"ศักดิ์สยาม" แจงเปลี่ยนป้าย "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" ต้องจ่าย 33 ล้านบาท
"ศักดิ์สยาม" แจงการขอพระราชทานชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ก่อนที่ ร.ฟ.ท.จะจ้าง "ยูนิค" แบบพิเศษ 31 ล้านบาท เปลี่ยนป้ายใหม่
การเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นเมื่อมีการเผยแพร่มูลค่าโครงการที่ 31 ล้านบาท และเป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ โดยบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับงาน
ประเด็นดังกล่าวถูกยกเป็นกระทู้สดถามในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 ม.ค.2566 โดยนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบกระทู้สภาผู้แทนราษฎรเมื่ว่า ทุกโครงการคมนาคมได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อ ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ และได้ขอพระราชทานชื่อเมื่อเดือน พ.ค.2564 ก่อนที่จะมีการเปิดให้บริการ
รวมทั้งได้มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาพระราชทานชื่อโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 และสถานีกลางบางซื่อเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2565
ต่อมา สลค.ส่งหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมลงวันที่ 2 ก.ย.2565 แจ้งว่า สลค.ได้ขอให้ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อไปแล้ว และได้รับแจ้งว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟและสถานีกลางบางซื่อ ดังนี้
1.พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า "นครวิถี"
2.พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า "ธานีรัถยา"
3.พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อ ว่า "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" ซึ่งมีความหมายถึงความรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมในการรับพระราชชื่ออันเป็นมงคลต่อกิจการรถไฟ ซึ่งถือว่านามกรุงเทพอภิวัฒน์จะสถิตสถาพรเป็นศรีสง่าต่อกิจการการรถไฟและกรุงเทพมหานคร และจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรถไฟที่เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนทั้งระบบรถไฟทางไกลและระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
นอกจากนี้เมื่อได้รับพระราชทานชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แล้ว กระทรวงคมนาคมได้สั่งการ ร.ฟ.ท.ลงวันที่ 20 ก.ย.2565 และวันที่ 5 ต.ค.2565 สั่งการให้ ร.ฟ.ท.ติดตั้งป้ายชื่อพระราชทานให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินการติดตั้งป้ายชื่อพระราชทานบริเวณโดมด้านหน้าสถานีกลางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก จำนวน 2 จุด โดยได้ออกแบบ ดังนี้
1.ตัวอักษาภาษาไทยใช้คำว่า "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" ขนาดสูง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร รวม 19 ตัวอักษร
2.ตัวอักษาภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Krung Thep Aphiwat Central Terminal" ขนาดสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 เซนติเมตร ผลิตตัวอักษรด้วยอะคลิลิกสีขาวนม ยกขอบและซ้อนไฟด้านหลัง
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำร่างขอบเขตโครงงานและโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของ ร.ฟ.ท.ซึ่งมีวิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้างเป็นประธาน พร้อมคณะกรรมการอีก 9 คน เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2565 และต่อมา ร.ฟ.ท.ได้รายงานว่า การติดตั้งดังกล่าวจำเป็นต้องมีการรื้อถอนกระจกและเหล็กอลูมิเนียมรับน้ำหนักความยาวจุดละ 60 เมตร และต้องปรับปรุงแก้ไขจากการก่อสร้างเดิมจำนวนมาก และได้มีการประมาณการณ์ราคาโครงการโดยบริษัทที่ปรึกษา และมีคณะกรรมการกำหนดราคาแบ่งงานออกเป็น 4 กลุ่มงาน รวมมูลค่า 33.16 ล้านบาท ดังนี้
1.งานโครงสร้างวิศวกรรม เป็นการรื้อถอนที่ต้องใช้รถเครนขนาดใหญ่ในการดำเนินการไม่น้อยกว่า 3 ตัว ในแต่ละจุด มีการรื้อถอนงานส่วนนี้ 6.22 ล้านบาท
2.งานด้านสถาปัตยกรรม เป็นการติดตั้งกระจกใหม่เป็นกระจกเทนเตอร์ที่มีความหนาและมีพื้นที่ 85 ตารางเมตร รวมถึงงานติดตั้งโครงอลูมิเนียมและวัสดุใหม่อีก 188 ตารางเมตร รวมถึงงานติดตั้งป้ายและตราสัญลักษณ์ ร.ฟ.ท.จำนวน 2 ชุด รวมมูลค่า 24.94 ล้านบาท
3.งานออกแบบพร้อมรายการคำนวณ มูลค่า 0.92 ล้านบาท
4.งานติดตั้งและรื้อถอนกระจกระหว่างรอติดตั้งวัสดุใหม่ มูลค่า 1.62 ล้านบาท
รวมทั้ง ร.ฟ.ท.ได้กำหนดทีโออาร์ ให้การดำเนินการต้องสอดคล้องตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 จึงเห็นสมควรในการจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง โดยมีเหตุผลว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อโครงการเดิมจึงต้องดำเนินการแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งสถานีกลางได้ดำเนินการแล้วเสร็จอยู่ระหว่างการค้ำประกันสัญญา และถ้าไม่ใช้วิธีดังกล่าวจะมีปัญหากับการค้ำประกันสัญญา
นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ได้รายงานมาที่กระทรวงคมนาคม ผมได้ฟังข่าวสารจากสื่อมวลชน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส่และถูกต้องจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการปรับปรุงป้ายชื่อดังกล่าว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงลงนามวันที่ 5 ม.ค.2566 และจะทราบผลภายใน 15 วัน มีรองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และมีผู้แทนหน่วยงานที่ไม่สังกัดกระทรวงคมนาคม เช่น สภาวิศวกร กรมบัญชีกลาง สภาสถาปิก วศวกรรมสถาน