เอาไม่อยู่แล้ว! ต้นทุนพุ่ง ‘มาม่า’ ขอ 2 บาท ขึ้นราคาบะหมี่ฯเป็น 8 บาทต่อซอง
แบกไม่ไหวจริงๆ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อ้อนรัฐขอขึ้นราคาเป็น 8 บาทต่อซอง หลังต้นทุนผลิตทั้งแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ค่าขนส่ง ไร้วี่แววลดลง ชี้ขอขึ้นราคา 2 บาทต่อซอง เป็นทางออกการบริหารจัดการด้านการผลิตอย่างดีสุด ส่วนรัฐไฟเขียวให้ขยับไหม วัดใจ!
สถานการณ์ต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กลายเป็นเรื่องเกินเยียวยา และผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับไหวอีกต่อไป สำหรับสินค้าหลักในตลาดที่จำหน่ายซองละ 6 บาท
ทำให้ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทุกแบรนด์ไม่ว่าจะเป็น “มาม่า-ไวไว-ยำยำ” ต่างตบเท้าชี้แจ้งกระทรวงพาณิชย์ถึงรายละเอียดต้นทุน พร้อมกับยื่นเจตจำนงค์ขอปรับขึ้นราคาสินค้า
ทว่าจนแล้วจนรอด รัฐบาลยังไม่ไฟเขียวหรือมีการอนุมัติให้ผู้ผลิตขึ้นราคาแต่อย่างใด ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา “ราคา” ใหม่ที่ผู้ผลิตต้องการปรับขึ้นเป็น “กี่บาท” อาจยังได้คำตอบไม่ชัดเจน บ้างว่า 7 บาท บ้างมอง 8 บาท แต่ล่าสุด พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)หรือ TFMAMA ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเบอร์ 1 อย่าง “มาม่า” เปิดใจถึงสถานการณ์ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าโดยรวมยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม บรรจุภัณฑ์ ฯ
หากไล่เรียงภาวะต้นทุนพุ่งที่บริษัทต้องเผชิญและแบกรับ เป็นดังนี้ แป้งสาลีแตะกว่า 500 บาทต่อถุง จาก 250 บาทต่อถุง น้ำมันปาล์มเคยพุ่งพีคเกินกว่า 6 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) จาก 18 บาทต่อกก. แม้ขณะนี้ราคาอ่อนตัวลง แต่ยังอยู่ระดับสูงกว่า 50 บาทต่อกก. หรือสูงเกือบ 3 เท่าตัว และวัตถุดิบอื่น ทั้งสินค้าเกษตร ที่นำมาทำเป็นเครื่องปรุงรส และแพ็คเกจจิ้งสูงขึ้น 20-30%
นอกจากนี้ ค่าพลังงงาน ค่าไฟฟ้า(เอฟที)ยังมีการปรับขึ้น และในอนาคตผู้ผลิตต้องเผชิญกับต้นทุนค่าแรงขั้นต่ำ ที่คาดว่าจะขยับขึ้นแน่นอน กลายเป็นแรงกดดันต้นทุนใหม่อีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทยังสามารถบริหารจัดการด้านการผลิตสินค้าได้ “มาม่า” จึงขอขยับราคาสินค้าขึ้น 2 บาท จากซองละ 6 บาท เป็นซองละ 8 บาท
“สถานการณ์ต้นทุนการผลิตบะหมี่ฯ เวลานี้ ทุกอย่างยังคงปรับตัวสูงขึ้นทั้งหมด แม้ราคาน้ำมันปาล์มจะอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากจุดที่พึ่งไปสูงสุดหรือพีค แต่แนวโน้มคงไม่กลับมาเท่าเดิมแล้ว หากเราจะปรับราคาขึ้นแค่ 1 บาท ก็คงลำบาก จึงมองว่าราคาที่เหมาะสม เพื่อบริหารจัดการในฐานะผู้ผลิต จึงเสนอขึ้นราคา 2 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการได้ดีที่สุด ทว่า อำนาจการตัดสินใจว่าบะหมี่ฯ จะขึ้นราคาได้หรือไม่ ได้ตามที่ขอไหม ขึ้นอยู่กับอำนาจการพิจารณา และตัดสินใจของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้หาจุดเหมาะสม เพราะต้องมองทุกมิติ รวมถึงช่วงเวลาในการอนุมัติให้ขึ้นเป็นเมื่อใด”
หากผู้ผลิตไม่ได้ปรับขึ้น กรุงเทพธุรกิจ สอบถามถึงการผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดหรือซัพพลายจะเกิดปัญหา “ขาดแคลน” หรือไม่ “พันธ์” ตอบชัดว่า ในฐานะผู้ผลิตจะดูแลบริหารจัดการให้ดีที่สุด พยายามไม่ปล่อยให้สินค้าขาดตลาด สอดคล้องกับสิ่งที่ภาครัฐได้ขอความร่วมมือและย้ำผู้ผลิตอย่าให้เกิดภาวะดังกล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่บริษัททำได้ในฐานะผู้ผลิต แม้ต้นทุนวัตถุดิบแพง ยังคงต้องกัดฟันซื้อวัตถุดิบมาไว้ให้มีปริมาณเพียงพอต่อการผลิตสินค้า
“เรามีการหารือกัน หากต้นทุนพุ่ง ราคาสูงจนไม่สามารถแบกไม่ไหวจะทำอย่างไร ก็ได้ทางออกคือการซื้อวัตถุดิบให้มากสุด เพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน เพราะบะหมี่ฯ เป็นหนึ่งในสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้บริโภค”
อย่างไรก็ตาม การขอขึ้นราคาสินค้าจาก 6 บาท เป็น 8 บาทต่อซอง ไม่ได้มีเพียงเจ้าตลาดอย่าง “มาม่า” เท่านั้น แต่ยังมีผู้ผลิตรายอื่นเห็นพ้องต้องกันด้วย