‘บิ๊กคอร์ป’ ทุ่มไม่อั้นลงทุนAI เร่งอีโคซิสเต็มดันธุรกิจใหม่

‘บิ๊กคอร์ป’ ทุ่มไม่อั้นลงทุนAI เร่งอีโคซิสเต็มดันธุรกิจใหม่

"บิ๊กคอร์ป" สาดงบระบบเอไอ ‘ปตท.’ เดินหน้าลุย AI & Robotics สร้างอีโคซิสเต็ม ดันธุรกิจใหม่ๆ ด้าน ‘เอโอที’ เร่งปั้นดิจิทัลแอร์พอร์ต ‘กัลฟ์’ เชื่ออนาคตเอไอมีบทบาทต่อธุรกิจมากขึ้น ‘กลุ่มทรู’ พัฒนาเอไอ 3 เสาหลัก ‘สุขภาพ-ค้าปลีก-เกษตร’

ท่ามกลางกระแสข่าวการ ‘ปลดพนักงาน’ จำนวนมากของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกไม่ว่าจะเป็น ไมโครซอฟท์ กูเกิล แอมะซอน หรือ เมตตา เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ในทางตรงกันข้ามบริษัทเหล่านี้กลับเพิ่มงบประมาณในการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) จนหลายคนเริ่มกังวลว่า เอไอ ที่ถูกพัฒนาจนมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ นี้ กำลังจะมาทดแทนแรงงานมนุษย์หรือไม่

ไม่เฉพาะบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ในต่างประเทศเท่านั้นที่ทุ่มงบประมาณลงทุนกับระบบเอไอ แม้แต่บริษัทในประเทศไทยก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น เพื่อนำมาใช่พัฒนางานบริการหรือผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ได้ผลักดันการลงทุน AI & Robotics และจะช่วยสร้าง Ecosystem ของไทยให้แข็งแกร่ง และผลักดัน Thailand 4.0 พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทย

ทั้งนี้ ได้ปรับโครงสร้างบริษัท เมฆา วี จำกัด (MEKHA V) เพื่อรองรับการลงทุน AI & Robotics ตามแผนกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ของ ปตท. ซึ่งจะทำหน้าที่ผลักดันธุรกิจ AI & Robotics ในอุตสาหกรรมต่างๆ และให้บริการทั้ง Cloud, Digital platform และ application รวมถึง Energy อย่างครบวงจร บริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

สำหรับ เมฆา วี ได้ร่วมกับกลุ่ม Envision นำแพลตฟอร์ม EnOSTM ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการ AloT ของ Envision Digital มาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงานหมุนเวียนในอาคารต้นแบบ M4 ที่สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จ.ระยอง ได้แก่ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ลอยน้ำ แผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา ระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงสถานีชาร์จไฟฟ้า (อีวี) ภายในสถาบันฯ

นอกจากนี้ บริษัท พีทีที เรส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.ที่ร่วมทุนกับ บริษัท มิตซุยแอนด์คัมปนี (ไทยแลนด์) จำกัด โดยจะให้บริการโซลูชันที่เกี่ยวข้องกับการทำ Digital Transformation แบบครบวงจร เพื่อให้บริการ ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยด้วย AI โดยเตรียม 4 บริการหลัก ได้แก่ Robotics, Automation, IOT และ AI ซึ่งลูกค้าจะแจ้งว่าต้องการนำเทคโนโลยีใดแก้ไขปัญหาหรือเพิ่มประสิทธิภาพงาน และพีทีที เรส จะให้คำปรึกษาและออกแบบโซลูชันให้เหมาะกับแต่ละลักษณะการใช้งาน

**AOT ปั้นดิจิทัลแอร์พอร์ต

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) กล่าวว่า AOT พัฒนาระบบไอทีมา 4-5 ปีที่แล้ว เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งมี 4 ส่วน คือ 1. ดิจิทัลโอปอเรชั่น (Front Office) 2.ดิจิทัลออฟฟิส(Back Office 3.ดิจิทัลแอร์พอร์ต (บริการขนส่งคน) มีแอปสวัสดีและ 4.ดิจิทัลคาร์โก้ (ขนของ) แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้นำดิจิทัลแพลต์ฟอร์มมาintegrate แก้Pain point และหาโซลูชั่น

ทั้งนี้เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด บริษัทใช้จังหวะดังกล่าวในการแก้ไขฟังก์ชันต่างๆนำดิจิทัลแพลตฟอร์มดังกล่าวมาใช้หาโซลูชัน แก้ Pain point ต่างและนำไปสู่พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ (AI)ซึ่งได้พัฒนาแอปSAWASDEE ซึ่งในแอปจะมีคิวไทม์และเคลียร์ริ่งไทม์ เพราะจะมีเซนเซอร์(AI) ใน3 จุด คือ เช็คอิน, ตรวจค้น และตรวจคนเข้าเมือง(ต.ม.)ในการวิเคราะห์กระบวนการตั้งแต่ต้น คือเวลาเช็คอิน และเดินไปถึงเครื่องบินใช้เวลาเท่าไร เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถวางแผนในการเดินทางมาสนามบินได้

