายเงินสกุลนั้นๆ ได้ เป็นต้น
เมื่อธนาคารกลางเห็นสัญญาณความผันผวนของค่าเงินในตลาด จึงเข้ามาเป็นผู้ซื้อเงินสกุลประเทศตนด้วยเงินตราต่างประเทศ ให้ความต้องการซื้อและขายมีความเท่ากัน ป้องกันการขายลดมูลค่าลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารกลางนำมาใช้เป็นผู้ซื้อเงินประเทศตน นั่นก็คือส่วนของเงินสำรองฯ นั่นเอง และยิ่งธนาคารกลางต้องเข้าไปเป็นผู้ซื้อมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เงินตราต่างประเทศที่ถืออยู่ลดลงเท่านั้น
ในทางตรงกันข้าม หากเงินมีการแข็งค่าขึ้นจนเกินไป ธนาคารกลางจะเข้ามาเป็นผู้ขายเงินประเทศตนในตลาด ซึ่งการขายนี้จะได้รับการชำระเป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามาเก็บไว้ในกระเป๋าเงินสำรองฯ จึงได้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามกับการอ่อนค่านั่นคือ ยิ่งธนาคารกลางต้องขายเงินของประเทศตนหรือซื้อเงินตราต่างประเทศในตลาดมากเท่าไร เงินสำรองฯ ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันว่า กระเป๋าเงินสำรองฯ ไม่ได้มีแค่เงินตราต่างประเทศ แต่ยังมีทองคำหรือทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งหากเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น ธนาคารกลางของแต่ละประเทศก็จะนำไปแปลงเป็นสินทรัพย์ชนิดอื่น แต่จะเปลี่ยนไปอยู่ในสินทรัพย์อื่นเท่าใดก็เป็นไปตามดุลยพินิจและกลยุทธ์การบริหารของธนาคารกลางในประเทศนั้นๆ
- บาทอ่อนค่าหนัก เงินสำรองฯ ไทยเป็นอย่างไร
ค่าเงินที่แข็งค่าหรืออ่อนค่าเร็วเกินไป ส่งผลต่อเสถียรภาพทางด้านราคาและการเงินระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การแข็งค่าเร็วจนเกินไป ก็มีผลกับภาคส่งออก ทำให้ขายสินค้ากับต่างประเทศได้ลดลง รายได้ของประเทศก็จะลดลงตามไปด้วย ซึ่งอาจมีผลให้เศรษฐกิจหดหรือชะลอตัวลงได้ หากประเทศนั้นมีรายได้จากภาคการส่งออกอยู่ในสัดส่วนสูง อย่าง ประเทศไทย เป็นต้น
ในทางตรงข้าม เงินที่อ่อนค่าเร็วเกินไป จะทำให้ราคาสินค้านำเข้าพุ่งขึ้นตามไปด้วย อำนาจซื้อของคนในประเทศจะลดลงทันที ส่วนนี้ส่งผลถึงขั้นทำให้คุณภาพชีวิตคนในประเทศลดลงตามไปด้วย อีกทั้งผู้กู้เงินจากต่างประเทศ อาจต้องประสบกับหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับการอ่อนค่าลงของเงินบาทรุนแรงที่สุดในรอบ 16 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการทิศทางนโยบายที่ต่างกันของไทยและประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง สหรัฐ ก่อให้เกิดเป็นความต่างของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ส่งผลต่อการโยกย้ายเงินทุนไปยังประเทศที่มีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีกว่า
สถานการณ์ข้างต้นกดดันให้ค่าเงินบาทร่วงลง โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2565 เงินบาทไทยอ่อนค่าลงไปแล้วกว่า 10% สวนทางกับการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐที่ 11.43% ซึ่งเป็นการทำสถิติสูงสุดในรอบ 20 ปี
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาที่ระดับเงินสำรองฯ ของไทย พบว่า แค่เดือนมิ.ย. ที่ผ่านมาเดือนเดียว เงินสำรองฯ ลดลงไปราว 9,060 ล้านดอลลาร์ และหากเทียบจากสิ้นปีที่ผ่านมา เงินสำรองฯ ลดลงไปแล้วประมาณ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเงินสำรองฯ ที่หายไปตรงนี้ บางส่วนถูกนำไปแทรกแซงค่าเงินบาทด้วยสัดส่วนราว 50% ของเงินสำรองฯ ที่ลดลง เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านอัตราแลกเปลี่ยน
สำหรับส่วนเงินสำรองฯ ที่ลดลงที่ไม่ใช้การนำไปใช้แทรกแซงค่าเงิน เกิดขึ้นจากการปรับมูลค่าทรัพย์สินที่อยู่ในบัญชีเงินสำรองฯ เนื่องจากเงินสำรองฯ จะถูกตีมูลค่าเป็นดอลลาร์ เมื่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จึงทำให้เงินสกุลอื่นในบัญชีเงินสำรองฯ มีมูลค่าลดลงโดยเปรียบเทียบ อีกทั้งยังมีการลดลงของอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนร่วมด้วย
พอมาถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มสงสัยว่า หากธนาคารกลางสามารถต้านการอ่อนค่าหรือแข็งค่าของสกุลเงินท้องถิ่นของตนได้ เหตุใดค่าเงินบาทจึงยังอ่อนค่าลงอยู่ในทุกวันนี้
คำตอบของข้อสงสัยดังกล่าวอยู่ที่ นโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศไทย โดยนับตั้งแต่การลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 ประเทศไทยได้เปลี่ยนระบบปริวรรตเงินตรา จากระบบผูกค่าเงินไว้กับตะกร้าเงิน (Pegged Exchange Rate) มาเป็นระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float)
ดังนั้น การแทรกแซงดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อกำหนดให้ค่าเงินบาทอยู่ที่เท่าใด แต่เป็นเพียงการขจัดการขึ้นลงอย่างไม่สมเหตุสมผลในบางสถานการณ์เท่านั้น จึงเป็นที่มาให้เรายังคงเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าปริมาณเงินสำรองของไทยจะลดลงไป แต่การลดลงด้วยจำนวน 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นการลดลงราว 10% เมื่อเทียบกับปริมาณเงินสำรองฯ ณ สิ้นปี 2564 ที่อยู่ในระดับ 2.79 แสนล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ หากพิจารณาที่มูลค่าเงินสำรองฯ ในปัจจุบัน (มิ.ย. 65) ราว 2.5 แสนล้านดอลลาร์ พบว่า มีค่าสูงกว่าระดับหนี้ต่างประเทศระยะสั้นราว 2.5 เท่า และด้วยมูลค่าเงินสำรองฯ ดังกล่าว ยังเพียงพอต่อการจ่ายค่าสินค้านำเข้าของประเทศได้ถึง 9 เดือน
ทั้งหมดที่กล่าวไปชี้ให้เห็นว่า ระดับสำรองฯ ของไทยลดลง จากการนำไปใช้รักษาระดับค่าเงินให้ไม่มีความผันผวนมากจนเกินไป ซึ่งตรงนี้จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภายนอกมากจนเกินไป และยังช่วยให้ธปท. สามารถดำเนินนโยบายเพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างที่ต้องการ
---------------------------------------------
อ้างอิง
รุ่งนภา พิมมะศรี , ธนาคารแห่งประเทศไทย , Trading Economics , XE