ปรับอัตรา "ดอกเบี้ย" สู้วิกฤติเศรษฐกิจ
หลัง กนง. มีมติ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีจาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี เพื่อพยายามสกัดปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งพุ่งไปถึง 7.61% เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงเป็นโจทย์หินสำหรับรัฐบาลว่าจะสามารถแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจได้หรือไม่
จากผลประชุมของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4 วานนี้ (10 ส.ค.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีจาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ขณะที่ 1 เสียงนั้น เห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี คณะกรรมการฯ มองแล้วว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น คาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดโควิดได้ภายในสิ้นปีนี้ และจะขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ทั้งประเมินว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษเพื่อรองรับวิกฤติโควิดในช่วงที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นลดลง เป็นที่มาของเสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี
การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ กนง.มองว่า จะไม่กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว แถมมีแรงส่งชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น การผ่อนคลายนโยบายการเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงความกังวลในการเดินทางท่องเที่ยวลดลง การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากตลาดแรงงาน และรายได้ครัวเรือนที่ปรับดีขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัว ซึ่งยังต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจากต้นทุน และค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ในวันเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอให้ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สื่อสารกับธนาคารพาณิชย์ในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยให้ผู้ว่า ธปท.ประสานแบงก์พาณิชย์ ตรึงดอกเบี้ย กรณี กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขณะที่แบงก์รัฐ รัฐควรตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด เพื่อช่วยเหลือประชาชน และภาคธุรกิจก่อน ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยควรต้องพิจารณาจากปัจจัยเศรษฐกิจด้วย เพราะถ้าปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็ว อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้
เรามองว่า ประเด็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ได้ประเมินภาพรวมของสถานการณ์เศรษฐกิจในภาวะปัจจุบัน ทั้งเป็นการสกัดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ที่เดือน ก.ค.พุ่งไปถึง 7.61% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้นตามทิศทางของเงินเฟ้อโลก ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น ประเทศไทยเองก็หนีไม่พ้นที่จะใช้เครื่องมือทางการเงิน ในการรับมือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ แน่นอนว่ากระทบต่อต้นทุนทางธุรกิจที่จะสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อต้นทุนทางธุรกิจเพิ่ม ย่อมกระทบต่อค่าครองชีพจากการขยับขึ้นของข้าวของ ค่าบริการต่างๆ
ไม่ว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้น หรือ ตรึงเอาไว้ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลก ที่ยังผันผวนจากความตึงเครียดศึกสงคราม ที่ไม่ใช่แค่รัสเซีย ยูเครน แต่การเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกอย่าง จีน และ สหรัฐ โดยมีไต้หวันเป็นเงื่อนไขสำคัญนั้นกลายเป็นโจทย์ใหม่ที่เข้ามาเพิ่มความเสี่ยงให้กับประเทศไทย เหล่านี้ คือ โจทย์ยากที่รัฐต้องเร่งหาทางรับมือ เพราะอย่างที่รู้กัน โลกไม่มีพรมแดนมานานแล้ว อะไรเกิดที่ไหนย่อมสะเทือนถึงกันไปหมด