‘ไทย’ คุ้มแค่ไหน เป็นฐานผลิตให้ต่างชาติ เมื่อส่วนใหญ่ใช้หุ่นยนต์แทนคนแล้ว
ในยุคที่อุตสาหกรรมจำนวนมากใช้ “หุ่นยนต์” ผลิตสินค้าเป็นส่วนใหญ่แทนมนุษย์ แล้วไทยจะได้รับ “ประโยชน์สำคัญ” อะไรบ้าง ช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จริงไหม จากการเป็นฐานการผลิตให้บริษัทต่างชาติ
Key Points
- บริษัทค่ายรถ GAC AION ของจีน ใช้หุ่นยนต์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนสูงถึง 90%
- ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ “ติดอันดับที่ 34 ของโลกด้วย จากทั้งหมด 139 ประเทศ” ตามดัชนี International Logistics Performance Index ประจำปี 2566
- นอกจากปัจจัยด้านขนาดตลาด โครงสร้างพื้นฐาน และกฎระเบียบของประเทศ จุดที่สำคัญต่อการลงทุนของต่างชาติ คือ “การวางตัวด้านการเมืองระหว่างประเทศ”
กลายเป็นคำถามที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ ว่าไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นฐานผลิตให้บริษัทต่างชาติ ในเมื่ออุตสาหกรรมปัจจุบันใช้ “หุ่นยนต์” เป็นส่วนใหญ่แทน “แรงงานคน” แล้ว เช่น บริษัทค่ายรถ GAC AION ของจีน ใช้หุ่นยนต์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในสัดส่วนสูงถึง 90% ของทั้งโรงงาน ขณะที่แรงงานมนุษย์ทำหน้าที่เพียงตรวจความสมบูรณ์ของรถที่สร้างเสร็จ
- กระบวนการผลิตรถโดยใช้หุ่นยนต์ (เครดิต: AFP) -
ประเด็นต่อมา คือ นอกจากผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติ การเข้ามาของฐานผลิตจากต่างประเทศจะช่วยสร้างรายได้ให้ไทยอย่างไร และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จริงไหม
เมื่อพิจารณารอบด้านที่ “มากกว่าประเด็นการจ้างงาน” จะพบว่า การที่ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยช่วยให้ประโยชน์กับประเทศ 3 ประการหลัก ดังนี้
- ประโยชน์ข้อที่ 1 ภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป เมื่อบริษัทต่างชาติตั้งฐานที่ไทย รัฐบาลไทยจะได้รับรายได้ทางภาษีเงินได้นิติบุคคล (Global Minimum Tax) จากบริษัทเหล่านี้ในอัตราขั้นต่ำ คือ 15% ของกำไรที่บริษัททำได้
ลองนึกภาพว่า ถ้าบริษัทที่มาลงทุนในไทยนี้ทำกำไรได้ 10,000 ล้านบาท ไทยจะได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล 1,500 ล้านบาท และถ้ามีอีก 10 บริษัทเข้ามา ไทยก็จะได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกกว่า 15,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้เหล่านี้สามารถนำมาทำสวัสดิการ และพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นได้
คำถามต่อมาคือ ในปัจจุบัน ไทยมีการลดหย่อนภาษีส่วนนี้ให้ต่ำกว่า 15% เพื่อดึงดูดต่างชาติ และเพื่อแข่งขันกับเวียดนามที่คิดภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำเช่นกัน ดังนั้น ถ้าไทยเริ่มคิดภาษีนี้ที่อัตรา 15% แล้ว จะแข่งขันกับต่างประเทศอย่างเวียดนามอย่างไร
คำตอบคือ เมื่อปี 2564 ไทยกับอีก 160 ประเทศทั่วโลกซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) และ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) รวมถึงเวียดนามก็ร่วมด้วย ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันว่า ต่อไปแต่ละประเทศจะเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทข้ามชาติที่ขั้นต่ำ 15% หากประเทศที่เป็นฐานผลิตเก็บไม่ถึง 15% ประเทศแม่สามารถเก็บส่วนต่างจาก 15% นี้แทนได้ นั่นจึงทำให้ไทยจะต้องเก็บภาษีนี้อย่างน้อย 15% ซึ่งไทยจะเริ่มต้นบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ไม่เว้นแม้แต่เวียดนาม คู่แข่งสำคัญก็จะบังคับใช้ภาษีนี้ในปีหน้า
