กลยุทธ์ดิจิทัล ‘บิ๊กคอร์ป’ ปรับแผนรับโลกใหม่ธุรกิจ
วันที่โลกธุรกิจกำลังขับเคลื่อนไปสู่ “ดิจิทัล บิสิเนส” อย่างเต็มรูปแบบ การเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ยังคงเป็นประเด็นสุดท้าทายสำหรับผู้นำองค์กรที่ต้องกำหนดกลยุทธ์และวางโรดแมปให้ถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา...
สุรฤทธิ์ วูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิดมุมมองว่า มาถึงวันนี้ทุกคนคงจะเห็นแล้วว่าเทคโนโลยีมีส่วนเข้าไปทรานส์ฟอร์มทุกองค์กรและทุกอุตสาหกรรม เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ธุรกิจสามารถสร้างการแสดงเติบโตอย่างยั่งยืนโดยที่ต้นทุนไม่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
ขณะเดียวกัน สามารถยกระดับการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า รวมไปถึงความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งหากพูดถึงเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญต่อการทรานส์ฟอร์มคงหนีไม่พ้น "ไฮบริดคลาวด์” แล้วก็ “เอไอ”
สำหรับไอบีเอ็ม แนวทางการทำธุรกิจแบ่งออกเป็น 2 บิสิเนสยูนิตคือ “IBM Consulting” กับ “IBM Technology” ส่วนของการทำงานร่วมกับลูกค้า ภารกิจด้านเทคโนโลยีเน้นการ “accelerate adoption” ของไฮบริดคลาวด์และเอไอ โดยเฉพาะการ “co-create” และ “co-develop” กับลูกค้าและพันธมิตรมากขึ้น
โดยสิ่งที่ไอบีเอ็มให้ความสำคัญและจะเน้นอย่างมากจากนี้คือ ไฮบริดคลาวด์ เอไอ ออโตเมชัน ซิเคียวริตี้ ควอนตัมคอมพิวติ้ง รวมถึงบล็อกเชน
การศึกษาของไอบีเอ็มพบว่า ไฮบริดคลาวด์ อินฟราสตรักเจอร์ สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้มากถึง 2.5 เท่า ขณะที่เอไอ พบว่าวันนี้ปริมาณดาต้าที่ถูกสร้างขึ้นในแต่ละวันมีมากถึง 2.5 ควินทิลเลียน นั่นคือ 2.5 ตามด้วยเลขศูนย์ 18 ตัว และเอไอคือเทคโนโลยีเดียวที่สามารถทำให้บริหารจัดการดาต้ามหาศาลแบบนี้ได้ ทั้งยังมีความสำคัญอย่างมากต่อการยกระดับไซเบอร์ซิเคียวริตี้
ปักธง ‘banking as a service’
ด้านของ “บิ๊กคอร์ป” ชั้นนำในไทย ต่างกำลังเร่งเครื่องเพื่อปรับตัว พร้อมเดินหน้าสร้างโอกาสจากน่านน้ำใหม่ในโลกธุรกิจ “Turning Ambition into Action”
เทพกร ศิริธนะวุฒิชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ อินฟราสตรักเจอร์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า การทำโมเดิร์นไนเซชั่นที่เอสซีบีโฟกัสคือ การนำเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนายกระดับระบบงานภายในรวมถึงบริการสำหรับลูกค้า โดยมีโจทย์คือทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น และมีความหลากหลายมากขึ้น
ที่ผ่านมามีการปรับใช้คลาวด์จำนวนมาก ทั้งมัลติคลาวด์และไฮบริดคลาวด์ ขณะเดียวกันมี “ดาต้า” เป็นแกนหลักในการทำความเข้าใจพฤติกรรมลูกค้า ทั้งยังใช้เอไอเข้ามาผสมผสานช่วยในการวิเคราะห์ประมวลผล
อย่างไรก็ดี การแข่งขันในวงการธนาคาร มีส่วนทำให้ “Financial literacy” รวมไปถึง “Digital literacy” ของประชากรดีขึ้น เห็นได้จากทุกวันนี้ผู้บริโภคไปใช้บริการที่สาขาลดลง และทรานแซคชันส่วนใหญ่จะอยู่บนมือถือหรือแท็บเล็ต
สำหรับอนาคตทางเอสซีบีจะเน้นงานด้านการสร้างอีโคซิสเต็ม ต่อยอดหลังจากทรานส์ฟอร์มไปเป็น SCBX ที่มีบริษัทย่อยหลากหลายซึ่งเป็นสเปเชียลตี้ในตัวเอง และเน้นการทำงานแบบผสมผสานร่วมกัน เพื่อสร้างบริการแบบครบวงจรตอบโจทย์ลูกค้าในทุกเซ็กเมนท์
