เงินเฟ้อลด แต่ค่าครองชีพไม่ลงตาม รู้จัก ‘Greedflation’ เงินเฟ้อจากความโลภ
ทำความรู้จัก “Greedflation” เงินเฟ้อที่เกิดจากความโลภ แม้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น แต่หลายบริษัทกลับยังสามารถรักษาอัตรากำไรได้ และสิ่งนี้ทำให้เงินเฟ้อรุนแรงยิ่งขึ้น
KEY
POINTS
- นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า อัตรากำไรบริษัทยังคง “อยู่ในระดับสูง” ในปี 2567 แม้ว่าต้นทุนได้ลดลง 3% ตั้งแต่ปีที่แล้วก็ตาม นั่นเพราะหลายบริษัทเลือก “คงราคาขาย” ที่ปรับขึ้นนี้ไว้
- สิ่งที่เกิดขึ้นกับราคาอาหาร และสินค้าต่าง ๆ คือ หลังจากราคาแพงขึ้นตามต้นทุนแล้ว แต่เมื่อต้นทุนกลับมาลงตามปกติ ราคาสินค้าเหล่านี้กลับไม่ลงตาม ยังคงราคาเดิมไว้
- เวลาที่ต้นทุนสูงขึ้น ผู้ประกอบการหลายรายจะขึ้นราคาสินค้าอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกัน เมื่อต้นทุนลด หลายบริษัทเลือกชะลอการลดราคา เพื่อรักษาอัตราการทำกำไรไว้
หลายคนอาจสงสัยว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่ทางการประกาศออกมาได้ลดลงเรื่อย ๆ แต่ทำไมถึงรู้สึกว่า “ค่าครองชีพทั่วไป” ยังคงสูงแทน ซึ่งเมื่อเอ่ยถึง “เงินเฟ้อ” โดยทั่วไปจะเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ
1. ความต้องการในสินค้าที่พุ่งขึ้นจนทำให้ราคาสินค้าสูงตาม (Demand-pull Inflation)
2. ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นจนดันให้ราคาสินค้าแพงตาม (Cost-push Inflation)
แต่มีเงินเฟ้ออีกประเภทหนึ่งที่เกิดจากความโลภของบริษัท ในชื่อว่า “Greedflation” ซึ่งเหล่านักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ของธนาคาร Goldman Sachs กำลังพบสัญญาณเงินเฟ้อที่ว่านี้
Greedflation คืออะไร
ช่วงที่โลกเผชิญการระบาดโควิด-19 จนการขนส่งติดขัด และซ้ำเติมโดยสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้พื้นที่ข้าวสาลีขนาดใหญ่ในยูเครนเพาะปลูกไม่ได้ และเกิดการคว่ำบาตรตอบโต้กัน ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้น แต่ขณะเดียวกัน หลายบริษัทก็ใช้โอกาสนี้ขึ้นราคาสินค้าในอัตราที่สูงเกินกว่าต้นทุนที่ขึ้นมา และนี่ได้ทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อเลวร้ายลง เราเรียกการฉวยโอกาสนี้ว่า “Greedflation” หรือเงินเฟ้อจากความโลภของบริษัท
สิ่งที่เกิดขึ้นกับราคาอาหาร และสินค้าต่าง ๆ คือ หลังจากราคาแพงขึ้นตามต้นทุนแล้ว แต่เมื่อต้นทุนกลับมาลงตามปกติ ราคาสินค้าเหล่านี้กลับไม่ลงตาม ยังคงราคาเดิมไว้ และนี่ได้ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าค่าครองชีพ “สูงขึ้น” ทุกปี
ช่วงต้นทุนสูง ถือเป็น “โอกาส” เพิ่มอัตรากำไร
ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ มานูเอ็ล อัลบีเคซิส (Manuel Albecasis) เขาคาดการณ์ว่า อัตรากำไรบริษัทยังคง “อยู่ในระดับสูง” ในปี 2567 แม้ว่าต้นทุนได้ลดลง 3% ตั้งแต่ปีที่แล้วก็ตาม นั่นเพราะหลายบริษัทเลือก “คงราคาขาย” ที่ปรับขึ้นนี้ไว้ แม้ว่าต้นทุนลดลงหรือห่วงโซ่อุปทานกลับมาปกติแล้วก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้น อัลบีเคซิสยังเสริมว่า “เวลาที่ต้นทุนสูงขึ้น ผู้ประกอบการหลายรายจะผลักภาระให้ผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคาสินค้าอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกัน เมื่อต้นทุนลด หลายบริษัทเลือกชะลอการลดราคา เพื่อรักษาอัตราการทำกำไรไว้”
“ผมคาดการณ์ว่า ด้วยต้นทุนที่ปรับตัวลง แต่ราคาขายยังคงเท่าเดิม จะช่วยเพิ่มอัตรากำไรให้บริษัทที่ไม่ได้อยู่ในภาคการเงินที่ 0.2 จุดเปอร์เซ็นต์ในปี 2567” อัลบีเคซิสกล่าว
ส่วน Goldman Sachs คาดการณ์ว่า เมื่อใช้ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) และราคาน้ำมัน (Oil Price) ด้วยต้นทุนที่ลดลงแล้ว จะช่วยให้อัตรากำไรบริษัทเพิ่มขึ้น 0.1-0.2 จุดเปอร์เซ็นต์ในปีนี้
นอกจากนี้ ตามผลการศึกษาของกลุ่มคลังสมอง The Institute for Public Policy Research ที่ได้สำรวจ 1,350 บริษัททั่วสหรัฐ สหราชอาณาจักร ยุโรป บราซิล และแอฟริกาใต้ พบว่า กำไรของบริษัทได้เพิ่มขึ้น 30% ระหว่างปี 2562-2565 จนแซงหน้าอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะบริษัทด้านพลังงาน
ข้อถกเถียงเรื่อง Greedflation
แม้ว่าประเด็น Greedflation จะถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนก็มีมุมมองว่า ไม่ใช่ทุกบริษัทจะผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ เพราะด้วยการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายกว่าแต่ก่อน การขึ้นราคาอาจทำให้บริษัทสูญเสียส่วนแบ่งตลาด นั่นหมายความว่า พวกเขาอาจต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถขึ้นราคาขายได้ เพราะเกรงว่าจะเสียลูกค้าไป ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับธุรกิจที่มีคู่แข่งจำนวนมาก
อ้างอิง: bloomberg, economist, fortune