เพราะฉะนั้น การดึงดูดฐานจากต่างประเทศ จะไม่ใช่การแข่งขันที่การลดภาษีแล้ว แต่เป็นการแข่งขันด้าน “ศักยภาพประเทศ” เป็นหลักแทน โดยศักยภาพสำคัญที่บรรดาบริษัทข้ามชาติพิจารณาว่าจะลงทุนในไทยหรือไม่ อาทิ
1. ขนาดตลาดและรายได้ต่อหัวของประชากร ปัจจัยนี้จะเห็นได้ชัดจากตัวอย่าง “จีน” โดยช่วงปี 2535 เป็นต้นมา นักธุรกิจต่างชาติเห็นจีนมีตลาดใหญ่ที่มาพร้อมประชากรหลักพันล้านคน มีวัยแรงงานและชนชั้นกลางเติบโตตัวขึ้นเรื่อย ๆ ที่สามารถเป็นลูกค้าได้ บริษัทจำนวนมากจึงตัดสินใจแห่ไปตั้งฐานผลิต จนทำให้จีนกลายเป็น “โรงงานของโลก”
2. ทรัพยากรอันล้ำค่า หากทำให้ฐานการผลิตอยู่ใกล้วัตถุดิบแล้ว ก็จะทำให้บริษัทเข้าถึงวัตถุดิบได้ง่ายและลดต้นทุนการขนส่งด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม Tesla บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลกถึงเลือกตั้งฐานการผลิตที่อินโดนีเซีย เพราะมีแร่นิกเกิลที่จำเป็นต่อการผลิต EV เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น บริษัทข้ามชาติทั้งจีนและสหรัฐก็พากันบุกตลาดแอฟริกา เพราะเต็มไปด้วยแร่มีค่าอันมหาศาลเช่นกัน แม้จะเป็นทวีปยากจนและมีโรคระบาดหนักก็ตาม
3. ความเพียบพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการมีพลังงานไฟฟ้าที่เพียงพอ ถนนหนทาง ท่าเรือ สนามบิน นิคมอุตสาหกรรมที่จะรองรับการลงทุน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลด้วย เห็นได้จากไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ “ติดอันดับที่ 34 ของโลกด้วย จากทั้งหมด 139 ประเทศ” ตามดัชนี International Logistics Performance Index ประจำปี 2566 ของธนาคารโลก
ไทยมีคะแนนเฉลี่ยรวม 3.5 คะแนน และเป็น “อันดับที่ 3 ของอาเซียน” รองจากสิงคโปร์ซึ่งได้อันดับที่ 1 ของโลก ด้วยคะแนนเฉลี่ย 4.3 คะแนน และมาเลเซียที่ได้อันดับ 26 ของโลก ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.6 คะแนน
ขณะที่เวียดนามอยู่อันดับที่ 43 ของโลก ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.3 คะแนน
- โครงสร้างพื้นฐานของไทยดีติดอันดับ 34 ของโลกจากทั้งหมด 139 ประเทศ (เครดิต: World Bank) -
ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังเป็นฐานการผลิตให้ค่ายรถยนต์สันดาปของญี่ปุ่นมายาวนาน มีประสบการณ์ผลิตและประกอบชิ้นส่วนรถ จึงทำให้ค่ายรถ EV จีนจำนวนมากเลือกมาตั้งฐานการผลิตที่ไทย
4. แรงงานราคาถูก/มีฝีมือ หากประเทศนั้นมีค่าแรงในระดับต่ำ ก็จะเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนได้ แต่ในปัจจุบัน ค่าแรงของแต่ละประเทศสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามอัตราเงินเฟ้อ สิ่งที่จะมาทดแทนได้คือ “ทักษะแรงงาน” ถ้าปั้นให้พวกเขามีความสามารถและทักษะขั้นสูง ก็จะช่วยดึงดูดการลงทุนแม้ว่าจะมีค่าแรงที่สูงขึ้นก็ตาม
นอกจากปัจจัย 4 ข้อนี้ ก็มีปัจจัยอื่น ๆ อย่างกฎระเบียบของประเทศว่าเอื้อต่อความสะดวกในการทำธุรกิจหรือไม่ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เอกชนจะได้ และจุดสำคัญที่พลาดไม่ได้คือ “การวางตัวด้านการเมืองระหว่างประเทศ”
เพราะในปัจจุบัน จากโลกแห่ง “โลกาภิวัตน์” ที่ร่วมมือกันผลิต ได้แปรเปลี่ยนเป็น “การแบ่งขั้วกัน” มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น จีน VS สหรัฐ รัสเซีย VS ยุโรป หรือแม้แต่ล่าสุด อิสราเอล VS ปาเลสไตน์
ดังนั้น ถ้าประเทศวางตัวในการเมืองระหว่างประเทศไม่เหมาะสมหรือเอนเอียงไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากไป ก็จะพาประเทศให้สูญเสียการลงทุนได้
ที่ผ่านมา หลังจากที่สหรัฐกับจีนขัดแย้งอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และพยายามลดความร่วมมือทางเศรษฐกิจออกจากกัน “ไทย” จึงกลายเป็นหนึ่งในฐานการผลิตและการลงทุนที่น่าจับตาของ 2 มหาอำนาจแทน เพราะการวางตัวของไทยที่พยายามอยู่นอกวงความขัดแย้งและเป็นมิตรต่อทุกฝ่าย
