"มาม่า" เพื่อนรัก ของคู่บ้านคนไทย 5 ทศวรรษ กับ 6 เรื่องที่อาจยังไม่เคยรู้

"มาม่า" เพื่อนรัก ของคู่บ้านคนไทย 5 ทศวรรษ กับ 6 เรื่องที่อาจยังไม่เคยรู้

ทำความรู้จัก "มาม่า" แบรนด์ "บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ของต้องมีติดบ้านคนไทยมาตลอด 50 ปี มีอะไรที่เราไม่รู้เกี่ยวกับมาม่าอีกบ้าง ?

"มาม่า" กลายเป็นคำเรียกติดปากคนไทย เมื่อพูดถึง "บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สะท้อนว่ามาม่าประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทว่าตลอด 50 ปีที่ผ่านมา แม้หลายคนจะรับประทานมาม่ากันจนคุ้นรส แต่อาจจะยังเข้าใจผิดในบางเรื่อง

เช่น "มาม่าเป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์แรกของไทย" ที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น!

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนไปทำความรู้จักมาม่าเพื่อนรักคู่ครัวของคนไทย ในหลากหลายมิติมากขึ้น ผ่าน 6 เรื่องของมาม่าที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ 

 1. มาม่า ไม่ใช่แบรนด์แรกในตลาดประเทศไทย 

เริ่มต้นที่เรื่องที่คนมักจะเข้าใจคือ "มาม่าถูกเรียกจนติดปากเพราะเป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์แรกในไทย" แต่ความจริงแล้วแบรนด์แรกที่เปิดตลาดในประเทศไทย คือ "ซันวา" จากไต้หวัน ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ซึ่งในยุคนั้นกำลังมีนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่สามารถแกะซองใส่น้ำร้อนพร้อมรับประทานได้ภายใน 3 นาที จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา

จากนั้นในไทยก็เริ่มมีแบรนด์ "ยำยำ" ตามมาในปีเดียวกัน ต่อด้วย "ไวไว" ในปี พ.ศ. 2515 และ "มาม่า" ตามมาเป็นแบรนด์ที่ 4 ที่เข้ามาแข่งขันในตลาดของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2516

 2. มาม่า ไม่ใช่ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ 

"ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี มาม่าจะขายดี" นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มักถูกพูดถึงมากที่สุด และเป็นความเข้าใจผิดว่า "มาม่าเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเศรษฐกิจ"

แต่ความเป็นจริงแล้วประเด็นนี้ เวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) มักย้ำเรื่องนี้เสมอว่า "มาม่าไม่สามารถชี้วัดเศรษฐกิจได้" และไม่เคยเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจแบบผกผันอย่างที่หลายคนเข้าใจ เช่น เศรษฐกิจไม่ดี มาม่าขายดี หรือเศรษฐกิจดี มาม่าขายได้น้อย 

“เศรษฐกิจดีมาม่าขายดีมาก พอเศรษฐกิจไม่ดี มาม่าขายดีนิดเดียว ดังนั้น มาม่าไม่ใช่ตัวชี้วัดเศรษฐกิจแบบผกผักผัน” เวทิต กล่าว 

 3. มาม่า รสที่ขายดีที่สุดคือ "รสต้มยำกุ้ง" แต่ไม่ใช่ "รสแรก" 

เชื่อว่าทุกคนเคยรับประทาน "มาม่าต้มยำกุ้ง" ซึ่งนั่นถือว่าเป็นรสที่ได้รับความนิยมและขายดีมากที่สุด โดย "รสต้มยำกุ้ง" เปิดตัวสู่ตลาดในปี 2523 ทว่ารสนี้ไม่ได้เป็นรสชาติแรกของมาม่า เพราะรสแรกของมาม่าคือ "มาม่ารสซุปไก่" ก่อนจะมี "มาม่ารสโปรตีนไข่" และ "มาม่ารสหมูสับ" ตามออกมาเอาใจลิ้นคนไทย

จนปัจจุบันมาม่า มีรสชาติมากกว่า 20 รสชาติ ทั้งมาม่าธรรมดาและ "มาม่าพรีเมียม" โดยสัดส่วน 80% ของพอร์ตเป็นมาม่าซองละ 6 บาท ส่วนอีก 20% เป็นมาม่าตระกูลพรีเมียม ซึ่งในอนาคตมาม่าจะหันมาให้น้ำหนักสินค้ากลุ่มพรีเมียมมากขึ้น ด้วยการออกรสชาติใหม่ เพื่อเพิ่มขีดแข่งขัน ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

 4. มาม่า มีส่วนแบ่งอันดับ 1 ในไทย 

สิ่งที่ทำให้คำว่า "มาม่า" ติดปากคนไทย ไม่ใช่เพราะมาก่อน แต่เป็นเพราะ "ความคุ้นเคย" ซึ่งมาจากการที่มาม่าสามารถแทรกซึมไปในชีวิตของคนไทยผ่านการกระจายสินค้า จนขึ้นแท่นอันดับหนึ่งมายาวนาน 

