อิสราเอลปั้น ‘Silicon Wadi’ อย่างไร จนเป็นศูนย์นวัตกรรมระดับโลก

อิสราเอลปั้น ‘Silicon Wadi’ อย่างไร จนเป็นศูนย์นวัตกรรมระดับโลก

เจาะลึกกลยุทธ์ “อิสราเอล” ปั้น “Silicon Wadi” อย่างไร จนมีบริษัทด้านนวัตกรรมของประเทศมากมาย อีกทั้งยังดึงดูดยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Apple, Meta, PayPal, Intel หรือแม้แต่ Alibaba ให้มาลงทุนในพื้นที่นี้

Key Points

  • อิสราเอล มีความสามารถด้านนวัตกรรมตามดัชนี Global Innovation Index (GII) ในปี 2566 สูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก
  • จำนวนสตาร์ทอัพยูนิคอร์นในอิสราเอล ปี 2566 มากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก จนได้รับสมญานามว่า “ชาติสตาร์ทอัพ” (Start-Up Nation)
  • สิ่งสำคัญคือ ตั้งแต่วัยเด็ก ชาวอิสราเอลจะถูกอบรมให้มี “Chutzpah” ซึ่งเป็นภาษาฮีบรู หมายถึง “ความกล้า” กล้ารับความท้าทาย กล้าเสี่ยงทำสิ่งใหม่ขึ้นมา


ณ ประเทศเล็กที่มีประชากรเพียง 9 ล้านคน และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย แต่กลับสามารถเปลี่ยนทะเลทรายให้ทำการเกษตรได้ และมีความสามารถด้านนวัตกรรมตามดัชนี Global Innovation Index (GII) ในปี 2566 สูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก ชื่อประเทศนั้น คือ “อิสราเอล

ยิ่งไปกว่านั้น อิสราเอลยังมีจำนวนสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น (Unicorn) หรือธุรกิจนวัตกรรมที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 36,000 ล้านบาท) ในปี 2566 มากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก จนทำให้อิสราเอลได้รับสมญานามว่า “ชาติสตาร์ทอัพ” (Start-Up Nation)

ที่น่าสนใจ คือ สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ล้วนกระจุกรวมอยู่ที่พื้นที่แห่งหนึ่งในอิสราเอล ที่เรียกว่า Silicon Wadi” (ซิลิคอน วาดี) คล้ายซิลิคอนวัลเลย์ของสหรัฐ โดยคำว่า “Wadi” เป็นภาษาฮีบรู หมายถึง “Valley” ในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า หุบเขา

อิสราเอลปั้น ‘Silicon Wadi’ อย่างไร จนเป็นศูนย์นวัตกรรมระดับโลก - Silicon Wadi ของอิสราเอล ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (เครดิต: Shutterstock) -

  • Silicon Wadi ศูนย์รวมนวัตกรรมล้ำสมัยแห่งอิสราเอล

Silicon Wadi” ตั้งอยู่แถวที่ราบชายฝั่งติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ครอบคลุมพื้นที่ของกรุงเทลอาวีฟ (Tel Aviv) เป็นส่วนใหญ่

ด้วยการที่ Silicon Wadi เป็นศูนย์รวมนวัตกรรมและให้กำเนิดสตาร์ทอัพสุดล้ำสมัยของประเทศ ตั้งแต่ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เทคโนโลยีชีวภาพ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเกษตรสมัยใหม่ การสร้างอากาศยาน การทหาร ฯลฯ  เช่น สตาร์ทอัพ Sentra ทำแพลตฟอร์มด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์, Eleos Health ทำแพลตฟอร์ม AI ที่ช่วยให้บริการด้านสุขภาพ, SupPlant พัฒนาเซนเซอร์ติดใบพืชและลำต้นเพื่อรวบรวมข้อมูลมาประมวลผล สำหรับเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มากที่สุด ฯลฯ

อิสราเอลปั้น ‘Silicon Wadi’ อย่างไร จนเป็นศูนย์นวัตกรรมระดับโลก

- การติดเซนเซอร์ในลูกอะโวคาโดโดยบริษัท SupPlant (เครดิต: SupPlant) -

ความโดดเด่นเหล่านี้ จึงช่วยดึงดูดบรรดาบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก เช่น Amazon บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ, Apple บริษัทผู้ผลิตมือถือ iPhone, Intel บริษัทผู้ผลิตซีพียูชั้นนำของสหรัฐ หรือแม้แต่ Alibaba แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของจีน ให้เข้ามาลงทุน วิจัย หรือแม้แต่เข้าซื้อกิจการอิสราเอลใน Silicon Wadi นี้ ตัวอย่างเช่น

Intel เข้าซื้อ Mobileye บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ ด้วยมูลค่า 15,300 ล้านดอลลาร์

Nvidia บริษัทชิปการ์ดจอ AI เข้าซื้อ Mellanox Technology Ltd. บริษัทออกแบบและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ ด้วยมูลค่า 6,900 ล้านดอลลาร์

Alibaba ซื้อ InfinityAR บริษัทเทคโนโลยีแว่นโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (Augmented Reality) ด้วยมูลค่ากว่า 10 ล้านดอลลาร์

อิสราเอลปั้น ‘Silicon Wadi’ อย่างไร จนเป็นศูนย์นวัตกรรมระดับโลก

- InfinityAR เทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกความจริง (เครดิต: InfinityAR) -

สิ่งที่ทำให้อิสราเอลสามารถสร้างบริษัทนวัตกรรมมากมายเช่นนี้ได้ จนทำให้ “Silicon Wadi” เป็นศูนย์รวมนวัตกรรมระดับโลก มีปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ดังนี้

  • 1. ต้องอยู่รอดท่ามกลางภัยรอบทิศ

ช่วงแรกของการก่อตั้งประเทศ อิสราเอลมีพื้นที่เป็นทะเลทรายโดยส่วนใหญ่ ทั้งยังห้อมล้อมไปด้วยรัฐอิสลาม และเคยทำสงครามกับ 5 ประเทศมุสลิมพร้อมกันมาแล้วในสงครามอาหรับ-อิสราเอลปี 2491 ได้แก่ อียิปต์ อิรัก ซีเรีย จอร์แดน และเลบานอน

อีกทั้งล่าสุดก็เผชิญการโจมตีจากกลุ่มปาเลสไตน์ติดอาวุธ (ฮามาส) ด้วยจรวดมากกว่า 5,000 ลูก

ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามได้ทุกนาทีโดยไม่อาจทราบล่วงหน้าได้ เป็นแรงผลักดันให้ชาวอิสราเอลต้องเร่งพัฒนาอาวุธและเทคโนโลยีให้ล้ำสมัยให้ได้ เพื่อความอยู่รอดของประเทศ นำมาสู่การคิดค้นนวัตกรรมขนานใหญ่ในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ชิป การปลูกพืชกลางทะเลทราย ไปจนถึงการสร้างระบบ “Iron Dome” สำหรับป้องกันขีปนาวุธที่มุ่งโจมตีประเทศได้สำเร็จ

นอกจากนั้น วัยรุ่นอิสราเอลทั้งชายและหญิง เมื่อจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา หรืออายุ 18 ปีขึ้นไป จำเป็นต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารทันที โดยผู้ชายต้องรับราชการทหารเป็นเวลาขั้นต่ำ 32 เดือน ขณะที่ผู้หญิงเป็นเวลาขั้นต่ำ 24 เดือน

การได้เป็นทหาร ทำให้พวกเขาเข้าใจความไม่แน่นอนในชีวิตตั้งแต่เด็ก และสัมผัสวิทยาการทางทหารต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้มีเพียงการใช้ปืน การต่อสู้ด้วยมือเปล่า แต่ยังมีการดูแลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ การประดิษฐ์เทคโนโลยีทางทหารต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยปลูกฝังความเข้มแข็งและเป็นฐานความรู้ให้กับชาวอิสราเอลในการออกมาทำสตาร์ทอัพ  

นาออร์ กิลอน (Naor Gilon) เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำเนเธอร์แลนด์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับอิสราเอลว่า “กองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) เป็นกองทัพที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เมื่อคุณออกจากกองทัพนี้ไปแล้ว ประสบการณ์และความรู้ก็จะติดตัวคุณไปด้วย”

พื้นฐานสำคัญอีกอย่างคือ ตั้งแต่วัยเด็ก ชาวอิสราเอลจะถูกอบรมให้มี “Chutzpah” ซึ่งเป็นภาษาฮีบรู อันหมายถึง “ความกล้า” กล้ารับความท้าทาย กล้าเสี่ยงทำสิ่งใหม่ขึ้นมา ซึ่งหากล้มเหลวก็เพียงเริ่มใหม่ จึงช่วยผลักดันให้อิสราเอลมีสตาร์ทอัพมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ไม่ได้หมายความว่า ทุกสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นจะประสบความสำเร็จ แต่การได้ลองมากกว่า ช่วยให้มีโอกาสสำเร็จมากขึ้น

  • 2. รัฐบาลหนุนงบฯ พัฒนาสตาร์ทอัพ

ถึงแม้หลายคนต้องการมีสตาร์ทอัพเป็นของตัวเอง แต่โอกาสล้มเหลวก็มีสูงเช่นกัน โดยกว่าสตาร์ทอัพจะไปถึงจุดสำเร็จ ใช้งบประมาณการวิจัยไม่น้อยและต้องมีสายป่านที่ยาวพอ

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอิสราเอลจึงตั้งหน่วยงาน Israel Innovation Authority (IIA) ขึ้น เพื่อคอยสนับสนุนด้านความรู้ทางอุตสาหกรรม ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ไปจนถึงเงินทุนให้เปล่า ซึ่งอิสราเอลก็มีหลากหลายโปรแกรมให้เลือก ตัวอย่างเช่น

Ideation (Tnufa) Incentive Program ผู้ประกอบการรวมถึงบริษัทสตาร์ทอัพสามารถได้เงินให้เปล่าแบบมีเงื่อนไขสูงถึง 200,000 นิวเชเกลหรือราว 1.7 ล้านบาทสำหรับช่วง 2 ปี

NOFAR Incentive Program เป็นเงินสนับสนุนสำหรับงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพและนาโนเทคโนโลยี สูงสุดถึง 550,000 นิวเชเกล หรือราว 4.9 ล้านบาทสำหรับ 1 ปี

Technological Incubators Incentive Program มีงบประมาณให้เปล่าสำหรับเหล่าบริษัทสตาร์ทอัพสูงถึง 3.5 ล้านนิวเชเกล หรือราว 31 ล้านบาทสำหรับระยะเวลา 2 ปี

นอกจากนี้ ทางการอิสราเอลยังมีความร่วมมือทางวิทยาการกับประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐ สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ แคนาดา ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ไทย จากการที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Israel Innovation Authority (IIA) เพื่อทำงานด้านนวัตกรรมร่วมกัน

การสนับสนุนจากรัฐบาลและรวมไปถึงพื้นเพชาวอิสราเอลที่กระตือรือร้นพัฒนาประเทศเพื่อความอยู่รอด จึงช่วยให้อิสราเอลมีสัดส่วนนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่เทคนิค 140 คนต่อลูกจ้าง 10,000 คน มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ขณะที่สหรัฐอยู่ที่ 85 ต่อ 10,000 คน และญี่ปุ่นอยู่ที่ 83 ต่อ 10,000 คน จนสามารถปั้น Silicon Wadi ขึ้นมาโดดเด่นด้านนวัตกรรมระดับโลกได้สำเร็จ

อ้างอิง: wipoworldpopulationeleossupplantorfonlineinnovationisraelresearchincubatorsassetsvirtualrealitytimesidf