แกะสูตร "ไมเนอร์ฟู้ด" สู้เงินเฟ้อ! ดันร้านอาหาร 44 แบรนด์อัพรายได้
“ไมเนอร์ ฟู้ด” ผู้ให้บริการด้านอาหารและธุรกิจแฟรนไชส์ระดับโลก ด้วยเครือข่ายร้านอาหาร 2,410 ร้าน กระจายใน 24 ประเทศ ภายใต้ 44 แบรนด์ร้านอาหาร อาทิ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, บอนชอน, สเวนเซ่นส์ และซิซซ์เลอร์ เป็นความท้าทายยิ่งนักกับการงัดสารพัดกลยุทธ์ใดมาใช้สู้ภาวะ “เงินเฟ้อ”
ซึ่งกำลังป่วน "ต้นทุน" ภาคธุรกิจในปัจจุบัน
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 เริ่มระบาดเมื่อปี 2563 แต่กลุ่มธุรกิจอาหารของไมเนอร์ฯสามารถทำกำไรสุทธิต่อเนื่อง 7 ไตรมาส จนถึงไตรมาส 1 ปีนี้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ
นอกเหนือจากการจัดโปรโมชั่นเพิ่มยอดขายแล้ว บริษัทได้ใช้กลยุทธ์ “ฟื้นฟูแบรนด์” (Brand Revitalization) ทำตลาดเชิงรุก สร้างความสดใหม่แก่แบรนด์ เจาะกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ออกแบบร้านอาหารและประสบการณ์ในรูปแบบใหม่ๆ เช่น การเปิดตัว “สเวนเซ่นส์ คราฟต์ บาร์” แฟลกชิปสโตร์แห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ ที่สยามพารากอน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และการสร้างประสบการณ์แตกต่างในการนั่งทานที่ร้านของแบรนด์ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี โดยมี “ไมเนอร์ ฟู้ด อินโนเวชั่น ทีม” (เอ็ม-ฟิต) ช่วยเฟ้นหาสินค้าใหม่ๆ มาดึงดูดลูกค้า
“กลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยสร้างคุณค่าของแบรนด์ (Brand Equity) ให้อยู่ในใจ Top of Mind และสร้างความผูกพันกับลูกค้า ทำให้แบรนด์สดใหม่ สามารถดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคทั้งเจเนอเรชั่นเก่าและใหม่ในระยะกลางและระยะยาว”
อีกกลยุทธ์สำคัญคือการขยายร้านอาหารแบบชาญฉลาดหรือ “Smart Expansion” เลือกฟอร์แมตของร้านอาหารให้เหมาะกับโลเกชั่นและตรงความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารขนาดใหญ่แบบนั่งทานเต็มรูปแบบ, ร้านอาหารขนาดเล็กลง มีที่นั่งสำหรับทานในร้าน เหมาะกับการสั่งกลับบ้านและดิลิเวอรี่, ร้านแบบ Grab & Go และร้านแบบ Drive-Thru เพื่อสร้างกำไรต่อร้านให้มากขึ้นกว่าเดิม
ควบคู่กับการเดินกลยุทธ์ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชั่น” พยายามเข้าถึงและสร้างประสบการณ์แก่ลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล เติมเต็มประสบการณ์แบบ “ออมนิ-ชาแนล” (Omni-channel) ให้ดียิ่งขึ้นในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสั่งอาหารจนถึงการชำระเงิน หลังจากลูกค้าใช้ช่องทางดิจิทัลเพื่อสั่งซื้ออาหารได้คล่องขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด พร้อมจัดทำลอยัลตี้ โปรแกรม ส่งเสริมให้ลูกค้าซื้อซ้ำ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละเซ็กเมนต์ และขยายช่องทางดิลิเวอรี่ของตัวเอง ผ่านแอปพลิเคชัน 1112 Delivery ด้วย
สำหรับสถานการณ์ “เงินเฟ้อ” ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทมองว่าเป็นปัจจัยที่พอจะคาดการณ์และเตรียมปรับตัวตั้งรับได้ สามารถหากลยุทธ์มาลดทอนผลกระทบได้ทัน ต่างจากวิกฤติโควิด-19 ที่มาแบบตูมเดียว!
“กลยุทธ์ที่เราใช้รับมือกับภาวะเงินเฟ้อ แน่นอนว่ามีเรื่องการบริหารต้นทุนวัตถุดิบ โดยทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สั่งซื้อจากซัพพลายเออร์หลายรายเพื่อให้ได้ราคาวัตถุดิบดีที่สุด พร้อมมอนิเตอร์ราคาวัตถุดิบอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มสต็อกบางตัวในช่วงที่ราคาลดลง เป็นการตุนเอาไว้ให้เรามีเวลาและสายป่านไปบริหารรับมือภาวะเงินเฟ้อมากขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้างเมนูอาหาร และปรับราคาบางเมนูให้สอดคล้องกับต้นทุน โดยอาจเป็นสินค้าที่ลูกค้าไม่ได้อ่อนไหว (Sensitive) กับการขึ้นราคา”
ชัยพัฒน์ เล่าเพิ่มเติมว่า จาก “ฮับธุรกิจร้านอาหาร” ของไมเนอร์ฟู้ดซึ่งปักธงใน 3 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย และจีน พบว่าตอนนี้ฮับธุรกิจร้านอาหารในไทยฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่องจากการบริโภคภายในประเทศ ส่วนฮับธุรกิจร้านอาหารในออสเตรเลีย เห็นการเดินทางท่องเที่ยวและติดต่อธุรกิจเพิ่มขึ้นหลังผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ส่วน “ฮับธุรกิจร้านอาหารในจีน” ได้รับผลกระทบในช่วงครึ่งปีแรก แต่ยังดีที่ได้กำไรจากฮับฯในไทยและออสเตรเลีย รวมถึงประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ มาช่วยลดทอนผลกระทบ
“อย่างไรก็ตาม เราเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในฮับฯประเทศจีน เพราะเริ่มมีการคลายล็อก ผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ ตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา น่าจะเห็นการฟื้นตัวช่วงครึ่งหลังของปีนี้ในลักษณะ V-shape”
สำหรับภาพรวมกลุ่มไมเนอร์ฟู้ด จากข้อมูล ณ สิ้นเดือน มี.ค.2565 ฮับธุรกิจร้านอาหารในไทยมีสัดส่วนการสร้างรายได้สูงสุด 60% ของรายได้ทั้งหมดในกลุ่มธุรกิจอาหาร รองลงมาคือจีน 17% ออสเตรเลีย 10% และประเทศอื่นๆ มีสัดส่วนรายได้รวมกันที่ 13%