- ประโยชน์ข้อที่ 2 การถ่ายทอดวิทยาการ
อุตสาหกรรมในปัจจุบัน นับวันจะมีความซับซ้อนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นชิป, AI, รถยนต์ไร้คนขับ และเทคโนโลยีต่าง ๆ หากไทยเริ่มต้นเองทั้งหมด จะค่อนข้างท้าทายมากและอาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงได้
การที่ไทยได้บริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิต จึงช่วยเพิ่มโอกาสไทยในการเข้าถึงความรู้ทางเทคโนโลยี จริงอยู่ที่ต่างชาติอาจไม่ถ่ายทอดให้ทั้งหมด หรือถ่ายทอดเป็นวิทยาการที่เก่ากว่า แต่อย่างน้อยก็เป็นพื้นฐานที่ช่วยให้ไทยต่อยอดและยกระดับฝีมือไปสู่อีกขั้นได้
เรื่องการถ่ายทอดวิทยาการ รัฐบาลควรจำเป็นต้องทำสัญญากับบริษัทข้ามชาติให้ชัดเจนก่อนการลงทุนว่า รัฐบาลพร้อมช่วยสนับสนุนการลงทุน โดยที่บริษัทจำเป็นต้องถ่ายทอดวิทยาการด้านใดบ้าง และมากขนาดไหน เพราะการที่ต่างชาติเข้ามาลงทุน ไม่ใช่หมายความว่าต้องเอื้อให้เขาทุกอย่าง ไทยมีจุดแข็งด้านทรัพยากร และโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาด้วย
ดังนั้น การลงทุนของต่างชาติในไทย จึงเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะการช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกันที่ไทยจำเป็นต้องได้ประโยชน์ด้านความรู้เทคโนโลยีด้วย
- ประโยชน์ข้อที่ 3 สร้างรายได้ให้ธุรกิจไทย
ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ปี 2566 ระบุว่า รถยนต์สันดาป มีชิ้นส่วนประกอบมากถึง 30,000 ชิ้น/คัน ส่วนรถ EV มีชิ้นส่วนน้อยลงที่ 3,000 ชิ้นต่อ 1 คัน หรืออุตสาหกรรมใด ๆ ก็ตาม ล้วนมีส่วนประกอบต่าง ๆ
การลงทุนของบริษัทข้ามชาติจะทำให้เกิดสั่งซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ในไทยมากขึ้น ช่วยสร้างงาน และสร้างรายได้ให้เหล่าบริษัทไทย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผลิตพลาสติก บริษัทเหล็ก อะลูมิเนียม ปิโตรเคมี บริษัททำแผงวงจร บริษัทวางโครงข่ายทางดิจิทัล ฯลฯ
สาระสำคัญอีกประการ คือ ถ้าภาครัฐสามารถต่อรองว่า เมื่อมาลงทุนที่ไทยจำเป็นต้องซื้อชิ้นส่วนอะไรจากไทยบ้าง และช่วยประสานให้บริษัทต่างชาติพบกับผู้ค้าชิ้นส่วนไทย ซึ่งหากทำให้บริษัทต่างชาติเชื่อมั่นในคุณภาพและเข้าถึงผู้ค้าไทยได้ง่ายขึ้นแล้ว ก็จะกระตุ้นภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยได้ดียิ่งขึ้นด้วย
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ จะพบว่า การเข้ามาตั้งฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติในไทย ช่วยให้ประเทศได้ประโยชน์หลัก ๆ 3 ประการ คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำที่ 15% วิทยาการด้านเทคโนโลยีและช่วยสร้างงานให้ธุรกิจท้องถิ่น โดยก่อนที่ไทยจะได้ประโยชน์ 3 อย่าง จำเป็นต้องสร้าง “ความโดดเด่น” ให้ประเทศก่อนว่า ทำไมพวกเขาต้องเข้ามาลงทุนในไทยแทนที่จะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซียหรือมาเลเซีย ไทยมีจุดแข็งด้านใดบ้าง และถ้าหากยังมีจุดอ่อนบางอย่างก็จำเป็นต้องเร่งพัฒนาให้สู้กับคู่แข่งได้
อีกสิ่งสำคัญที่ไม่แพ้กันคือ การกำหนดเงื่อนไขกับบริษัทข้ามชาติที่จะมาลงทุนว่า ต้องจ้างงานคนไทยอย่างน้อยในสัดส่วนเท่าไร ควรซื้อชิ้นส่วนอะไรจากซัพพลายเออร์ไทยและจำเป็นต้องถ่ายทอดวิทยาการ พร้อมฝึกฝนบุคลากรไทยด้านใดบ้าง เพื่อทำให้ประเทศได้รับประโยชน์ในระยะยาวอย่างแท้จริง ยกระดับฝีมือไปอีกขั้น ไม่ใช่เป็นเพียงรับจ้างประกอบที่เน้นขายแรงงานและทรัพยากรอย่างเดียว
อ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจ1, กรุงเทพธุรกิจ2, กรุงเทพธุรกิจ3, กรุงเทพธุรกิจ4, nectec, glob, bot, researchgate