 

รวมถึงในเดือนก.พ.แอปก็จะมีอัพเดท ส่วนของห้องน้ำเพื่อบอกผู้โดยสารต้องเดินไปทางไหน และห้องน้ำว่างมีกี่ห้อง ถ้าตรงนี้ไม่ว่าง ต้องเดินอีกเท่าไรจะถึงห้องน้ำ และเดือนมี.ค.อัพระบบเพิ่มเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่เคยมาใช้บริการว่ามาถึงต้องทำอย่างไรบ้างก็สามารถเปิดแอปก็จะมีตัวการ์ตูนเดินนำทางให้

**ทุ่มไม่อั้นลงทุนระบบแต่ต้องคุ้มค่า

ดังนั้นสนามบินก็จะเป็นดิจิทัลแอร์พอร์ต คือสนามบินที่มีชีวิต เพราะสามารถคุยกับเซ็นเซอร์ได้ทุกตัวในช่วงแรกที่มีการเปิดประเทศนั้นระบบต่างๆที่ทำไว้ต้องมีการปรับปรุงแก้ Bug เพื่อให้บริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับงบลงทุนที่ผ่านมาใช้ไม่มากหลัก 200-300 ล้านบาทเพราะ เป็นการนำเทคโนโลยีเดิมมาหาโซลูชัน ส่วนที่จะนำมาต่อยอด หรือซื้อเทคโนโลยีใหม่ๆนั้นงบลงทุนจะอยู่ที่ความคุ้มค่าเป็นหลัก แม้ใช้เม็ดเงินลงทุนสูงระดับพันล้านเช่น ระบบไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) ในตรวจจับใบหน้า เพื่อป้องกันผู้ร้ายข้ามแดน ก็จะมีความคุ้มค่าแม้ต้องใช้งบลงทุนเป็นหลักพันล้านบาท เพราะนอกจากเข้ามาช่วยในการบริการผู้โดยสารได้ ยังช่วยในการจับผู้ร้ายได้ ในเรื่องของการตรวจจับใบหน้าผู้ร้ายนั้น ก็จะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานปราบปรามด้วย

**TRUE ดัน AI ลุยสุขภาพค้าปลีกเกษตร

นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ทรู วางแผนนำ เอไอ เข้าไปใช้งานใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ สุขภาพ ค้าปลีก และภาคการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้าไปทำงานร่วมกับพันธมิตรในแต่ละภาคธุรกิจในการเตรียมความพร้อมเพื่อนำเอไอเข้าไปใช้งาน

เริ่มต้นจากธุรกิจสุขภาพอย่างระบบ เทเลเมดิซีนโดยที่ผ่านมานำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในกรณีที่แพทย์ต้องการข้อมูลเอกซเรย์ คนไข้สามารถส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตที่ปัจจุบันรองรับการส่งไฟล์ความเร็วสูงขึ้น ทำให้แพทย์สามารถดูข้อมูลและวินิจฉัยได้ทันที

ขั้นถัดไปคือ เริ่มเห็นแพทย์เอไอมาช่วยในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น จากฟิล์มเอกซเรย์ หรือผลตรวจต่างๆ รวมถึงการพัฒนา เอไอ แชตบอตสำหรับวิเคราะห์อาการเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกเข้าถึงแพทย์เฉพาะทางตามอาการที่เป็นได้ นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา เอไอ คัสตอเมอร์ เซอร์วิสภายใต้เทคโนโลยี ทรู วอยซ์ที่เดิมกลุ่มทรูมีความเชี่ยวชาญในการนำมาให้บริการลูกค้าในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอยู่แล้ว เมื่อนำมาใช้งานในด้านการแพทย์จะต้องฝึกให้เอไอเข้าใจภาษาทางการแพทย์เพิ่มเติมเข้าไป

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมา บริการเกี่ยวกับเทเลเมดิซีนของทรู ดิจิทัล มีผู้ที่สนใจเข้ามาใช้งานแล้วกว่า 4 แสนราย ในจำนวนนี้กว่า 10% ได้พูดคุยกับแพทย์เพื่อเริ่มกระบวนการรักษา และมีราว 4,000 รายที่จบขั้นตอนถึงกระบวนการสั่งยาไปส่งที่บ้านโดยในอนาคตจะเริ่มเห็นการนำเอไอของทรู ดิจิทัล เข้าไปใช้งานในภาคของการค้าปลีก และเกษตรมากขึ้น

**GULF เชื่อ AI มีบทบาทต่อธุรกิจมากขึ้น

นายสมิทธ์ พนมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารสินทรัพย์ธุรกิจในเครือและการลงทุน บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) กล่าวว่า บริษัทได้นำเทคโนโลยีAI เข้ามาประยุกต์ใช้กับเครื่องจักรต่างๆในโรงไฟฟ้าของGULFเพื่อให้บริษัทสามารถซ่อมบำรุงเครื่องจักรได้ในระยะเวลาที่แม่นยำ มีประสิทธิภาพ และประหยัดมากขึ้น

“การนำAIมาใช้จะทำให้เราสามารถซ่อมบำรุงเครื่องจักรในระยะเวลาที่แม่นยำ ซึ่งบริษัทได้มีการอนุมัติงบในเรื่องการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้หลายปีแล้ว”

