กูรู แนะจัดทัพลงทุน "หุ้น-บอนด์-ทองคำ" สู้เงินเฟ้อ-ตลาดผันผวน
“ตราสารหนี้-หุ้น-ทองคำ” ยังมีความผันผวนและความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย “เคทีบีเอสที“ ยกให้ ”ตราสารหนี้-หุ้นตลาดเกิดใหม่-หุ้นดีเฟนซีฟ“ โดดเด่น ”สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย“ ชี้ ”พันธบัตรรัฐบาล-หุ้นกู้กลาง-ยาว” สู้เงินเฟ้อได้ “วายแอลจี” มองทองยังเป็นสินทรัพย์รีเทิร์นดี
“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” (ThaiBMA) และ “สภาธุรกิจตลาดทุนไทย” ( FETCO) จัดเสนาออนไลน์หัวข้อ “จัดทัพลงทุน ฝ่าวิกฤติเงินเฟ้อ” โดยมี “3 กูรู” มาแนะนำการจัดพอร์ตลงทุนรับสารพัดปัจจัยกดดันรอบด้าน
นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เคทีบีเอสที โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST กล่าวว่า เคทีบีเอสที มีมุมมองช่วงครึ่งปีหลัง 2565 คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกจะเป็น softlanding สิ้นปีนี้ คาดดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อยู่ที่ 3.5% ดอกเบี้ยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ 1.25% จีดีพีสหรัฐโต 2.33% แม้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค และจีดีพีไทยโต 2.54%
โดยให้น้ำหนักมากที่สุดถึง 60% กับเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง 2565 จะออกมาในรูปแบบ “Disinflation” คือ ถ้าเงินเฟ้อหักหัวลงราคาน้ำมันต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เศรษฐกิจโลก softlanding สิ้นปีนี้ เฟดขึ้นดอกเบี้ยมาที่ 3,5% หลังจากนั้นอาจค้างหรือปรับขึ้นเป็น 3.75-4% ในปี 2566 แต่เศรษฐกิจโลกไม่โต ทำให้มีโอกาสที่เฟดใช้ดอกเบี้ยมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบในปี 2567 ส่วนรูปแบบ Staginflaton และ Recession ของเศรษฐกิจโลกให้น้ำหนัก 10-20% เท่านั้น
การลงทุนครึ่งปีหลัง 65 ต่อเนื่องถึงครึ่งปีแรก 2566 แนะนำลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นตลาดเกิดใหม่ ในเอเชียและอาเซียน (ไทย อินโดนีเซีย มีปัจจัยพื้นฐานดี) และหุ้นดีเฟนซีฟยังน่าสนใจและปลอดภัย รองรับความผันผวนและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทั้งในและต่างประเทศได้
สำหรับหุ้นไทย มองว่า หลังจากนี้ไม่ได้แย่ ซึ่งผ่านมรสุมเลวร้ายมาแล้วแนวรับ 1,500 จุด ซึ่งวางกลยุทธ์เลือกหุ้นรายตัวให้ถูกตัว ลดน้ำหนักกลุ่มพลังงาน และเพิ่มน้ำหนักกลุ่มแบงก์ และอุปโภคบริโภคในประเทศ กลุ่มที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว (โรงพยาบาล อาหาร) และส่งออก แต่ในภาวะสภาพคล่องลดลง เป็นสิ่งที่นักลงทุนทั่วไปต้องระวังกลยุทธ์ลงทุนให้เน้นเกาะไปกับหุ้นขนาดใหญ่
นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า การลงทุนตราสารหนี้ที่จะมาสู้กับเงินเฟ้อในมุมมองลงทุนระยะกลางถึงยาว โดยคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ 6.5% ปีหน้า 2-2.5% มองว่าหากเป็นลงทุนระยะ 5 ปี และลงทุนตราสารหนี้ เครดิตเรตติ้ง BBB-AAA ยังให้ผลตอบแทนที่ดีชนะเงินเฟ้อได้
สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ไม่มาก “พันธบัตรรัฐบาล” ยังเป็นเครื่องมือการลงทุนได้ดี แนะลงทุนพันธบัตรรัฐบาล ระยะกลางถึงยาว ตั้งแต่ 3-10 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3-4 % ต่อปี ยังสามารถสู้เงินเฟ้อในระยะยาวได้
และหากผู้ลงทุนรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น สามารถลงทุนในอายุพันธบัตรที่ยาวขึ้น ผลตอบแทนจะสูงขึ้น รวมถึงหุ้นกู้เอกชน ระยะสั้น อายุเฉลี่ย 1-3 ปีขึ้นไป ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3-5% ก็ต่อสู้เงินเฟ้อได้เช่นกัน