สะท้อนจากตัวเลขในรายงานประจำปี 2564 ที่ระบุว่า ในส่วนของผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบจากข้าวสาลีเป็นหลัก มาม่าครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 47.1% จากคู่แข่ง 4 ราย ภายใต้กำลังการผลิต 6 ล้านซอง/วัน (รวมกำลังการผลิตจากการรับจ้างให้ ยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ เพื่อการส่งออก)

นอกจากนี้ในมิติธุรกิจ มาม่ายังถือเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ "ปรับตัวตลอดเวลา" เช่น การออกไลน์สินค้าแบบถ้วยหรือคัพ ในปี 2540 ไปจนถึงการเปลี่ยนถ้วยพลาสติกเป็นถ้วยกระดาษในปี 2547 ที่ล้วนสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจที่สามารถครองอันดับหนึ่งของพื้นที่ตู้กับข้าวคนไทยมาอย่างยาวนาน 

\"มาม่า\" เพื่อนรัก ของคู่บ้านคนไทย 5 ทศวรรษ กับ 6 เรื่องที่อาจยังไม่เคยรู้

 5. ผ่านไป 50 ปี "มาม่า" ขึ้นราคา 4 บาท! 

นับว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อน เมื่อมาม่าขอปรับขึ้นราคาเป็น 7 บาท ที่ทำให้หลายคนที่ชอบรับประทานหรือคนที่มีมาม่าเป็นที่พึ่งมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

เมื่อย้อนดูข้อมูลจากตั้งแต่เริ่มจำหน่าย สินค้าหลักของมาม่าอย่างมาม่ารสหมูสับ มาม่าต้มยำ และมาม่าต้มยำกุ้งน้ำข้น เริ่มต้นที่ราคา 2 บาท/ซอง ในปี 2516 ก่อนค่อยๆ ปรับราคาคราวละ 0.5-1 บาท จนมาหยุดอยู่ที่ 5 บาท/ซอง ในปี 2540 และปรับมาอยู่ที่ราคา 6 บาท/ซอง ในปี 2551 ซึ่งการขอปรับราคาขึ้นเป็นซองละ 7 บาทของมาม่าในปี 2565 นี้เรียกได้ว่าเป็นการปรับราคาขึ้นในรอบ 14 ปี เลยทีเดียว 

ด้านผู้บริหารมาม่า ให้เหตุผลในการขอปรับราคาครั้งนี้ว่า เกิดจากสถานการณ์ต้นทุนที่เปลี่ยนรายวัน ที่ผู้ผลิตต้องเผชิญกัยราคาของแป้งสาลีขยับขึ้นในช่วง 2-3 ปี กว่า 2 เท่าตัว จากกว่า 200 บาทต่อถุง 22.5 กิโลกรัม ขยับเป็นเกือบ 500 บาทต่อถุง ส่วนน้ำมันปาล์มขยับจาก 19 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 59 บาทต่อกิโลกรัม หรือราว 3 เท่าตัว

รวมถึงสถานการณ์ "สงครามรัสเซีย-ยูเครน" ที่สะเทือนโลก กดดันราคาพลังงานเชื้อเพลิงปรับตัวขึ้นแรงมาก รวมถึง "แป้งสาลี" ที่เป็นวัตถุดิบหลักจะขยับราคาขึ้นต่อในอนาคตไม่กี่เดือนข้างหน้าทำให้ต้องทุนสูงขึ้นไปอีก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้มาม่าตัดสินใจขอขึ้นราคาขายปลีกเป็น 7 บาทต่อซอง อย่างไรก็ตามราคาใหม่นี้ต้องรออนุมัติจากภาครัฐก่อน

\"มาม่า\" เพื่อนรัก ของคู่บ้านคนไทย 5 ทศวรรษ กับ 6 เรื่องที่อาจยังไม่เคยรู้

  6. "ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์" ไม่ได้มีแค่ "มาม่า" 

ช่วงโควิด-19 "ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์" เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ยังสามารถทำกำไรได้ดี โดยในปี 2564 มาม่ามีรายได้รวมในปี 2564 อยู่ที่ 25,410 ล้านบาท กำไร 14.07 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้มาจากมาม่าเพียงอย่างเดียว

โดยสัดส่วนรายได้ของไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ สิ้นปี 2564 รายได้จากผลิตภัณฑ์กลุ่ม บะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูป สามารถทำรายได้ 9,654 ล้านบาท หรือคิดเป็น 39.47%

ซึ่งนอกจากสินค้าเหล่านี้แล้ว ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วย ได้แก่ ธุรกิจเบเกอรี่ 29.28% บรรจุภัณฑ์ 4.31% ขนมปังกรอบ 3.44% น้ำผลไม้ 0.83%แป้งสาลีและสินค้าอื่นๆ 1.01% ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์ก็ต่างส่งเสริมให้ ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ยังคงทำกำไรได้ในยุคที่ทุกคนต่างต้องเลือกสินค้าอุปโภคที่คุ้มค่ามากขึ้น

-------------------------

อ้างอิง: มาม่า, กรุงเทพธุรกิจประชาชาติbangkokbiznews, bbc