นอกจากนี้ส่วนตัวเชื่อว่าอนาคตเทคโนโลยีด้านAI จะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น อย่างกลุ่มAISที่GULFเข้าไปลงทุนนั้นการดำเนินธุรกิจจะเป็นลักษณะ intelligent network ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้จะทำให้การบริหารจัดการ การซ่อมบำรุงถูกต้องแม่นยำมากขึ้นเช่นกัน

**AISชูเอไอสร้างความได้เปรียบธุรกิจ

นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส) กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ในยุคที่เรียกว่าการทำ Digitalization ซึ่งไม่เพียงเป็นการ Transform Business Process ต่างๆ ให้คล่องตัวและดียิ่งขึ้น จากเทคโนโลยีดิจิทัล แต่บริษัทใดที่สามารถนำ เอไอ เข้ามาผนวกได้ จะสร้างโอกาสในการเป็น Top Performing ได้มากกว่าถึง 4 เท่า

ทั้งนี้ เอไอ คือ 1 ในเทคโนโลยีดิจิทัลดังกล่าว ที่เป็น Collaboration ระหว่าง Human และ Machineที่จะเพิ่มขีดความสามารถและ transform องค์กร ด้วยศักยภาพในการประมวลผลชุดข้อมูลขนาดใหญ่และซับซ้อนได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ

“AIS ในฐานะ Operator เรามองเห็นความสำคัญของ AI มามากกว่า 10 ปี โดยวางกลยุทธ์ว่า AI จะต้องเข้ามาช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดี และมอบความประทับใจให้ผู้บริโภค รวมถึงช่วยให้องค์กรสามารถต่อยอดการให้บริการ Digital ได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราปักหมุดในการก้าวสู่ Cognitive TechCo หรือ องค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ ที่มี AI เป็นเครื่องมืออย่างเต็มกำลังทั้งใน Front End และ Back End”

นายอราคิน กล่าวย้ำว่า เอไอ มีส่วนช่วยอย่างยิ่งในเรื่องของการลดอุปสรรคในการทำงาน สามารถลดขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อนลงได้ ทั้งในแง่ของเวลา ทรัพยากร และผลลัพธ์ของงาน จากที่เอไอเอสใช้ เอไอ มาอย่างต่อเนื่อง พบว่า เอไอ ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถประมวลผลออกมาใกล้เคียงกับการคิดของคนมากยิ่งขึ้น

​มีตัวอย่างที่เอไอเอส ทำงานวิจัยร่วมกับภาครัฐและเอกชนในโครงการ THAI SER (Speed Emotional Recognition) ที่เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เอไอ จากเสียงภาษาไทยเป็นครั้งแรกของประเทศ เพื่อให้สามารถจำแนกอารมณ์จากเสียงพูดภาษาไทย หรือ THAI SER ร่วมกับ AI Research ให้สามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้เพื่อพัฒนาตัวบริการ

ซึ่งไม่ได้เจาะจงแค่ส่วนของ Customer Service Touch point เท่านั้น แต่ในแง่ของ Marketing ก็สามารถทำให้เข้าใจผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นจากเสียงของเขา เพราะ สามารถวิเคราะห์อารมณ์ของลูกค้า จาก ‘เสียงพูด’, จัดลำดับการให้บริการลูกค้าจาก ‘อารมณ์’ ของลูกค้า,มอบหมายสายโทรเข้าจากลูกค้าให้กับ Touch Point Agent ตามความสามารถในการรับมืออารมณ์ต่าง ๆ, ช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าใจสถานการณ์ และเพิ่มโอกาสในการปิดการขาย จากข้อมูล real time

ในส่วนของเอไอเอสนั้น หลังเริ่มศึกษา เอไอ และนำเข้ามาประยุกต์ใช้ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่า เอไอ ไม่ใช่เรื่อง Deep Tech หรือ เรื่องของไอทีเท่านั้น แต่อยู่ในทุกสายงานของเอไอเอส

ทั้งนี้ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การยกระดับงานบริการ เช่น Ask Aunjai ที่เป็น Virtual Agent ผสานเทคโนโลยีอัจฉริยะทั้ง AI, Chatbot และ Smart Knowledge Base ที่ให้บริการลูกค้าอยู่บน my AIS ซึ่งกลายเป็น Norm ของการใช้บริการแบบ self service ของลูกค้าไปแล้ว

​รวมไปถึงการพัฒนา Intelligent Network ที่ AI ได้ประมวลผลให้สามารถ Self-tuning เองได้ ตามพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจุดนี้จะทำให้เน็ตเวิร์กของเราสามารถรองรับความต้องการใช้งานของลูกค้าได้ดีขึ้น จาก Autonomous Network Monitoring ที่มีความอัจฉริยะในการบริหารจัดการ ตรวจเช็กทราฟฟิกและปริมาณการใช้งานของลูกค้าแบบ Realtime ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เราสามารถเข้าเพื่อจัดสรรเพิ่ม Capacity ได้แบบอัตโนมัติ หรือแม้แต่เข้าแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว