‘เครื่องสำอางไทย’ ดังไกลถึงญี่ปุ่น อานิสงส์กระแส ‘ซีรีส์วาย’ ช่วยปูทาง

‘เครื่องสำอางไทย’ ดังไกลถึงญี่ปุ่น อานิสงส์กระแส ‘ซีรีส์วาย’ ช่วยปูทาง

กระแส “เครื่องสำอางไทย” ดังไกลถึงดินแดนอาทิตย์อุทัย จุดเริ่มต้นจากซีรีส์วายไทยที่จุดประกายความสนใจ เมื่อชาวญี่ปุ่นได้ลองใช้แล้ว ต่างก็ติดอกติดใจ ด้วยคุณสมบัติที่เข้ากับสภาพอากาศร้อนได้ดี บวกกับมีราคาย่อมเยา จนกลายเป็นขวัญใจใหม่ของชาวญี่ปุ่น

KEY

POINTS

  • กระแสนิยมเครื่องสำอางไทยในญี่ปุ่น เริ่มมาจาก “ซีรีส์วาย” โดยเฉพาะเรื่อง “เพราะเราคู่กัน” ซึ่งชาวญี่ปุ่นชื่นชอบซีรีส์นี้มาก และรู้จักแบรนด์เครื่องสำอางไทยต่าง ๆ ผ่านละครไทยนี้
  • สวยเมค” หรือในภาษาญี่ปุ่นคือ “สุวาอิ เมคุ” เป็นคำใช้เรียกสไตล์การแต่งหน้าแบบไทย ซึ่งกำลังมาแรงในญี่ปุ่น
  • ไทยถือเป็นฮับในการผลิตเครื่องสำอางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และครองส่วนแบ่งตลาดเพียง 1.5% ของมูลค่าส่งออกเครื่องสำอางรวมทั้งโลก จึงมีช่องว่างให้เติบโตในต่างประเทศอีกมาก

หากเอ่ยถึง “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย” ที่เป็นกระแสร้อนแรงในขณะนี้แล้ว หลายคนคงนึกถึงภาพนักท่องเที่ยวแต่งชุดไทยที่ถ่ายรูปกับวัดพระแก้ว ต้มยำกุ้งแซ่บ ๆ กางเกงช้าง ฯลฯ แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่มาแรงไม่แพ้กัน และกำลังฮิตในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือ “เครื่องสำอางไทย”

กระแสฮิตดังกล่าวได้เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ประมาณปี 2564 โดยแบรนด์เครื่องสำอางไทยชื่อดังไม่ว่า ศรีจันทร์ (SRICHAND), เคที่ ดอลล์ (Cathy Doll)  และ บิวตี้ คอทเทจ (Beauty Cottage) กลายเป็นที่นิยมชมชอบของชาวญี่ปุ่นอย่างมาก ต่างมาอุดหนุนเครื่องสำอางไทยไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในกลุ่มเจน Z ที่เป็นนักเรียน นักศึกษา และวัยเริ่มทำงาน

‘เครื่องสำอางไทย’ ดังไกลถึงญี่ปุ่น อานิสงส์กระแส ‘ซีรีส์วาย’ ช่วยปูทาง

- เครื่องสำอางไทยเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น (เครดิต: Kbcnews) -

จากกระแสเหล่านี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “เกศมณี เลิศกิจจา” นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย และ “รวิศ หาญอุตสาหะ” เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางศรีจันทร์ว่า “ทำไมเครื่องสำอางไทยถึงฮิตในตลาดญี่ปุ่น” พบว่ามี 3 ปัจจัยหลักๆ ที่น่าสนใจดังนี้

1. ซีรีส์วายจุดกระแสเครื่องสำอางไทย

กระแสนิยมเครื่องสำอางไทยในญี่ปุ่นที่ขึ้นมา เริ่มมาจาก “ซีรีส์วาย” หรือซีรีส์ชายรักชายของไทย โดยเฉพาะเรื่อง “เพราะเราคู่กัน” ที่ออกอากาศในปี 2563 แสดงนำโดย “ไบร์ท” (วชิรวิชญ์ ชีวอารี) และ “วิน” (เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร) โดยชาวญี่ปุ่นชื่นชอบซีรีส์นี้มาก และรู้จักแบรนด์เครื่องสำอางไทยต่าง ๆ ผ่านละครไทยนี้ เรียกได้ว่า ซีรีส์และดาราในเรื่องถือเป็น “ตัวกลาง” สร้างการรับรู้และความนิยมต่อสินค้าไทยในระดับสากล จนทำให้เครื่องสำอางไทยเป็นที่รู้จักขึ้นมา

‘เครื่องสำอางไทย’ ดังไกลถึงญี่ปุ่น อานิสงส์กระแส ‘ซีรีส์วาย’ ช่วยปูทาง

- ซีรีส์วาย เพราะเราคู่กัน (เครดิต: GMM TV) -

นอกจากเครื่องประทินโฉมของไทยแล้ว มีอีกเทรนด์แต่งหน้าหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นรับรู้ผ่านซีรีส์ไทย และกลายเป็นกระแส นั่นคือ “สวยเมค” หรือในภาษาญี่ปุ่นคือ “สุวาอิ เมคุ” โดย สุวาอิ มาจากคำว่า สวย ส่วนเมคุ หรือเมค มาจาก เมคอัพ ที่แปลว่า การแต่งหน้า เป็นคำใช้เรียกสไตล์การแต่งหน้าแบบไทย โดยรายการโทรทัศน์ Love It! ของช่อง TBS ในญี่ปุ่นได้เผยว่า สไตล์การแต่งหน้าไทยนี้กำลังมาแรงในญี่ปุ่น ซึ่งมีจุดเด่นที่การแต่งให้คิ้วตั้งฟู ตาดูเฉี่ยวคมและริมฝีปากอิ่มเอิบ จนเป็นปัจจัยหนุนยอดขายเครื่องสำอางไทยอีกแรง

2. เครื่องสำอางไทย ต้นตำรับสูตรเมืองร้อน

ในการแต่งหน้า หนึ่งในปัญหาสำคัญของสาว ๆ คือ “อากาศร้อน” เพราะจะทำให้ใบหน้าผลิตน้ำมันมากขึ้น เกิดเหงื่อ และหน้ามันเยิ้ม จนอาจทำให้เครื่องสำอางที่แต่งมาสวยงามหลุดลอกง่าย

แต่สำหรับเครื่องสำอางไทย กลับรับมือกับปัญหานี้ได้ดีเมื่อเทียบกับแบรนด์ต่างชาติ เนื่องด้วยภูมิอากาศไทยที่ร้อนเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นเหมือน “สนามจริง” ที่ผ่านการทดสอบหลายครั้งจนได้เครื่องสำอางที่เหมาะสมกับสภาวะเช่นนี้

เกศมณี นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทยเล่าว่า ถ้าเทียบเครื่องสำอางไทยกับของประเทศเมืองหนาวอย่างในยุโรปและญี่ปุ่น จะเห็นว่าในต่างประเทศ อากาศค่อนข้างหนาวแห้งและร้อนแห้ง ส่วนผสมเครื่องสำอางจึงมีความมันสูง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ดังนั้น เมื่อใช้แต่งหน้าแล้วเผชิญอากาศร้อน จะมีโอกาสเยิ้มหรือหลุดได้ง่ายกว่า

ขณะที่ไทย มีอากาศร้อนชื้นเป็นส่วนใหญ่ สูตรเครื่องสำอางจึงถูกออกแบบให้ทนทานกับอากาศร้อนโดยเฉพาะ อีกทั้งใช้ความมันที่น้อยกว่า จึงทำให้เนื้อครีมค่อนข้างบางเบา สบายหน้า และหลุดลอกยากกว่า จนเป็นจุดเด่นที่ทำให้สาวๆ ญี่ปุ่นชื่นชอบ

“ประเทศไทยเป็นเมืองร้อนหรือ Tropical Climate ขณะที่ในยุโรป อากาศเขาจะหนาวแห้งและร้อนแห้ง ญี่ปุ่นก็เช่นกัน เครื่องสำอางจึงต้องใช้ความมัน เหนอะหนะ ส่วนเครื่องสำอางไทยทำขึ้นเพื่อเหมาะกับเมืองร้อน จึงบางเบา ไม่ต้องมีไขเยอะให้เห็นเยิ้ม” เกศมณีกล่าว

‘เครื่องสำอางไทย’ ดังไกลถึงญี่ปุ่น อานิสงส์กระแส ‘ซีรีส์วาย’ ช่วยปูทาง

- เกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย -

ยิ่งในยุคนี้ ประเทศเมืองหนาวไม่ได้เย็นเหมือนเช่นเคยอีกต่อไป แต่กลับมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ แทนตามภาวะโลกร้อน โดยในช่วงฤดูร้อน (มิถุนายน-สิงหาคม) ของญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว อุณหภูมิเฉลี่ย “ร้อนที่สุด” นับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในปี 2441 หรือ “ร้อนที่สุดในรอบ 126 ปี” ดังนั้น เครื่องสำอางไทยที่สู้กับเหงื่อและเข้ากับอากาศร้อนได้ จึงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างยิ่ง

3. ราคาย่อมเยา เข้าถึงง่าย

ในกระแสนิยมเครื่องสำอางไทย วัยรุ่นสาวญี่ปุ่นรายหนึ่งบอกว่า เครื่องสำอางของไทยมีราคาย่อมเยา เพียงมีเงิน 1,000 เยน (ราว 230 บาท) ก็สามารถซื้อสีแต้มแก้ม ลิปสติก หรือแป้งรองพื้นได้แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับที่เกศมณีเล่าว่า ราคาเครื่องสำอางญี่ปุ่นที่เกรดดี มีส่วนผสมสมุนไพรธรรมชาติ จะมีราคาหลักหลายพันถึงหลักหมื่นบาท แต่เครื่องสำอางไทยจะอยู่ที่ราคาหลักร้อย หรือถ้าระดับพรีเมียมใกล้เคียงกับญี่ปุ่น อย่างมากก็จะอยู่ที่หลักพัน

อีกทั้งผู้รับผิดชอบบริษัทนำเข้าเครื่องสำอาง Cosmetics Laboratory Japan ซึ่งเป็นผู้นำเข้าเครื่องสำอางไทย และประเทศอื่น ๆ กล่าวว่า “เครื่องสำอางไทย มีราคาถูกกว่าเครื่องสำอางทั่วไปที่ขายในห้างสรรพสินค้า สาวๆ อายุ 20-40 ปี จึงซื้อง่าย”

‘เครื่องสำอางไทย’ ดังไกลถึงญี่ปุ่น อานิสงส์กระแส ‘ซีรีส์วาย’ ช่วยปูทาง ‘เครื่องสำอางไทย’ ดังไกลถึงญี่ปุ่น อานิสงส์กระแส ‘ซีรีส์วาย’ ช่วยปูทาง - เครื่องสำอางไทยในร้านค้าญี่ปุ่น (เครดิต: Kbcnews) -

ยิ่งไปกว่านั้น ในส่วนบรรจุภัณฑ์ รวิศมองว่า เครื่องสำอางไทยมีแพ็กเกจที่สวยงาม และหลากหลายสีจนน่าดึงดูด อีกทั้งมีเฉดสีที่หลากหลายให้เลือก ซึ่งต่างจากแบรนด์ของญี่ปุ่นที่มีลวดลายสีสันน้อยกว่า

