ทำไม ‘อิสราเอล’ เป็น ‘ผู้ส่งออกเพชร’ อันดับ 6 โลก ทั้งที่แทบไม่มีแหล่งอัญมณีในประเทศ

ทำไม ‘อิสราเอล’ เป็น ‘ผู้ส่งออกเพชร’ อันดับ 6 โลก ทั้งที่แทบไม่มีแหล่งอัญมณีในประเทศ

แม้ “อิสราเอล” เป็นประเทศเล็ก ๆ ที่แทบไม่มีแหล่งเพชรเป็นของตัวเอง แต่เหตุใดถึงสามารถขึ้นแท่นเป็นผู้ส่งออกเพชร รายใหญ่อันดับ 6 ของโลก และมีศูนย์ซื้อขายเพชรที่ใหญ่ระดับโลกได้

Key Points

  • อิสราเอล ติดอันดับ 6 ผู้ส่งออกเพชรรายใหญ่ที่สุดในโลก ปี 2565 ด้วยมูลค่ากว่า 10,900 ล้านดอลลาร์
  • ในคัมภีร์ไบเบิล มีเอ่ยถึงอัญมณีอันเลอค่าอย่างเพชร และเกราะหน้าอก (Breastplate) ของนักบวชยิวชั้นสูงก็ประดับไปด้วยเพชร
  • อิสราเอลตั้งศูนย์ “Israel Diamond Exchange” (IDE) ขึ้นมาที่เมืองรามัท กัน เขตเทลอาวีฟ เพื่อเป็นตลาดซื้อขายเพชรระดับโลก และผู้เข้าเยี่ยมชมต่อปีกว่า 330,000 คนจากทั่วทุกมุมโลก


ในบรรดาผู้ส่งออกเพชรมากที่สุด 6 อันดับแรกของโลก พบว่า “อินเดีย” ครองอันดับ 1 ตามมาด้วยสหรัฐ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ฮ่องกง เบลเยียม และอิสราเอล ตามลำดับ

นอกเหนือจาก 5 อันดับแรกแล้ว สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยคืออิสราเอล” ประเทศขนาดเล็กมากที่มีทรัพยากรอยู่จำกัด และต้องนำเข้าเพชรจากต่างประเทศ (ทวีปแอฟริกา ออสเตรเลีย และอเมริกาเหนือ) แต่ทำไมถึงขึ้นแท่นเป็นผู้ส่งออกเพชรอันดับ 6 ของโลกในปี 2565 ด้วยมูลค่ากว่า 10,900 ล้านดอลลาร์

คำตอบ คือ ความล้ำหน้าทาง “เทคโนโลยีเจียระไนเพชร” ของอิสราเอล ซึ่งเพชรที่อิสราเอลส่งออกไปต่างประเทศนั้น ไม่ใช่เพชรดิบ แต่เป็น “เพชรเจียระไน” โดยเป็นการนำเข้าเพชรดิบจากต่างประเทศ และนำมาเจียระไน ขัดเงาด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงในประเทศ จนทำให้ “เพชรอิสราเอลส่องเป็นประกาย มีหลากหลายรูปทรงอันประณีตและเงางาม แม้แต่สินค้าที่ไทยนำเข้าจากอิสราเอลมากที่สุดอันดับ 1 ก็หนีไม่พ้นเพชรและอัญมณี

ทำไม ‘อิสราเอล’ เป็น ‘ผู้ส่งออกเพชร’ อันดับ 6 โลก ทั้งที่แทบไม่มีแหล่งอัญมณีในประเทศ - การส่องดูเนื้อเพชรและรอยตำหนิ (เครดิต: Shutterstock) -

  • จากชนชาติเร่ร่อน สู่ผู้เชี่ยวชาญด้านเพชร

สิ่งที่ทำให้ชาวอิสราเอลเชี่ยวชาญด้านเพชร จนกลายเป็น “พ่อค้าเพชรของโลก” ย้อนไปในสมัยยุคกลาง ชาวยิวซึ่งเป็นเชื้อสายของชาวอิสราเอล อาศัยกระจัดกระจายในแถบยุโรปและตะวันออกกลาง ไม่มีประเทศเป็นของตัวเอง

พวกเขายังถูกจำกัดสิทธิ ไม่ให้ถือครองที่ดิน ไม่ให้ทำการเกษตรและไม่ให้รับราชการ อาชีพที่พวกเขาทำได้คือ ค้าขายและการเงิน อีกทั้งในช่วง 139 ปีก่อนคริสต์ศักราช อาณาจักรโรมันยังขับไล่ชาวยิวออกจากดินแดน จนพวกเขาต้องเร่ร่อนและแสวงหาที่อยู่ใหม่เรื่อย ๆ

ถึงแม้ชาวยิวขึ้นชื่อเรื่องความขยันและทำธุรกิจเก่งจนร่ำรวย แต่การที่พวกเขาไม่ค่อยเป็นที่ต้อนรับจากชาติพันธุ์อื่น จึงทำให้ต้องอพยพอยู่หลายครั้ง พวกเขาได้เลือกสะสมความมั่งคั่งผ่าน “เพชร” แทน มีขนาดเล็กและง่ายต่อการพกติดตัว

