Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 1 August 2022

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 1 August 2022

ราคาน้ำมันดิบผันผวน ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มตึงตัว

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 90-110 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 95-115 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 1 August 2022

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (1-5 ส.ค. 65) 

    ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน หลังสหรัฐฯ ประกาศปรับตัวเลข GDP ลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ของปี 65 สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องที่ 0.75% เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้ตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน ในขณะที่การผลิตน้ำมันดิบของลิเบียกลับมาดำเนินการอีกครั้ง หลังประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (force majeure) อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาการประชุมของ OPEC+ ที่คาดว่ากลุ่มอาจไม่สามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตเกินกว่าแผนที่วางไว้ ส่งผลให้ตลาดยังคงกังวลอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัว
 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

- ตัวเลข GDP ไตรมาส 2/65 ของสหรัฐฯ ปรับลดลง 0.90% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q) ซึ่งเป็นการปรับลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส สะท้อนถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยในเชิงเทคนิค ขณะที่การประชุมคณะกรรมการกลางนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) วันที่ 26-27 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 75 bps หรือ 0.75% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่ 2.25-2.50% ทั้งนี้ในระยะสั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้หันมาสนใจลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ขณะที่ในระยะยาว การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็วและติดต่อกัน อาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน

-  IMF (รายงานเดือนก.ค. 65) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก (GDP) ปีนี้ ลง 0.4% จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า มาอยู่ที่ 3.2% เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซียยูเครน สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนและอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงินโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลกดดันการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน
 

-  ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 860,000 บาร์เรลต่อวัน หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) ประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (force majeure) ที่แหล่งผลิตน้ำมันหลายแห่ง ขณะที่ลิเบียคาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในช่วงกลางเดือนส.ค. 65 การกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันดิบอีกครั้งของลิเบีย ช่วยบรรเทาภาวะอุปทานน้ำดิบตึงตัวได้

-  ตลาดจับตาจากการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 3 ส.ค. 65 โดยตลาดคาดการณ์ว่าทางกลุ่มอาจไม่สามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตเกินกว่าแผนที่วางไว้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านปริมาณการผลิตสำรอง (spare capacity) ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัว

-  รัสเซียประกาศจะไม่ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศที่ใช้มาตรการตรึงราคา (price cap) น้ำมันของรัสเซีย หลังก่อนหน้านี้สหรัฐฯ และยุโรปพิจารณาใช้มาตรการดังกล่าว เพื่อจำกัดรายได้จากการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย แต่ยังสามารถให้น้ำมันของรัสเซียออกสู่ตลาดได้ อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวต้องได้รับความร่วมมือจากหลายประเทศนอกเหนือจากประเทศสมาชิก ซึ่งจีนและอินเดียอาจไม่ร่วมมือกับมาตรการตรึงราคา เนื่องจาก 2 ประเทศมีการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง และอาจถูกตอบโต้จากรัสเซียโดยการหยุดส่งออกน้ำมันและก๊าซไปยังยุโรปได้ 

- ปริษัท Gazprom ปรับลดปริมาณการส่งออกก๊าซธรรมชาติผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 1 ลงเหลือ 20% ของกำลังการผลิตหลังก่อนหน้านี้กลับมาดำเนินการส่งออกได้ราว 40% ของกำลังการผลิต หลังจากปิดปรับปรุงระหว่างวันที่ 11 – 21 ก.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่สหภาพยุโรปกำลังเตรียมแผนที่จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นแทนที่รัสเซียเพื่อเพิ่มการเก็บสต๊อกให้ได้มากถึง 80% ของกำลังการผลิต ก่อนเข้าสู่ช่วงหน้าหนาวในปลายปี ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากอุปทานที่ตึงตัว  ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันแทนก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น

- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (PMI) เดือนก.ค. 65 ของจีน ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าอาจปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 50.5 และอัตราการว่างงานเดือนมิ.ย. 65 ของยุโรป ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 6.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 6.6% 

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (25-29 ก.ค. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.92 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 98.62 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 4.86 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 110.01 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 107.35 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว หลัง IMF ปรับลด GDP โลกปี 2565 ด้านสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจปรับลดลงมากกว่าที่คาดไว้ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบถูกกดดัน เนื่องจากลิเบียกลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันดิบอีกครั้ง ประกอบกับสหรัฐฯ ประกาศแผนขายน้ำมันดิบจากคลังสำรองยุทธศาตร์ (SPR) กว่า 20 ล้านบาร์เรล เพื่อช่วยบรรเทาภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว