‘สงคราม’ ปัจจัยเสี่ยง ซ้ำวิกฤติเศรษฐกิจ
ธุรกิจหลายแห่งยกให้ “สงคราม” เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ ที่จะมีผลต่อแผนขับเคลื่อนธุรกิจ รวมถึงการเดินหน้าลงทุนเรื่องใหม่ๆ
หนึ่งในความผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้ “สงคราม” หรือ ปมขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ นับเป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญที่กำลังกัดเซาะความมั่นใจของการลงทุนธุรกิจทั่วโลก ส่งผลให้ตลาดเงินตลาดทุนเกิดความปั่นป่วน หลายประเทศเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ธุรกิจหลายแห่งยกให้ “สงคราม” เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ ที่จะมีผลต่อแผนขับเคลื่อนธุรกิจ รวมถึงการเดินหน้าลงทุนเรื่องใหม่ๆ
ตั้งแต่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครน เรื่อยมาจนถึงปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง อิสราเอลและอิหร่าน และหากเข้าใกล้ประเทศไทยเข้ามา คือ ความขัดแย้งในเมียนมา ยังไม่นับรวมถึงความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ เพื่อแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี รวมถึงการแข่งขันในการเป็นชาติมหาอำนาจเพื่อกำหนดทิศทางของโลก
เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกให้ยิ่งผันผวนหนัก และยากประเมินสิ่งที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า และหากความขัดแย้งที่ว่านี้ปะทุขึ้นมาพร้อมกันอย่างรุนแรง สร้างความโกลาหลไปทั่วโลกทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การแบ่งแยกข้างเป็นฝักเป็นฝ่าย เกิดการขาดแคลนทรัพยากรที่สำคัญ
ประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลก หากเส้นทางขนส่งสินค้าต้องถูกปิด หรือเกิดความโกลาหล ต้องมีแผนรับมือในเรื่องเหล่านี้อย่างไร ธุรกิจที่ต้องเดินหน้าต่อ ต้องปรับแผนปรับวิธีการลงทุนแบบไหน
ขณะที่ วานนี้ (22 เม.ย.) ค่าเงินบาท อ่อนค่าทะลุระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ มายืนอยู่ที่ 37.03 บาทต่อดอลลาร์ โดยเป็นการอ่อนค่าลงต่อเนื่องในรอบกว่า 6 เดือน ซึ่งหากดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท นับตั้งแต่สิ้นปี 2566 จนถึง 22 เม.ย.2567 พบว่า ค่าเงินบาท อ่อนค่ามากที่สุดเป็นอันดับสองของภูมิภาค โดยอ่อนค่าที่ 7.7% ขณะที่อ่อนค่าอันดับหนึ่งคือเงิน เยน ญี่ปุ่น อ่อนค่าอยู่ที่ 8.8%
ปัจจัยหนุนค่าเงินบาทให้อ่อนค่าหลักๆ เป็นการอ่อนค่าตามราคาทองคำโลกที่ปรับตัวลดลงกดดันเงินบาทอ่อนค่ามากขึ้น นี่ก็นับเป็นหนึ่งในผลพวงความผันผวนของโลกที่เกิดขึ้น
เรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ต้องคิดและกำลังชาเลนจ์ฝีมือการบริหารบ้านเมือง ท่ามกลางโลกที่ผันผวน ทีมบริหารประเทศ รวมถึงบรรดาซีอีโอธุรกิจต่างๆ จะพลิกวิกฤติแบบนี้ให้เป็นโอกาสได้อย่างไร โดยเฉพาะสถานการณ์พลังงานโลกที่อยู่ในภาวะร้อนแรง ราคาที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง
เรื่องพลังงานเป็นอีกเรื่องใหญ่ที่สำคัญ เพราะคือหนึ่งในปัจจัยดำรงชีวิต และเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจที่สำคัญ ดังนั้นแผนรับมือ หรือยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ รัฐบาลต้องมองให้ขาด และทำยุทธศาสตร์รับมือให้ถึง