TDRI ยันดีล ‘ทรู-ดีแทค’ ผู้บริโภคเสียประโยชน์

TDRI ยันดีล ‘ทรู-ดีแทค’ ผู้บริโภคเสียประโยชน์

“ถ้าปล่อยให้เกิดการควบรวม คนที่ทำมาหากินกับการค้าขายออนไลน์ คนตัวเล็ก ตัวน้อยต่อไปก็จะต้องจ่ายค่าโทรศัพท์ ค่ามือถือ ค่าอินเตอร์เน็ตที่แพงก็จะยิ่งมีเงินในกระเป๋าน้อยลงไปอีก จึงไม่อยากให้มีการควบรวมในกรณีแบบนี้”

ในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะส่งรายงานสรุปผลการพิจารณาจากอนุกรรมการทั้ง 4 ชุดกรณีการควบรวมกิจการระหว่างบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทคมายังบอร์ด กสทช.  และคาดว่าบอร์ด กสทช.จะนัดประชุมวันที่ 10 สิงหาคมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว

ขณะที่วันพรุ่งนี้ สภาองค์กรผู้บริโภค จะแถลงข่าว “ชะตากรรมผู้บริโภคกับยุคผูกขาดคลื่นความถี่” ซึ่งจะมีตัวแทนผู้บริโภค นักเศรษฐศาสตร์ ถกข้อดี ข้อเสียของดีลดังกล่าว 

ล่าสุดประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่จะมีการควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกันโดยเรื่องนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นว่าถ้าหากให้มีการควบรวมในสาขานี้ไปได้เรื่องที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลก็จะเกิดขึ้นได้ยาก

“ถ้าปล่อยให้เกิดการควบรวม คนที่ทำมาหากินกับการค้าขายออนไลน์ คนตัวเล็ก ตัวน้อยต่อไปก็จะต้องจ่ายค่าโทรศัพท์ ค่ามือถือ ค่าอินเตอร์เน็ตที่แพงก็จะยิ่งมีเงินในกระเป๋าน้อยลงไปอีก จึงไม่อยากให้มีการควบรวมในกรณีแบบนี้”

ส่วนกรณีหากมีการควบรวมแล้วสภาพการแข่งขันจะเปลี่ยนไปหรือไม่ หากผู้ให้บริการในไทยลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย นายสมเกียรติ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากครับจากผลการศึกษาโดยทั่วไประบุว่าหากเปลี่ยนจากผู้ให้บริการจาก 4 รายเหลือ 3 ราย ค่าบริการจะปรับขึ้น 5-6% แต่หากเปลี่ยนจาก 3 รายเหลือ 2 รายค่าบริการจะปรับขึ้นเป็น 20 – 30% ดังนั้นไม่ได้หมายความว่าหากมีการปรับลดลงในส่วนของผู้ให้บริการหนึ่งรายแล้วจะมีผลกระทบกับผู้บริโภคเหมือนกัน เพราะยิ่งเหนือน้อยรายเท่าไหร่ยิ่งอันตราย เพราะส่งผลต่อเรื่องการผูกขาดของตลาด