อีกทั้งในคัมภีร์ไบเบิล ยังมีเอ่ยถึงอัญมณีอันเลอค่าอย่างเพชร และเกราะหน้าอก (Breastplate) ของนักบวชยิวชั้นสูงก็ประดับไปด้วยเพชร

ความโดดเด่นเหล่านี้ ทำให้ชาวยิวสนใจ และประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเพชรเป็นจำนวนมากทั่วยุโรป มีการพัฒนาวิทยาการตัดเพชร เจียระไนเพชรสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนพ่อค้ายิวมีชื่อเสียงด้านเพชรขึ้นมา

การค้าเพชรในสมัยก่อน จะเริ่มจากการที่ผู้ขายเปิดถุงกระดาษที่เต็มไปด้วยเพชรให้ผู้ซื้อค่อย ๆ คีบเพชรออกมาและใช้แว่นขยายส่องดูความบริสุทธิ์และเนื้อเพชรใต้แสงตะเกียง

หลังซื้อขายเสร็จสิ้น ทั้งสองจะจับมือกันพร้อมพูดเป็นภาษาฮีบรูว่า “Mazal U’Bracha” หมายถึง “ขอให้โชคดี” ธรรมเนียมอวยพรเช่นนี้ได้แพร่หลายไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยนั้น ศูนย์การค้าเพชรที่มีชื่อเสียง ตั้งอยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ และเมืองอันต์เวิร์ปของเบลเยียม แต่จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ ช่วงปี 2473 ที่เกิดกระแสต่อต้านชาวยิวทั่วยุโรป

ต่อมาในปี 2483 กองทัพนาซีเยอรมันได้ยกพลบุกยึดเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม พร้อมทั้งเกิดโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว พ่อค้าเพชรชาวยิวจำนวนมากจึงอพยพจากยุโรปมาสู่ประเทศเกิดใหม่อย่างอิสราเอล” พ่อค้าชาวยิวเหล่านั้นจึงตั้งบริษัทเพชรในกรุงเทลอาวีฟ เมืองเปตะห์ติกวา และเมืองนาตาเนียในอิสราเอล

เมื่ออิสราเอลกลายเป็นศูนย์รวมพ่อค้าเพชรจากทั่วทุกสารทิศแล้ว De Beers ซึ่งเป็นบริษัทเพชรแบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงสนใจและส่งเพชรดิบให้พ่อค้าเพชรอิสราเอลเจียระไน จนทำให้อิสราเอลสามารถเข้าถึงลูกค้าเพชรเป็นจำนวนมาก ซึ่งเพชรอิสราเอลที่มีชื่อเสียง อาทิ เพชรทรงสี่เหลี่ยม (Princess) มีความเปล่งประกายและเล่นไฟมาก

  • IDE ศูนย์ซื้อขายเพชรระดับโลก

ในปี 2480 อิสราเอลตั้งศูนย์ “Israel Diamond Exchange” (IDE) ขึ้นมาที่เมืองรามัท กัน เขตเทลอาวีฟ เพื่อเป็นตลาดซื้อขายเพชรระดับโลก มีสมาชิกกว่า 3,000 รายสำหรับผลิตเพชรเจียระไน และผู้เข้าเยี่ยมชมต่อปีกว่า 330,000 คนจากทั่วทุกมุมโลก โดยบริเวณศูนย์มีขนาดราว 90,000 ตารางเมตรที่รวมทุกอย่างไว้ในที่เดียว ตั้งแต่ธนาคาร บริษัทขนส่ง ที่ทำการไปรษณีย์ บริษัทประกัน ภัตตาคาร โบสถ์ชาวยิว โรงยิม ฯลฯ

ทำไม ‘อิสราเอล’ เป็น ‘ผู้ส่งออกเพชร’ อันดับ 6 โลก ทั้งที่แทบไม่มีแหล่งอัญมณีในประเทศ - ศูนย์แลกเปลี่ยนเพชรที่ใหญ่ระดับโลกของอิสราเอล (เครดิต: Shutterstock) -

ส่วนพื้นที่เฉพาะซื้อขายเพชรของ IDE นั้น มีขนาดราว 2,500 ตารางเมตร พร้อมบริการกล้องส่องคุณภาพเพชร เครื่องชั่งน้ำหนักเพชร ฯลฯ

ทำไม ‘อิสราเอล’ เป็น ‘ผู้ส่งออกเพชร’ อันดับ 6 โลก ทั้งที่แทบไม่มีแหล่งอัญมณีในประเทศ

- ภายในศูนย์ซื้อขายเพชร (เครดิต: Shutterstock) -

ขณะเดียวกัน รัฐบาลอิสราเอลได้ตั้งศูนย์ “Israel Diamond Institute” (IDI) สำหรับวิจัยด้านเทคโนโลยีเจียระไนเพชร ซึ่งเมื่อรวมกับความเชี่ยวชาญด้านเพชรของชาวยิวที่มีอยู่เดิมแล้ว จึงกลายเป็นปัจจัยหนุนให้อิสราเอลขึ้นแท่นผู้ส่งออกเพชรอันดับ 6 ของโลก โดยมีตลาดใหญ่ที่สุดคือ สหรัฐ และกำลังเติบโตได้ดีในตลาดจีน ฮ่องกง และอินเดียในปัจจุบัน

อ้างอิง: middiamondsehudlaniadoenisraelidiamondisraelcucopbswikidiamondstatista