วางตำแหน่งเป็น “banking as a service” ต้องยอมรับว่า bank อาจไม่จำเป็นแล้ว แต่คนยังต้องการในส่วนของแบงกิ้งอยู่ในเรื่องของบริการทางการเงิน
ขณะที่ก้าวต่อไป มองไปที่ “sustainable banking” ในทุกผลิตภัณฑ์ที่ทำออกไป ทุกพาร์ทเนอร์ที่ร่วมมือกันว่ามี “sustainable index” ที่คำนึงถึงการทำธุรกิจที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสภาพแวดล้อมหรือโลกมากน้อยแค่ไหน อย่างไร
‘อินฟราฯ - ดาต้า’ รากฐานความสำเร็จ
มงคล เอื้อจิตอนันตกุล Acting Managing Director, KInfra บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป กล่าวว่า เพื่อรองรับดิจิทัลทรานแซคชันที่เติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมเวิร์กโหลดทั้งในส่วนของอินฟราสตรักเจอร์และการประมวลผลต่างๆ
โดยต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับงานในแต่ละส่วน เช่น คอร์แบงกิ้งที่ต้องการการประเมินผลที่เร็ว vertical scaling เลือกไอบีเอ็มพาวเวอร์ แต่ถ้าเป็นเรื่องโมบายแบงกิ้งที่ต้องการ horizontal scaling ก็เลือกใช้คลาวด์หรือใช้เทคโนโลยีที่เป็นไมโครเซอร์วิส
“เพื่อรองรับเวิร์กโหลดต่างๆ เราได้มีการเตรียมการและมอนิเตอร์ที่ค่อนข้างเข้มข้น โดยเฉพาะวันที่มีการใช้งานจำนวนมากเทศกาลดับเบิลเดย์อีคอมเมิร์ซต่างๆ ทั้งมีการทำงานร่วมกันระหว่างธนาคารเพื่อไม่ให้เกิดระบบล่มทั้งระบบ”
สำหรับแผนงานเพื่อรองรับอนาคตและการขยายตลาดไปยังระดับภูมิภาค ต้องเตรียมการทั้งเรื่องของอินฟราสตรักเจอร์และดาต้า อย่างขณะนี้ที่เตรียมก็คือลิงค์ต่างๆ สำหรับเชื่อมระหว่างประเทศ มีการพูดคุยเรื่องของการปรับใช้คลาวด์ การใช้เน็ตเวิร์คของคลาวด์เพื่อให้การเชื่อมต่อเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ และต่อไปดาต้าของทุกประเทศที่อยู่บนคลาวด์จะสามารถแชร์กันได้
“การออกไปเต่างประเทศของเรา ไม่ใช่แค่ไปทำธุรกิจอย่างเดียว แต่เราได้ดาต้าที่สามารถนำมาวิเคราะห์แล้วออกโปรดักท์ใหม่ๆ ด้วย”
ชู ‘โอเพ่นเอพีไอ’ เชื่อมอีโคซิสเต็มส์
พชร วันรัตน์เศรษฐ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เล่าว่า กรุงศรีฯ เป็นธนาคารแรกที่ใช้โอเพ่นเอพีไอสำหรับเชื่อมต่ออีโคซิสเต็มสำหรับภาคธุรกิจ ซึ่งผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ผู้บริการได้รับความหลากหลายในการเลือกใช้บริการ การเชื่อมต่ออีโคซิสเต็มทำได้ง่ายขึ้น
ด้านแนวทางการทำงาน ร่วมมือเป็นพาร์ทเนอร์กับไอบีเอ็มแบ่งแผนโรดแมปออกเป็นสามเฟส คือหนึ่งปี หนึ่งปี แล้วก็สามปี และขณะนี้อยู่ในช่วงของเฟสสามแล้ว
“ในยุคนี้สำคัญมากที่ต้องมีแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างอีโคซิสเต็มส์ และโอเพ่นเอพีไอมีส่วนอย่างมากที่ช่วยให้เราเดินหน้าไปได้ตามเป้าหมาย สามารถพัฒนา และหาแนวทางในการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ”
ปัจจุบัน กรุงศรีฯ อยู่ในช่วงของการทรานส์ฟอร์มเพื่อยกระดับการให้บริการพร้อมเพิ่มความยืดหยุ่นให้ได้มากขึ้น ภายใต้โจทย์คือ ทำอย่างไรให้แบงค์เข้าไปฝังตัวอยู่ในไลฟ์สไตล์ของคนให้ได้มากที่สุด สร้างผลกระทบได้มากที่สุด โดยไม่จำกัดแชนแนล ท่ามกลางการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงทั้งกับผู้เล่นสถาบันการเงิน ฟินเทคสตาร์ทอัพ ทั้งมีข้อจำกัดด้านบุคลากร เบื้องต้นที่โฟกัสคือ 3P People, Product และ Process
