“ดับเบิลยูทีโอ”เสริมแกร่งการค้า สู้โลกร้อนบั่นทอนเศรษฐกิจ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในเวทีการทบทวนความช่วยเหลือด้านการค้า ปี 2565 โดยองค์การการค้าโลก (WTO) ที่มีเป้าหมายเพื่อการเป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อมขณะเดียวกันก็ได้ผลลัทธ์ทางการค้าที่น่าพอใจด้วย
Xiangchen Zhang รองผู้อำนวยการWTO ได้กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือ ClimateChange คือหนึ่งในความท้าทายที่สุดที่กดดันทุกภาคส่วนซึ่งข้อมูลจากธนาคารโลกที่ได้ประเมินว่าประเทศในกลุ่มรายได้น้อยถึงปานกลางจะมีค่าใช้จ่ายเพื่อรับมือกับความเสียหายทางธรรมชาติราว 390,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
โดย ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ที่เพิ่มความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจให้สามารถรับมือกับความสุดโต่งของสภาพอากาศ ผ่านการเข้าถึงความหลากของซัพพลายเชน ,การเตรียมสินค้าและบริการที่จำเป็นในช่วงเวลาที่เหมาะสม,การปรับปรุงความมั่นคงด้านอาหาร และการเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสภาพอากาศ
“การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำก็มีค่าใช้จ่าย เพราะต้องเริ่มจากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ด้านการผลิต การขนส่งและระบบการใช้สอยที่ดิน ซึ่งมาตรการที่นำมาใช้จะส่งผลในระยะสั้นคือต้นทุนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานบางส่วนลดลง แต่ในระยะยาวการมุ่งสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง”
องค์การพลังงานนานาชาติInternational Energy Agency (IEA) ประเมินว่าเพื่อบรรลุข้อตกลงปารีสคาดว่าจะมีการลงทุนด้านพลังงานสะอาดราว 4 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2573 และประเมินว่าการเปลี่ยนผ่านสีเขียวนี้จะนำมาซึ่งโอกาสการจ้างงาน โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประเมินว่าจะมีการจ้างงานที่เกิดจากเศรษฐกิจสีเขียวถึง 24 ล้านตำแหน่งทั่วโลกในปีเดียวกัน
ด้านการขับเคลื่อนเพื่อก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านพบว่า ข้อตกลงเพื่อการช่วยเหลือทางการค้าในปี 2563 มีสัดส่วนถึง51% ที่มีเป้าหมายเพื่อการดูแลสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ขณะที่ประมาณ 40%ของกองทุนที่เกี่ยวกับโลกร้อนอยู่ในประเทศพัฒนาน้อย และพบว่ามีการปรับความช่วยเหลือทางการค้าสำหรับการเบิกจ่ายในโครงการที่สามารถนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ได้เพิ่มขึ้นถึง 36%ช่วงปี 2562-2563 ในทางตรงกันข้าม โครงการที่ไม่สามารถนำทรัพยากรกลับมาใช้ได้ มีการให้เงินทุนลดลงถึง 26% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ อุณหภูมิสูงหรือต่ำกว่าปกติฝนตกล่าช้า และความแปรปรวนของฤดูกาล ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ในช่วงเวลาที่เคยเพาะปลูกหรือที่วางแผนไว้ได้ และ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิยังส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันยังสร้างความเสียหายต่อผลผลิต เช่น ผลไม้ไม่ติดดอกออกผล ปลาที่น็อคน้ำ ไก่เนื้อกินอาหารได้น้อยลงและเติบโตช้า เป็นต้น
“เกิดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ที่รุนแรงมากขึ้น สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตร ทำให้ผลผลิตลดลง การเกิดภัยแล้ง-น้ำท่วมที่ต่อเนื่อง และการเกิดน้ำหลากที่ชะล้างหน้าดิน อาจส่งผลต่อโครงสร้างของดินและความเหมาะสมของดินในการทำการเกษตร”
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรจากหลายด้าน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง พันธุ์พืชและสัตว์ที่มีอยู่ไม่สามารถปรับตัวต่อสภาวะอากาศที่เปลี่ยนไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียผลผลิตและมีต้นทุนการผลิตทำให้ภาวะเศรษฐกิจทางการเกษตร(GDPภาคการเกษตร)มีแนวโน้มลดลงและผันผวนมากขึ้น
จากข้อมูลต่างๆที่รวบรวมมาทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ กำลังชี้ทิศทางการค้าที่พร้อมเปิดรับและลดกำแพงข้อกีดกันต่างๆเพื่อต้อนรับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งเเวดล้อม สู่เป้าหมายเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