จากข้อมูลผลตอบแทน ช่วง 10ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2564) สำหรับ “พันธบัตรบัตรรัฐบาลไทย” พบว่า อายุ 1-3 ปี ที่ 2.5% ,อายุ 3-7 ปี ที่ 3.5% ,อายุ 7 - 10 ปี ที่ 4% และอายุ มากกว่า 10 ปี ที่ 5% หรือทุกอายุเฉลี่ย 4-5%
ในส่วน “หุ้นกู้เอกชน เครดิตเรทติ้งระดับลงทุน” อายุ1-3 ปี ที่ 3.5% ,อายุ 3-7 ปี เฉลี่ย 4% ,อายุ 7 -10 ปี ที่ 5% หรือทุกอายุเฉลี่ยที่ 5.5% ยังใกล้เคียงพันธบัตรรัฐบาล
การจัดพอร์ตลงทุนฝ่าวิกฤติเงินเฟ้อยังคงแนะ “จัดทัพลงทุนมุ่งวัตถุุประสงค์” แบ่งทัพลงทุนเป็น กองหน้าเน้นหุ้นทุนสร้างความมั่งคั่ง กองกลางเน้นตราสารหนี้ สร้างกระแสเงิน และรักษาอำนาจ ส่วนกองหลัง เน้นตราสารหนี้ระยะสั้น คุ้มครองเงินต้น และให้สภาพคล่อง ที่สำคัญการลงทุนที่ดีต้องมีการจัดทัพลงทุนที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และยังต้องมีการกระจายความเสี่ยงด้วย
"การลงทุนต้องดูจากการรับความเสี่ยงและเงินของแต่ละคน หากยังมีความกลัวเงินเฟ้อ แนะให้รอดูสถานการณ์ก่อน หรือทยอยใส่เงินลงทุนที่อยู่ในรูปแบบกองหลัง แต่หากเป็นผู้ลงทุนระยะยาวและรับความผันผวนระหว่างทางได้ จังหวะนี้ที่ตลาดบอนด์ไม่ได้พุ่งขึ้นแล้วสามารถทยอยเข้าลงทุนได้"
นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) เปิดเผยว่า หากมองราคาทองคำในช่วงครึ่งปีหลังจะไซด์เวย์ขึ้น-ลง แต่คาดว่าปลายปีนี้มีโอกาสเห็นราคาทองคำปรับตัวขึ้น ซึ่งระยะสั้นมองกรอบทองคำไซด์เวย์
โดยปัจจัยหลักจะอยู่ที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด แต่หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคาดการณ์ทองคำจะไซด์เวย์ แต่หากไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ทองคำมีโอกาสที่จะปรับขึ้น-ลง
อย่างไรก็ตาม ปีนี้พบว่าความต้องการทองคำมากสุดคือ กองทุนรวมอีทีเอฟทองคํา (Gold ETF) โดยครึ่งปีแรกมีการเข้ามาถือครองทองคำถึง 272 ตัน ทั้งๆ ที่ปีนี้มีการขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนก.พ. ที่ผ่านมา แต่กองทุนขนาดใหญ่ยังเข้าซื้อทองคำต่อเนื่อง
ส่งผลให้ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนยังมั่นใจและลงทุนได้ในยามที่สินทรัพย์อื่นๆ ผันผวน จากช่วงหลายปีที่ผ่านมาทองคำถูกขายออกพอสมควร ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่กองทุนใหญ่เข้ามาซื้อทองคำ แต่เมื่อเดือนก.ค. ที่เฟดมีการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% มีการไหลออกของทองคำแค่ 39 ตัน ซึ่งถือว่าน้อยมาก
ฉะนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่มองทองคำน่าจะเป็นสินทรัพย์ที่น่าจะเข้ามาถือครองได้ สะท้อนผ่านในช่วงที่ผ่านมาจีนจะเป็นผู้ซื้อทองคำมากสุด แต่นับตั้งแต่ปี 2020-ปัจจุบัน ประเทศอินเดียเป็นผู้ซื้อทองคำมากสุดและจีนเป็นอันดับสอง
ในระยะสั้นมองทองคำเป็นไซด์เวย์อัพ โดยให้จุดต้านแรก 1,780 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแนวต้านถัดไป 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และสุดท้าย 1,816 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ถ้าหากผ่านได้ถือเป็นการผ่านแนวต้านใหญ่ เราก็มีมุมมองทองคำจะนิวไฮเป็นขาขึ้น แต่หากไม่สามารถผ่านแนวต้านใหญ่ได้เรามองว่าทองคำมีโอกาสที่จะย่อมาต่ำสุดแนวรับเดิม 1,681 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็จะเป็นเทรนด์ขาลง
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามกรณี "แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เยือนไต้หวัน จะมีข้อพิพาทอื่นต่อเนื่อง และต้องดูปฏิกิริยาของจีนและสหรัฐจะมีความขัดแย้งกันไหม สะท้อนผ่านก่อนที่ แนนซี เพโลซี จะเดินทางไปไต้หวันเพียงแค่มีกระแสข่าวราคาทองคำดีดตัวขึ้นมา 20-30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหลังจากนี้ปัจจัยดังกล่าวน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งในพอร์ตการลงทุนควรกระจายความเสี่ยงโดยมีทองคำอยู่ประมาณ 5-10%