พลัง ‘เอไอ’ วิเคราะห์ลูกค้าเรียลไทม์
จิรยุทธ์ กาญจนมยูร ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายไอที บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดมุมมองว่า ค้าปลีกเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างมาก เหตุเพราะผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้อยู่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถูกดิสรัปอย่างรุนแรง
สำหรับ เดอะมอลล์ กรุ๊ป จากจุดเร่ิมต้นเมื่อ 5 ปีก่อนที่เร่ิมจากปรับโฉมไอทีด้วยการลงระบบอีอาร์พีรวมถึงปูทางเรื่องอินฟสราสตักเจอร์ มาถึงวันนี้สามารถที่จะนำดาต้ารวมถึงเรียลไทม์ดาต้ามาใช้ประโยชน์ได้จำนวนมาก ทั้งด้านวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าและการบริหารจัดการ
นอกจากนี้ ใช้เอไอช่วยเรื่องวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ รวมถึงการบริหารจัดการโปรดักส์ ทำเรื่อง planogram ในการจัดวางสินค้าบนเชลล์ซึ่งทำให้ทราบว่าสินค้าใดขายดี ต้องจัดวางอย่างไร ฯลฯ
จิรยุทธ์วิเคราะห์ว่า ธุรกิจค้าปลีกขึ้นอยู่กับเทรนด์ของพฤติกรรมลูกค้าซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นแนวทางธุรกิจจึงมุ่งไปที่ “Seamless omnichannel” พยายามหาบริการและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาตอบโจทย์ลูกค้า ที่ขาดไม่ได้นอกจากประสบการณ์ที่ดีต้องอำนวยความสะดวกในทุกมิติการช้อป เพย์เมนท์
สำหรับอนาคตจะมีวินนิ่งฟอร์มูล่าใหม่ซึ่งวางไว้ในเรื่องของ “รีเทล เอนเตอร์เทนเมนท์” และได้เตรียมเปิดตัว Emsphere ในปีหน้า ก็จะเป็นอะไรที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุก ทั้งจะมีการใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มที่ในห้างนั้นด้วย
ก้าวสู่ ‘data-driven decision’
ฉัตรชัย คงเดชอุดมกุล ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายบริหารการเปลี่ยนแปลงองค์กร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพใหญ่ระดับองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน มี 3 แกนหลักที่สำคัญคือ เรื่องของ HPO (high performance organization), GRC (Governance, risk, compliance) และ SVC (stakeholder value creation)
โดยการปรับใช้เทคโนโลยีและการทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างไอบีเอ็มช่วยได้อย่างมากทั้งด้านการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพ องค์กรมีระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ดี สามารถลดค่าใช้จ่าย ตอบโจทย์ชัดเจนในเรื่องของ competitive performance รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในระยะยาว
สำหรับก้าวต่อไปได้เร่ิมใช้ “ข้อมูล” มาเป็นตัวขับเคลื่อนและช่วยในการตัดสินใจมากขึ้น โดยวันนี้ “data-driven decision” เข้ามาแล้วจริงๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“การทำงานเพื่อทรานส์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัลช่วงแรกๆ มีความกดดันหลายๆ อย่าง หลายคนไม่เชื่อและรู้สึกว่าจับต้องไม่ได้ ทว่ามาวันนี้ระยะเวลาสี่ปีและผลสำเร็จที่ได้ พิสูจน์ให้เห็นและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นแล้วว่า data driven ใช้ได้จริงและมีประโยชน์กับองค์กรจริงๆ”