สองแบรนด์เครื่องสำอางไทยสยายปีกลุยตลาดญี่ปุ่น

ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Grand View Research ประเมินว่า มูลค่าตลาดเครื่องสำอางทั่วโลกจะขึ้นไปแตะระดับ 3.64 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 13 ล้านล้านบาทภายในปี 2573 โดยเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.2% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 1.4 เท่า

ไทยถือเป็น “ฮับ” ในการผลิตเครื่องสำอางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน แต่ปัจจุบันยังครองส่วนแบ่งตลาดเพียง 1.5% ของมูลค่าส่งออกเครื่องสำอางรวมทั้งโลก ดังนั้น เครื่องสำอางไทยจึงยังมีโอกาสให้เติบโตในต่างประเทศอีกมาก

ด้วยเหตุนี้ สองบริษัทเครื่องสำอางไทยชื่อดัง “คาร์มาร์ท” และ “ศรีจันทร์” จึงหันมารุกตลาดแดนปลาดิบนี้ โดย คาร์มาร์ท เจ้าของแบรนด์ Cathy Doll ได้ร่วมทุนกับบริษัท Marubeni Corporation 1,436 ล้านบาท เพื่อใช้ช่องทางขายทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศของ Marubeni ในการขยายตลาด บริษัทได้ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายในต่างประเทศจาก 10% เป็น 15%

ส่วนบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ เจ้าของแบรนด์ศรีจันทร์ มีสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศที่ 5% โดยมีญี่ปุ่นเป็นตลาดสำคัญ ซึ่งขณะนี้ บริษัทกำลังร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ญี่ปุ่น ในการพัฒนาเครื่องสำอางใหม่สำหรับตลาดญี่ปุ่นโดยเฉพาะ

‘เครื่องสำอางไทย’ ดังไกลถึงญี่ปุ่น อานิสงส์กระแส ‘ซีรีส์วาย’ ช่วยปูทาง - รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางศรีจันทร์ -

เมื่อกรุงเทพธุรกิจสอบถามถึงความเป็นไปได้ในการบุกตลาดจีนที่มีประชากร 1,400 ล้านคน รวิศให้สัมภาษณ์ว่า ทางบริษัทมีขายผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์ของจีนอยู่บ้าง แต่ยังไม่ได้มีแผนบุกจีนในตอนนี้ เนื่องจากเป็นตลาดแข่งขันสูง อีกทั้งมีความซับซ้อนในการตีตลาดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งทางบริษัทยังไม่ได้เชี่ยวชาญในตลาดใหญ่นี้

“ตลาดจีน คนเยอะก็จริง แต่ไม่หมู เจาะตลาดจีนยาก เราจะเห็นว่าหลายแบรนด์ที่เข้าไปก็เหนื่อย เพราะไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด จะเห็นได้ว่าแบรนด์จีนช่วงหลัง ๆ ค่อนข้างแข็ง เราจึงต้องไปอย่างระมัดระวัง” รวิศตอบคำถามกรุงเทพธุรกิจ กรณีที่ว่าจะรุกตลาดจีนด้วยหรือไม่หลังจากลุยตลาดญี่ปุ่นแล้ว

จากเรื่องราวเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า “เครื่องสำอางไทย” กำลังเป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มต้นจากดารานำในซีรีส์วายใช้เครื่องสำอางไทยในการแต่งหน้า จนทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับความสนใจจากแฟนๆ ชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

อีกทั้งคุณสมบัติเครื่องประทินโฉมของไทยยังเข้ากับอากาศร้อนได้ดี สอดคล้องกับภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจจะกลายเป็นอีกหนึ่ง “ซอฟต์พาวเวอร์” ดาวรุ่งที่ดึงดูดใจผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก และช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในอนาคตอันใกล้

อ้างอิง: ditpthaimocakeditpditfacetwitterlivetolifethaicosbarronskbc