‘คมนาคม’ เตะถ่วง ‘ส่วยรถบรรทุก’ เบิกงบฯ ติดกล้องเพิ่ม ไม่เร่งแก้ทุจริต
“คมนาคม” เดินหน้าจัดหางบ ดันทางหลวง - ทางหลวงชนบท ใช้ระบบ Body Camera ตรวจจับแบบเรียลไทม์ ด่านชั่งน้ำหนักรถบรรทุกจุดตรวจย่อย ขณะที่ข้อกังขาเจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยวรับส่วยสติ๊กเกอร์ ยังไร้ข้อสรุป เล็งหารืออีกครั้ง 20 มิ.ย.นี้
Key Point
- “คมนาคม” ลุยซื้อ Body Camera ด่านตรวจชั่งน้ำหนัก
- ปมเจ้าหน้าที่เอี่ยวส่วยรถบรรทุกยังไร้ข้อสรุป
- กรมทางหลวงรับช่องโหว่ส่วยเกิดจากจุดตรวจย่อย
- เร่งประสาน “สมาพันธ์รถบรรทุก” ขอรายชื่อผู้ทุจริต
“ส่วยสติ๊กเกอร์” เป็นประเด็นต่อเนื่องมาตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หลัง “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล และนายกสมาพันธ์รถบรรทุกแห่งประเทศไทยออกมาเปิดเผยข้อมูลเจ้าหน้าที่รัฐมีเอี่ยวในการเรียกเก็บส่วยสติ๊กเกอร์ เพื่อแลกกับการยกเว้นและตรวจจับรถบรรทุกที่บรรทุกสินค้าเกินเกณฑ์น้ำหนักกำหนดโดยประเด็นดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวพันทั้งวงการสีกากี กระทรวงคมนาคมในส่วนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทที่ดูแลควบคุมด่านชั่งน้ำหนัก
ความคืบหน้าล่าสุดการดำเนินการตำรวจทางหลวง ที่เข้าไปพัวพันส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบก.ทล.) ลงนามหนังสือคำสั่งกองบังคับการตำรวจทางหลวง ลงวันที่ 9 มิ.ย.2566 เรื่องโยกย้ายข้าราชการตำรวจทางหลวงต้องสงสัยว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก และเรียกรับผลประโยชน์อื่นๆ จำนวน 40 นาย
ขณะที่ฟากกระทรวงคมนาคม “พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน” รองปลัดกระทรวงคมนาคม ประธานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติ๊กเกอร์บนรถบรรทุก ออกมาระบุว่า ขณะนี้ยังไม่พบรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับการทุจริตส่วยสติ๊กเกอร์ ส่วนข้อมูลรายชื่อที่ทางสมาพันธ์รถบรรทุกแห่งประเทศไทยออกมาเปิดเผยนั้น ล่าสุดได้สั่งการให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทประสานเพื่อขอข้อมูลนำมาตรวจสอบแล้ว
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้ลงพื้นที่ไปดูกระบวนการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งยอมรับว่าระบบที่ผ่านมามีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดกระบวนการทุจริต เนื่องจากยังต้องใช้ระบบบุคลากรเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการจับกุม ที่ประชุมจึงมอบหมายให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ไปศึกษาข้อมูลนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาตรวจจับรถบรรทุก ลดการใช้บุคลากรทำงาน เพื่อลดการทุจริตให้ได้มากที่สุด
โดยเบื้องต้นให้นำระบบกล้องตรวจจับแบบติดตัว หรือ Body Camera เข้ามาช่วยในการบันทึกภาพการทำงานแบบเรียลไทม์ และส่งข้อมูลไปยังศูนย์ควบคุมใหญ่ เมื่อมีการตรวจจับ จะเห็นภาพเข้าสู่ส่วนกลางทันที และมีการบันทึกการจับกุม ซึ่งจะทำให้เห็นกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่และลดการทุจริต โดยให้เร่งรวบรวมข้อมูลการนำระบบ Body Camera มาใช้งานนี้ กลับมาเสนอที่ประชุมที่ครั้งในวันที่ 20 มิ.ย.นี้
ส่วนเรื่องบทลงโทษกรณีบุคลากรสังกัดกระทรวงคมนาคมเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต หากได้รับแจ้งเบาะแส จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน บทลงโทษตามวินัย เป็น พรบ.บริการราชการแผ่นดินร้ายแรงสุดถึงขั้นไล่ออก รองลงมาเป็นทัณฑ์บน และยังมีโทษทางอาญาและทางแพ่ง ซึ่งขณะนี้ขอให้หน่วยงานต้นสังกัดไปติดตามข้อมูลรายชื่อและสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน
“จิระพงศ์ เทพพิทักษ์” รองอธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยถึงช่องโหว่ของการทุจริตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ด่านชั่งน้ำหนักว่า ยอมรับว่าปัจจุบันมีช่องโหว่ในการทำงานจากการใช้บุคลากรเข้าไปสุ่มตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุก หรือที่เรียกว่าระบบ Spot Check ในจุดตรวจย่อย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 97 ด่านทั่วประเทศ มีการทำงานด้วยวิธีสุ่มตรวจรถบรรทุกโดยใช้บุคลากรในการตรวจชั่งจากเครื่องมือชั่งทีละล้อรถ เก็บข้อมูลโดยใช้วิธีถ่ายเป็นคลิปวีดีโอ หากมีข้อท้วงติง ก็สามารถนำมาดำเนินการได้ แต่ไม่ได้เป็นแบบเรียลไทม์ จึงอาจเป็นช่องโหว่ที่อาจมีการทุจริตได้
อย่างไรก็ดี กรมทางหลวงมองว่านอกจากการเร่งติดตั้ง Body Camera ให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ จุด Spot Check ทั้งหมดแล้ว กรมฯ ยังเตรียมบูรณาการงานร่วมกับกรมขนส่งทางบก เพื่อขอข้อมูล GPS รถบรรทุก มาใช้ติดตามตรวจจับรถบรรทุกที่หลบหนีการเข้าด่านชั่งน้ำหนัก ใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำงานตรวจจับสิ่งเหล่านี้ เพื่อปิดช่องในการทุจริตจากเจ้าหน้าที่
“ตอนนี้ต้องประเมินก่อนว่าจะใช้กล้องชนิดใด จำนวนกี่ตัว และต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ เพราะจุด Spot Check มี 97 ด่านทั่วประเทศ มีเจ้าหน้าที่ประจำด่านประมาณ 14 คน ต้องติดตั้งทุกคนเพื่อตรวจการทำงาน ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้ก็คาดว่าจะเป็นงบเหลือจ่ายในการดำเนินการ คงต้องประเมินรายละเอียดก่อน แต่เชื่อว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะตอบโจทย์แก้ปัญหาระยะยาว”